ชีวิตที่พอเพียง 3296. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๓) การพัฒนาคุณภาพครู


บันทึกที่ ๑   บันทึกที่ ๒

บ่ายวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๑ ผมไปประชุมหารือกลุ่มเล็กๆ เรื่อง  การเสริมสร้างการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู  ตาม พรบ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่ กสศ.   

พรบ. ดังกล่าว มาตรา ๕ ระบุวัตถุประสงค์ของกองทุนดังต่อไปนี้

(๓) เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูให้มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอน สามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนตามพื้นฐานและศักยภาพที่แตกต่างกัน

(๕) ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือสถานศึกษา เพื่อให้มีการเรียนการสอนที่ทําให้ ผู้เรียนสามารถรู้และพัฒนาได้ตามความถนัดและศักยภาพของตน

(๖)​  ดําเนินการหรือจัดให้มีการศึกษา วิจัย หรือค้นคว้าแนวทางในการพัฒนาครู ให้มีจิตวิญญาณ ของความเป็นครู มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีความรู้ และมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนและ การพัฒนาผู้เรียนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาโดยมีแรงจูงใจที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมหรือ สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู

ผมมองว่า วัตถุประสงค์ตาม (๓), (๕) และ (๖) มีความเชื่อมโยงกัน

ทีมงานของ กสศ. แบ่งภารกิจของ “การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู” ออกเป็น ๒ แผนงานย่อย คือ

· แผนงานส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาและสร้างครูรุ่นใหม่ในพื้นที่ห่างไกล

· แผนงานส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู

การประชุมวันนี้เน้นหารือวิธีดำเนินการในแผนงานย่อยอันแรก

ผมชี้ให้ทีมงานเห็นว่า ๒ แผนงานย่อยนี้ไม่ได้แยกจากกันเด็ดขาด    เพราะการผลิตครูใหม่ควรเชื่อมโยงกับกิจกรรมการเรียนการสอนที่ดีในโรงเรียน    ที่มีการเรียนรู้ร่วมกันของครู    ซึ่งก็คือ PLC ครูนั่นเอง    โรงเรียนที่มี PLC เข้มแข็ง  มีผลกระทบให้ ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนมีคุณภาพดี    ควรเป็นสถานที่เรียนรู้ของนักศึกษาศึกษาศาสตร์ครุศาสตร์

ทีมงานเสนอข้อมูลว่า สกอ. มีโครงการผลิตและพัฒนาครูในระบบพิเศษเพื่อพัฒนาท้องถิ่น  ในปีการศึกษา ๒๕๖๑ รับนักศึกษาแล้ว ๔,๑๕๖ คน   แผนงานของโครงการนี้ถึงปี ๒๕๗๒    ดำเนินการโดยกลุ่มเครือข่ายอุดมศึกษา ๙ กลุ่ม ที่มีคณะศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์ทั่วประเทศ   

เราหารือกันว่า โครงการสร้างครูรุ่นใหม่ไปทำงานในพื้นที่ห่างไกล (ประมาณ ๓ พันโรงเรียน) ไม่ควรดำเนินการแบบ โครงการผลิตและพัฒนาครูในระบบพิเศษเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เพราะมีวัตถุประสงค์ต่างกัน    โดย กสศ. ควรพัฒนาวิธีการของตนเองขึ้นใหม่   ให้ได้ครูที่มีสมรรถนะและจิตวิญญาณครูที่ต้องการ รวมทั้งความรักที่จะทำหน้าที่ครูและเติบโตก้าวหน้าในวิชาชีพครูโดยการทำงานอย่างมีความสุขในพื้นที่ห่างไกล    ไม่ใช่ไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเพื่อรอสิทธิในการโอนย้าย   

เริ่มจากการสรรหา/เสาะหา นักเรียนในพื้นที่มารับทุนเรียน   ควรใช้กระบวนการที่ชุมชนนั้นๆ มีส่วนร่วม    มีการใช้กระบวนการจิตอาสาทำงานด้านการเรียนรู้ของน้องๆ ในระดับประถมศึกษา ร่วมกับภาคีในพื้นที่    เพื่อให้ได้คนที่มีเครือข่ายพันธะสัญญาทางใจมาเรียนเป็นครูในพื้นที่ที่ตนเป็นส่วนหนึ่ง    โดยที่ไม่ควรใช้วิธีสอบคัดเลือกอย่างการรับนักศึกษามหาวิทยาลัยโดยทั่วไป ที่เน้นรับคนเรียนเก่ง สอบด้คะแนนสูงเป็นเกณฑ์ตัดสิน    ควรมีวิธีให้ได้คนที่รักการเป็นครู มีแรงบันดาลใจต่อการทำหน้าที่ครู อย่างแท้จริง    ซึ่งมีวิธีตรวจสอบหลากหลายวิธี 

เราแนะนำว่า ควรเน้นให้เรียนในสถาบันในพื้นที่ ที่คัดเลือกแล้วว่าจะสามารถจัดการฝึกฝนให้บัณฑิตครูมีสมรรถนะ คุณสมบัติ และจิตวิญญาณครู ที่ต้องการ    โดยเชื้อเชิญให้ทางสถาบันเสนอว่าตนจะจัดกระบวนการเรียนรู้และฝึกฝนนักศึกษาครูอย่างไร เพื่อให้ได้สมรรถนะ คุณสมบัติ  และจิตวิญญาณครู เหล่านั้น

รวมทั้งต้องมีการเก็บข้อมูลการดำเนินการและผลที่เกิดขึ้น ใช้เป็นกลไกป้อนกลับเพื่อการเรียนรู้และปรับตัวของโครงการ    ในลักษณะของ Learning loop    เน้นที่ Double loop learning    และเพื่อในปีต่อๆ ไป โครงการจะได้เลือกส่งนักศึกษาในทุนของโครงการเข้าเรียนในสถาบันที่มีผลดำเนินการดี   

มีคำแนะนำเชิงปฏิบัติอีกหลายอย่าง    ที่ผมตีความว่า    จะมีผลกระทบไปที่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ในวิธีการผลิตครูรุ่นใหม่ของประเทศ ที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริง   

การดำเนินการนี้ ควรหวังให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์ข้อ (๖) ข้างบนด้วย 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ก.ย. ๖๑

หมายเลขบันทึก: 656943เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2018 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2018 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท