โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ของ กสศ. เป็นข่าวกว้างขวาง (๑) (๒) มีการแนะนำโครงการนี้ในเว็บไซต์ของ กสศ. ที่ (๓) ผมลองใช้คำว่า ครูรัก(ษ์)ถิ่น ค้นด้วย กูเกิ้ล พบว่าเว็บไซต์ครูเอาข่าวรับสมัครนักศึกษารุ่นที่ ๒ กันคึกคักมาก เช่น (๔)
ในการประชุมปฏิบัติการสถาบันผลิตครูในโครงการ ระหว่างวันที่ ๒๙ - ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๓ มีการแชร์ประสบการณ์ การจัดการเรียนรู้แก่นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น ๑ ปีที่ ๑ และการเสาะหานักเรียนยากจนเข้ารับทุน เห็นนวัตกรรมการดำเนินการมากมาย รวมทั้งเห็นความท้าทายที่อยู่ในสังคม ที่ต้องมีการจัดการเพื่อเอาชนะความชั่วร้าย เช่นการที่นายบ้านอุบข่าว เพื่อเอาทุนไว้ให้ลูกหลานของตน
โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการระยะยาว ที่สถาบันผลิตครูต้องทั้งผลิตครูและเข้าไปโค้ชโรงเรียนให้มีการพัฒนาสภาพของโรงเรียนให้เอื้อต่อการพัฒนานักเรียนแห่งศตวรรษที่ ๒๑ และเอื้อต่อการปฏิบัติงานของครูรุ่นใหม่ไฟแรง และหลังจากนักศึกษาครูเรียนจบ สถาบันผลิตครูต้องเข้าไปโค้ชการปฏิบัติงานของครูรัก(ษ์)ถิ่นเหล่านี้ด้วย
ในปีการศึกษา ๒๕๖๔ นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นจำนวน ๓๐๑ คน ผลิตโดยสถาบันผลิตครู ๑๐ สถาบัน ๑๑ ห้องเรียน เรื่องที่คุยกันมากคือ การจัด enrichment program ที่มีตัวอย่างของสถาบันผลิตรุ่นที่ ๑ ได้มีการริเริ่มดีๆ อย่างน่าชื่นใจ enrichment program นี้ จัดเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการทำงานในพื้นที่ห่างไกล และในการทำงานพัฒนาชุมชนร่วมกับกลไกในพื้นที่
มรภ. ยะลาเล่าประสบการณ์ในการใช้หอพักเพื่อการเรียนรู้มิติของความเป็นมนุษย์ และมิติเห็นแก่สังคม ผมจึงแนะนำให้ทีมงานรู้จักบันทึกใน Gotoknow ของผมชุด การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม ที่มี ตอนที่ ๑๓ หอพักเพื่อการเรียนรู้บูรณาการ ตอนที่ ๑๔ The Libby Residential Academic Program และตอนที่ ๑๕ Service Learning (เรียนโดยบริการสังคม)
ผมมีข้อสังเกตว่า มุมมองต่อโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นแตกต่างกัน ในผู้เกี่ยวข้องหลากหลายบทบาท นักเรียนจากครอบครัวยากจนในพื้นที่ห่างไกลมองเป็นโอกาสได้รับทุนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนมหาวิทยาลัย หากเลือกได้คนที่รักอาชีพครู ก็จะยิ่งดี พ่อแม่และคนในชุมชนมองว่าเป็นโอกาสที่ลูกหลานของตนจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐ สถาบันผลิตครูมองว่า เป็นโอกาสได้รับงบประมาณสนับสนุน และผมอยากเห็นว่าเขามองเป็นโอกาสเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตนเอง คณะกรรมการของ กสศ. และ กสศ. มองว่าเป็นโครงการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
วิจารณ์ พานิช
๑๔ ก.ย. ๖๓
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich ใน KMI Thailand
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก