ชีวิตที่พอเพียง 3283. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๒)



บันทึกที่  

เช้าวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๑ ผมไปประชุม คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ กสศ. (สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) อาคาร ไอบีเอ็ม สนามเป้า    ในฐานะที่ปรึกษาของคณะกรรมการ    การประชุมนี้เป็นครั้งที่ ๕/๒๕๖๑ 

ในฐานะที่ปรึกษา ผมตั้งใจโฟกัสความสนใจไปที่ ยุทธศาสตร์การทำงานของ กสศ. ตามที่ระบุไว้ในบันทึกที่แล้ว คือ (๑) ยุทธศาสตร์การเรียนรู้   (๒) ยุทธศาสตร์ข้อมูลหลักฐาน    ซึ่งทีม สสค. ก็ทำอยู่แล้ว    และ (๓) ยุทธศาสตร์ร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับภาคี  

โรงเรียนขนาดเล็ก

 ข้อมูลหลักฐานที่นำมาเสนอในที่ประชุมวันนี้ เป็นผลการวิจัยของธนาคารโลก นำเสนอโดย ดร. ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ เรื่อง ผลการวิเคราะห์โรงเรียนขนาดเล็ก แนวทางแก้ไข และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาทของ กสศ.  สาระคือ ต้นเหตุของปัญหาการขาดประสิทธิภาพในการจัดสรรงบประมาณในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย    ส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับประถมศึกษา  คือที่โรงเรียนขนาดเล็ก   ทำให้เด็กในโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ในสภาพด้อยโอกาสทางการศึกษา    ก่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา   ทั้งขาดครู และขาดวัสดุทางการศึกษา      

ทีมวิจัยเสนอข้อมูลตัวเลขมากมาย    และเสนอว่า หากมีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กอย่างมีหลักเกณฑ์    จะลดจำนวนโรงเรียนลงจาก ๓๐,๕๐๖  เหลือ ๑๗,๗๖๖ โรงเรียน    ลดจำนวนห้องเรียนลงจาก ๓๔๔,๐๐๙ เหลือ ๒๕๙,๕๖๑ ห้อง    ลดห้องเรียนขนาดเล็กจากประมาณ ๑ แสนห้อง เหลือประมาณ ๕ พันห้อง    และประหยัดงบประมาณลงได้ปีละ ๔๙,๐๐๐ ล้านบาท  

เรื่องโรงเรียนขนาดเล็ก ทีมวิจัยไม่ได้เสนอให้ยุบดะ    ต้องใช้หลักวิชากำหนด protected school ด้วย    ซึ่งหมายความว่า มีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนหนึ่งที่ต้องสนับสนุนให้ดำรงอยู่    และทำงานจัดการศึกษาที่มีคุณภาพสูงได้    โดยยอมจ่ายค่าสนับสนุนมากกว่าโรงเรียนทั่วไป   ดร. ดิลกะ บอกว่าตนมีประสบการณ์ ไปเห็นที่ประเทศเวียดนาม และยูเครน    แต่ที่ยูเครนมีวิธีจัดการที่แยบยลมาก   ในการให้เวลาโรงเรียนขนาดเล็กปรับปรุงตัวเอง    โดยกำหนดว่าโรงเรียนใดมีนักเรียนมาสมัครเข้าเรียนไม่ถึง ๒๐ คน ห้ามรับ    เพื่อให้โรงเรียนที่ปรับปรุงตัวเองไม่ได้ ตายไปเอง      

โดยเป้าหมายหลักคือ เพิ่มคุณภาพของผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน

 

คุณค่าของ กสศ.   

วาระที่ผมชอบมากคือเรื่องความก้าวหน้าในการของบประมาณ   ซึ่งมีหลายเรื่องย่อย   ทาง กสศ. ต้องออกแรงมากในการต่อสู้ให้ได้งบประมาณแผ่นดิน    แต่เรื่องที่ผมคิดว่า ช่วยกระตุ้นความเข้มแข็งของ กสศ. ได้มากคือ ในการประชุมหารือเรื่องงบประมาณของ กสศ. เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๑ ที่ท่านรองนายกฯ ประจิน เป็นประธาน    ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบคำถาม ๕ ข้อ ได้แก่

  • การตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น ทำอย่างไร
  • การสำรวจวิเคราะห์ความถูกต้องของข้อมูล
  • แนวทางบูรณาการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ
  • รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายเห็นชอบงบประมาณกรอบระยะเวลาไม่เกิน ๒ ปี    กสศ. จะวางแผนระยะยาวกับแผนรายปีอย่างไร  
  • รัฐควรรับผิดชอบดูแลสวัสดิการประชาชนในด้านการศึกษาเพียงใด 

ผมชอบคำตอบที่ทีมงานของ สกศ. เตรียมมารายงานต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ    ว่าคำตอบต่อคำถามแต่ละข้อคืออะไร     ที่ผมชอบมากที่สุดคือการชี้ให้เห็นว่า ระบบการศึกษาที่ดีจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับที่สามของโลก (รองจากรัสเซีย และอินเดีย)     และการทำหน้าที่ของ กสศ. หากทำได้ผล จะมีผลลดทั้งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา    และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นทางการศึกษา         

 

การปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี

การเป็นองค์กรที่มีเงิน และทำหน้าที่เอาเงินไปจ่ายสนับสนุนบุคคลหรือองค์กรอื่น    ต้องมีระบบธรรมาภิบาลที่ดี    ยิ่งสมัยนี้ที่ผู้คนเสื่อมศรัทธาต่อองค์กรของรัฐ ในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต    จึงต้องมีการยกร่างระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การเผยแพร่เป้าหมาย  ตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงาน  ข้อมูลการดำเนินงานและบริหารกองทุน  รายรับ  รายจ่าย  รวมทั้งผลผลิต ผลลัพธ์ และความคุ้มค่าที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายเงินกองทุน

 

การสื่อสารสังคม

จากวาระเรื่องโรงเรียนขนาดเล็ก และวาระธรรมาภิบาล  ผมให้ความเห็นว่า    ความสำเร็จในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการใช้เงินเข้าไปอุดหนุนคนยากลำบากเท่านั้น     ยังขึ้นอยู่กับสำนึกสังคม  และกระบวนทัศน์ของคนในสังคมเองด้วย     กสศ. และภาคี (เช่น สพฐ.) จึงต้องร่วมกันสื่อสารข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคทางการศึกษา    เพื่อสร้างกระบวนทัศน์ที่ถูกต้องในสังคม    ลบล้างความเชื่อผิดๆ ที่มีอยู่มากมาย  

ที่จริง กสศ. ทำงานสื่อสารสังคมอย่างดีอยู่แล้ว ดัง เว็บไซต์  และการไป “รับฟังข้อคิดเห็นในพื้นที่” 

 

ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับภาคี

เรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนมาก     และยังไม่มีการวางยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนนัก     ผมสังเกตว่าท่านประธานคณะกรรมการน่าจะเข้าใจลึกซึ้ง     เพราะเมื่อผมแย็ปว่า     งานนี้หากทำให้ดี จะไม่ใช่แค่มีผลลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเท่านั้น    แต่จะมีผลเปลี่ยนระบบของบ้านเมือง    ท่านหัวเราะในลักษณะที่ผมได้รับสื่อว่าต้องระมัดระวังความละเอียดอ่อน   

ผมมีความเห็น (แต่ไม่ได้เสนอในที่ประชุม) ว่าความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับภาคี ควรเน้นการทำงานด้านข้อมูล    ซึ่งก็คือการวิจัยระบบการศึกษา    ดังตัวอย่างที่ ดร. ดิลกะนำมาเสนอ     แล้วนำไปสื่อสารสังคม     ใช้หลักการสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา     ซึ่งผู้แทน UNICEF ก็ให้ความเห็นตรงกัน ()      

นี่คือ ข้อใคร่ครวญสะท้อนคิด จากการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุน ในฐานะที่ปรึกษาเมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๑

ขอแนะนำหนังสือเล่มใหม่ของธนาคารโลก  Growing Smarter : Learning and Equitable Development in East Asia and Pacific (2)

 วิจารณ์ พานิช

๘ ก.ย. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 655619เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2018 20:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ตุลาคม 2018 20:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท