ชีวิตที่พอเพียง 3278. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๑) เข้าร่วมประชุมคณะที่ปรึกษาครั้งแรก



บ่ายวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๑ ผมไปประชุม คณะที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ กสศ. (สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) อาคาร ไอบีเอ็ม สนามเป้า

คณะที่ปรึกษานี้มี ๕ คน ได้แก่ (๑) ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร  (๒) ศาสตราพิชาน ไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ  (๓) ศ. ดร. นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย  (๔) ศ. ดร. สมพงษ์ จิตระดับ  (๕) ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช   

การประชุมครั้งนี้ เพื่อหารือยุทธศาสตร์การทำงานและเรียนรู้ร่วมกับคณะกรรมการบริหารกองทุน  

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ () เกริ่นนำปัญหาของบ้านเมือง ตามด้วยข้อความ “จําต้องป้องกันและแก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษาและการบังคับใช้ กฎหมาย และเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุณธรรมและจริยธรรม”  สะท้อนการให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษา  และเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา    

มาตราที่กล่าวถึงเรื่องการศึกษา ระบุดังนี้

“มาตรา ๕๔ รัฐต้องดําเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รัฐต้องดําเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่ง เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดําเนินการด้วย

รัฐต้องดําเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริม ให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดําเนินการ กํากับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษา ดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติซึ่งอย่างน้อย ต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทําแผนการศึกษาแห่งชาติ และการดําเนินการและตรวจสอบการดําเนินการ ให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติด้วย

การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

ในการดําเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาตามวรรคสอง หรือให้ประชาชนได้รับ การศึกษาตามวรรคสาม รัฐต้องดําเนินการให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษา ตามความถนัดของตน

ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุน หรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษีรวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องกําหนดให้การบริหารจัดการกองทุน เป็นอิสระและกําหนดให้มีการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

จากหลักการในรัฐธรรมนูญ มีการออกพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ ()    ซึ่งได้นิยามคำว่าความเสมอภาคทางการศึกษา และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไว้ในมาตรา ๓ ดังนี้

“ความเสมอภาคทางการศึกษา” หมายความว่า การที่ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับและ เข้าถึงการศึกษาและพัฒนาอย่างเสมอภาคและทั่วถึง โดยให้ความช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู

“ความเหลื่อมล้ำในการศึกษา” หมายความว่า ความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาอันเนื่อง มาจากคุณภาพหรือมาตรฐานของสถานศึกษา คุณภาพหรือประสิทธิภาพของครู หรือฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม

หน้าที่ของกองทุนฯ ระบุไว้ในมาตรา ๕ ดังนี้ 

มาตรา ๕ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า “กองทุนเพื่อความเสมอภาค ทางการศึกษา” มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา รวมทั้งมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

(๑) ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม เพื่อให้เด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กปฐมวัย ได้รับการพัฒนา ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย

(๒) ให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนเงินและค่าใช้จ่ายให้แก่เด็กและเยาวชน ซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส และผู้ด้อยโอกาส จนสําเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน

(๓) เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูให้มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอน สามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนตามพื้นฐานและศักยภาพที่แตกต่างกัน

(๔) ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับการศึกษาหรือพัฒนา เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดและ มีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองในการดํารงชีวิตได้

(๕) ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือสถานศึกษา เพื่อให้มีการเรียนการสอนที่ทําให้ ผู้เรียนสามารถรู้และพัฒนาได้ตามความถนัดและศักยภาพของตน

(๖) ดําเนินการหรือจัดให้มีการศึกษา วิจัย หรือค้นคว้าแนวทางในการพัฒนาครู ให้มีจิตวิญญาณ ของความเป็นครู มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีความรู้ และมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนและ การพัฒนาผู้เรียนเพื่อลดความเหลื่อมล้ําในการศึกษาโดยมีแรงจูงใจที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมหรือ สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู

(๗) ดําเนินการหรือจัดให้มีการศึกษา วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการนําองค์ความรู้ดังกล่าวไปใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ําในการศึกษา สนองความต้องการทางด้านกําลังแรงงาน และการยกระดับความสามารถของคนไทย

การขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสตาม (๒) และ (๔) ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกําหนด ในการนี้ ให้คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณาด้วย

ในการดําเนินการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามวรรคหนึ่ง กองทุนจะดําเนินการเองหรือร่วมกับ หน่วยงานอื่นของรัฐหรือภาคเอกชนในการดําเนินการก็ได้

ที่จริงยุทธศาสตร์การทำงานของ กสศ. ซ่อนอยู่ในมาตรา ๕ นี่เอง    เพียงแต่ต้องตีความเป็น   และบริหารแบบ interactive เป็น  

น่าชื่นชมทีมงานของ กสศ. () นำโดย นพ. สุภกร บัวสาย  ที่เริ่มการทำงานโดยสร้างปฏิสัมพันธ์กับ บอร์ด หรือคณะกรรมการกองทุน   เน้นที่การเรียนรู้ร่วมกัน   ให้เข้าใจสภาพจริงในสังคมไทย   ที่มีความเหลื่อมล้ำซ่อนตัวอยู่อย่างมากมาย    

สรุปอย่างสั้นที่สุดในสาระยุทธศาสตร์การทำงานของ กสศ. คือ (๑) ยุทธศาสตร์การเรียนรู้   (๒) ยุทธศาสตร์ข้อมูลหลักฐาน    ซึ่งทีม สสค. ก็ทำอยู่แล้ว    และ (๓) ยุทธศาสตร์ร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับภาคี

เรื่องข้อมูลหลักฐานนี่แหละที่ กสศ. จะทำประโยชน์แก่วงการศึกษาไทยได้มาก    โดยผมแนะนำให้ศึกษาลึกลงไปถึง root cause    ไม่หลงดำเนินการโดยใช้ข้อมูลหลักฐานที่ตื้นในระดับอาการ    แต่ศึกษาข้อมูลลึกลงไปที่ “สมุฏฐาน” (root cause) ของโรค หรือในที่นี้ปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษา

น่าชื่นชมที่ทีม กสศ. ศึกษาข้อมูลการทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของต่างประเทศ    เอามาเป็นข้อเรียนรู้ต่อการทำงานด้วย    ในวันนี้ได้เสนอสรุปการทำงานของสององค์กรต่างประเทศ คือ (1) GPE (Global Partnership for Education ()   ซึ่งข้อมูลสำคัญคือ 2016 result report   ที่บอกว่า การทำงานเข้าเป้า ๑๖ ใน ๑๙ เป้า    เป้าหนึ่งที่ไม่บรรลุผลคือ จำนวนเด็กออกกลางคันน้อยลงก็จริง แต่ไม่บรรลุเป้า    ซึ่งผมอธิบายว่า เป็นเพราะกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นถ่ายทอดความรู้   ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งสะสมการเรียนรู้แบบผิวเผินไว้หลายปี    จนการเรียนเป็นความทุกข์แสนสาหัส   เด็กก็จะหันไปใช้ชีวิตที่มีความสุขมากกว่านอกโรงเรียน     (2) Pathways to Education Canada ()    ทั้งสององค์กรนี้ เป็นองค์กรสาธารณะกุศล    GPE เป็นองค์กรระหว่างประเทศ    ส่วน Pathways ทำงานในประเทศแคนาดา     มีข้อเรียนรู้จากเขาได้เพียบ    

สิ่งที่ทีม กสศ. จะต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาก็คือ สภาพบริบทของความเหลื่อมล้ำมีทั้งส่วนที่เหมือนกันและส่วนที่ต่างกัน   ทีม กสศ. ต้องศึกษาความหลากหลายของบริบทความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยให้เข้าใจถ่องแท้    ไม่หลงดำเนินการแบบเหมาโหล   ไม่หลงดำเนินการแบบตื้นเขิน    ซึ่งจะทำให้เสียเงินและแรงเปล่า  ไม่เกิดผลดีต่อผลลัพธ์ทางการศึกษาของเด็กอย่างแท้จริง

ก่อนจบการประชุม คุณกอล์ฟ (ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์) ได้สรุปประเด็นคำแนะนำเชิงยุทธศาสตร์ที่ กสศ. จะนำไปใช้อย่างครบถ้วนชัดเจนดีมาก    แต่ผมจะไม่นำมาลงไว้

นี่คือ ข้อใคร่ครวญสะท้อนคิด จากการประชุมคณะที่ปรึกษาเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๑  


 วิจารณ์ พานิช

๔ ก.ย. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 654944เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2018 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ตุลาคม 2018 19:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

“ทุกครั้งที่เริ่มต้นอะไรไม่ถูก ผมจะเริ่มจากการเข้าไปอ่านบันทึกของอาจารย์หมอเสมอ อ่านตรงไหนก็ได้ ได้พลังและเริ่มต้นได้เสมอ…” (พีรวัศ - ๘ สิงหาคม ๒๕๖๒)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท