ชีวิตที่พอเพียง 3301. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๔) กติกาการทำงาน



บันทึกที่ ๑   บันทึกที่ ๒  บันทึกที่ ๓

เช้าวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๑ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการบริหาร กสศ. ครั้งที่ ๖/๒๕๖๑ ในฐานะที่ปรึกษา   วาระการประชุมเน้นที่การพิจารณาร่างระเบียบที่คณะอนุกรรมการยกร่างเสร็จแล้ว ๔ ระเบียบ     ซึ่งสำหรับผมเป็นงานน่าเบื่อ    แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบ governance องค์กร    ยิ่งองค์กรของรัฐที่ไม่เป็นหน่วยราชการอย่าง กสศ. ยิ่งต้องกำหนดกติกาการทำงานให้มีความยืดหยุ่นคล่องตัว   ใช้กติกาที่ออกโดย บอร์ด เป็นเกราะป้องกันไม่ให้ระบบราชการ (bureaucracy) เข้ามาบงการให้ต้องทำตามระเบียบราชการที่แข็งที่ และบางกรณี ล้าสมัย    ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องไม่ตกเข้าไปในวัฒนธรรม “ต้องทำให้ถูกระเบียบ งานไม่เดินก็ไม่เป็นไร”

ผมจึงจ้องไปให้คำแนะนำให้ระเบียบไม่รัดรึง   มีความยืดหยุ่น เอื้อการทำงานอย่างคล่องตัว    และป้องกันแรงกระแทกจากการปฏิบัติราชการแบบกฎระเบียบนำ  

ในการประชุม มีวาระเรื่องการปรับแผนงานปีงบประมาณ ๒๕๖๑  และ ๒๕๖๒   ให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับ    คือปี ๒๕๖๑ ขอไป รวม ๑,๒๒๒.๒ ล้านบาท  ได้รับ ๑,๑๙๙.๑๘๗๔ ล้านบาท    ปี ๒๕๖๒ ขอไป ๕,๙๔๙ ล้านบาท  ได้รับ ๒,๕๓๗ ล้านบาท   จึงต้องขอปรับแผนการทำงาน ซึ่งมีทั้งลดเงิน  ลดจำนวนคน  และลดจังหวัด  

จึงเกิดการอภิปราย ได้ข้อมูลว่า สพฐ. มีเงินให้นักเรียนยากจนชั้นประถม ๑,๐๐๐ บาท   ชั้นมัธยม ๓,๐๐๐ บาท (ต่อปี)   กสศ. ให้เพิ่ม ปี ๒๕๖๑ เป็นเงิน ๗๒๐ บาท  ปี ๒๕๖๒ เป็นเงิน ๗๘๐ บาท   จ่ายช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ ๒๕๖๒ พร้อมกันคนละ ๑,๕๐๐ บาท    เกิดประเด็นการทำงานบูรณาการหรือเชื่อมโยงกับ สพฐ.    โดยมีคนบอกว่า สพฐ. จ่ายเงินสนับสนุนเด็กเล็กแบบปูพรม ทั้งเด็กยากจนและเด็กไม่ยากจน   

เป็นการนำเอาความซับซ้อนของสังคม  และของระบบราชการ    ขึ้นมาพิจารณา เพื่อให้การทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของบ้านเมืองได้ผล   โดยต้องเอาชนะ mentality การทำงานเพื่อหน่วยงาน  ไม่ใช่ทำงานเพื่อสังคมหรือบ้านเมืองในภาพรวม  

รศ. ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ เล่าประสบการณ์การลงพื้นที่จังหวัดตรัง ๓ วัน    ได้ข้อมูลว่า นร. กศน. จำนวนเพิ่ม  และอายุน้อยลง  เพราะหลุดจากระบบ เพราะการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนไม่ตอบสนอง  และไม่เข้าใจเด็ก    กศน. ตามเก็บเด็กเหล่านั้น    ข้อมูลนี้ตรงกับข้อสันนิษฐานของผม   

ผู้แทน กศธ. บอกว่าเป้าหมายหลักของเงินสนับสนุนเป็นค่าอาหารเช้า  กับค่าเดินทาง    ตนไม่แน่ใจว่าจะมีผลให้เกรดดีขึ้นไหม  

ฟังคำชี้แจงของ นพ. สุภกร บัวสาย ที่คำนึงถึงการดำเนินการให้ถึงหัวใจของความเสมอภาคทางการศึกษา    คือความเสมอภาคทางคุณภาพ แล้วผมสบายใจ    แต่ประเด็นนี้เป็นเรื่องระยะยาวไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนในเชิงปฏิบัติ    ที่คณะกรรมการจะต้องมีมติ    

การถกเถียงลงรายละเอียด ในหลายแง่หลายมุม   ทำให้ผมเสนอต่อที่ประชุมว่า งบประมาณของ กสศ. เป็นงบอุดหนุนทั่วไป   รายการตั้งงบประมาณกับตอนใช้ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเป็น line item    ผมจึงรู้ว่าผมเข้าใจผิด    เดี๋ยวนี้งบประมาณหมวดอุดหนุนทั่วไปต้องปฏิบัติตาม line item ที่เสนอขอ   แต่ นพ. จเด็ด ธรรมธัชอารี เล่าวิธีทำงานของ สปสช. ที่ยืดหยุ่นวิธีใช้งบประมาณที่ได้รับได้   โดยความร่วมมือกับสำนักงบประมาณ   ยึดหลักการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย   และมีการกำกับตรวจสอบอย่างดี    เพื่อให้การปฏิบัติงาน เมื่อใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนแล้ว    เกิดผลกระทบเชิงประโยชน์สาธารณะอย่างคุ้มค่า    คือเน้นการปฏิบัติงานแบบ result-based    ไม่ใช่เน้น rule-based   

ผมเกิดความรู้สึกว่า ในหลายกรณีของงานราชการหรือกึ่งราชการ เราติดกับดัก กติกาและขั้นตอนการทำงาน ที่กำหนดไว้เพื่ออำนาจของบางหน่วยงานเป็นหลัก    ทำให้ประโยชน์ในภาพรวมของประเทศถูกลดทอนลงไป    หากไม่มีการแก้ไขประเด็นนี้  การบรรลุประเทศไทย ๔.๐ ไม่มีทางเป็นไปได้

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ก.ย. ๖๑


หมายเลขบันทึก: 657614เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2018 19:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2018 19:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

It is the ‘old inertia’ that holds us back:

we still cling to ‘regulate’ instead of ‘innovate’;

we still talk and think ‘equality’ (as ‘the same’) instead of ‘unity’ (as ‘complex system’);

we still ‘single task’ (with single accounting) and exploring ‘multi-task’ and multi-accounting – we have web of relations that we cannot record ‘in full’ in one single account!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท