คำนำหนังสือ “พลังแห่งวัยเยาว์”



 

คำนำ พลังแห่งวัยเยาว์

...............

 

หนังสือ พลังแห่งวัยเยาว์ นี้ รวบรวมจากบักทึกใน บล็อก Gotoknow ที่ลงสัปดาห์ละตอน ตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ถึง ๙ สิงหาคม ๒๕๖๑ รวม ๑๓ ตอน (https://www.gotoknow.org/posts/tags/พลังแห่งวัยเยาว์ )    โดยบันทึกดังกล่าวตีความจากหนังสือ The Importance of Being Little : What Young Children Really Need from Grownups ซึ่งเป็นหนังสือ New York Times Bestseller  เขียนโดย Erika Christakis  

เป้าหมายของการเผยแพร่หนังสือเล่มนี้ คือแนวทางพัฒนาเด็กเล็กให้เต็มศักยภาพ     ที่น่าเสียดายว่า แนวทางที่สังคมปัจจุบันยึดถือ    ส่วนหนึ่งมาจากความเข้าใจผิด   นำไปสู่วิธีปฏิบัติต่อเด็กที่ไม่ถูกต้อง     มีความสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น    และที่สำคัญ มีผลลดทอนโอกาสเติบโตพัฒนาเต็มศักยภาพของเด็ก    โดยที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่จัดสิ่งของให้แก่เด็กด้วยความรักความหวังดี    แต่ส่งผลด้านลบต่อพัฒนาการของเด็ก        

 ในปัจจุบันการดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก หรือเด็กก่อนวัยเรียน กำลังถูกวิธีการในโรงเรียนเข้าครอบงำ    ความเป็น “preschool”   กำลังถูกทำให้เป็น “school    โดยตั้งเป้าหมายเน้นการเรียนวิชา หรืออ่านออกเขียนได้คิดเลขเป็น    แทนที่จะเน้นพัฒนา “ความเป็นเด็ก” ให้เต็มศักยภาพ

หนังสือเล่มนี้มุ่งแสดงให้เห็นว่า วัยเยาว์ของเด็กเล็กมีพลังและคุณค่าในตัวของมันเอง    ในทางปฏิบัติผู้ดำเนินการระบบดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก ต้องระมัดระวังไม่ตกหลุมพรางของพลังแฝงต่างๆ ที่ทำลายโอกาสพัฒนาเต็มศักยภาพของความเป็นเด็ก ในนามของเจตนาดีบ้าง แฝงผลประโยชน์ทางธุรกิจบ้าง    ที่เมื่อดำเนินการแล้ว เด็กเสียประโยชน์    ตามรายละเอียดต่างๆ ที่กล่าวในหนังสือเล่มนี้

คนกลุ่มแรกที่เป็นต้นเหตุให้ระบบ  “การดูแลและพัฒนา” เด็กเล็ก เดินผิดทางคือพ่อแม่ (ส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด)    โดยตั้งเป้าหมายต่อศูนย์เด็กเล็กในทางที่ผิด    คือต้องการให้เรียนวิชาการ    ส่งผลให้เด็กขาดโอกาสเล่นอิสระเพื่อฝึกจินตนาการ เพ้อฝัน และการริเริ่มสร้างสรรค์    รวมทั้งขาดโอกาสฝึกทักษะปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ และต่อผู้ใหญ่คือครูเด็กเล็ก   มีผลให้พัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ด้อยลงไป  

แน่นอนว่า คนกลุ่มใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อระบบ “การดูแลและพัฒนา” เด็กเล็ก คือหน่วยงานที่กำกับดูแลศูนย์เด็กเล็ก   ที่หากดำเนินการสนองความต้องการของพ่อแม่ส่วนใหญ่    ระบบ  “การดูแลและพัฒนา” เด็กเล็ก ของไทยก็จะเดินผิดทาง   

บุคคลสำคัญยิ่งใน “การดูแลและพัฒนา” เด็กเล็ก รองจากพ่อแม่ คือครูเด็กเล็ก    ที่ในอุดมคติแล้ว ต้องผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี และมีทักษะในการทำหน้าที่อย่างถูกต้อง     คือเราต้องได้คนเก่ง ดี มีความสามารถ และรักเด็ก มาเป็นครูหรือผู้ดูแลเด็ก    และควรพัฒนามาตรการส่งเสริมให้คนรักเด็กพัฒนาตนเองมาเป็นผู้ดูแลเด็ก    และหากพิสูจน์ได้ว่า มีสมรรถนะเข้าเกณฑ์มาตรฐาน ควรได้รับค่าตอบแทนที่สูงในระดับกึ่งกลางของเงินเดือนครูในปัจจุบัน คือเดือนละ ๔ หมื่นบาท เป็นรายได้ขั้นต่ำ     

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ไปเรื่อยๆ จะพบว่า ค่าใช้จ่ายในการดูแลพัฒนาเด็กเล็กที่จ่ายซื้อสิ่งของปรนเปรอเด็กนั้น หลายส่วนไม่มีความจำเป็น    ในหลายกรณีแทนที่จะเป็นคุณ กลับเป็นโทษต่อเด็ก    คือทำให้เด็กพัฒนาไม่เต็มศักยภาพ  

สิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่งของสังคมไทยคือ การที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐  มาตรา ๕๔ ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กเล็ก    และระบุแนวทางพัฒนาเด็กเล็กที่ถูกต้อง ไว้อย่างชัดเจน

หนังสือ พลังแห่งวัยเยาว์ เล่มนี้ จัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อสนองเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว

 ผมขอแสดงคารวะต่อผู้มีส่วนยกร่างข้อความในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๕๔  ส่วนที่ว่าด้วยการพัฒนาเด็กเล็ก    ขอขอบคุณท่านอาจารย์ ดร. สายสุรี จุติกุล (และท่านอื่นๆ) ผู้มีส่วนขับเคลื่อนให้สังคมไทยเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กเล็ก และยังได้กรุณาเขียนคำนิยม    รวมทั้งขอบคุณผู้เขียนคำนิยมอีกสองท่าน คือ นพ. สุริยเดว ทรีปาตี  และอาจารย์ธิดา พิทักษ์สินสุข    ขอขอบคุณท่านผู้มีส่วนจัดทำหนังสือ คือคุณเกื้อกมล นิยม แห่งสำนักพิมพ์สานอักษร    คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร และคุณนาถชิดา อินทร์สอาด แห่งมูลนิธิสยามกัมมาจล    ขอทุกท่านได้รับกุศลผลบุญแห่งการทำคุณประโยชน์ต่อเด็กไทยผ่านการจัดทำหนังสือเล่มนี้โดยทั่วกัน

วิจารณ์ พานิช

                            ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๑               


 

 

 

หมายเลขบันทึก: 654943เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2018 19:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ตุลาคม 2018 19:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่เขียนบทความดีๆเผยแพร่ให้คนไทยได้เรียนรู้อย่างสม่ำเสมอครับ ผมติดตามบทความของท่านอย่างสม่ำเสมอ และถือโอกาสนำไปเผยแพร่ต่อในเครือข่ายของผม โดยได้เคยขออนุญาติท่านไว้นานแล้ว ผมถือว่าท่านครูที่ให้ความรู้กับผมมากที่สุดในชีวิตของผม และขอติดตามเป็นลูกศิษย์ของท่านตลอดไป

ด้วยความเคารพและนับถืออย่างสูง

หม่อมหลวงชาญโชติ ชมพูนุท

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท