ชีวิตที่พอเพียง 3423. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๑๗) ร่วมประชุมคณะกรรมการบริหาร กสศ.




บันทึกที่ ๑       บันทึกที่ ๒       บันทึกที่ ๓       บันทึกที่ ๔       บันทึกที่ ๕

บันทึกที่ ๖       บันทึกที่ ๗       บันทึกที่ ๘       บันทึกที่ ๙       บันทึกที่ ๑๐

บันทึกที่ ๑๑       บันทึกที่ ๑๒      บันทึกที่ ๑๓       บันทึกที่ ๑๔      บันทึกที่ ๑๕

บันทึกที่ ๑๖

บ่ายวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๒ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในฐานะที่ปรึกษา

เรื่องแรกที่เข้าสู่การพิจารณาคือ ข้อเสนอโครงการ “โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง”    ตามที่เล่าแล้วในบันทึกที่ ๑๖

เรื่องที่สองคือ โครงการพัฒนาระบบต้นแบบการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส     ที่เมื่อผมฟังแล้ว ก็คิดในใจว่า ทั้งสองโครงการนี้ เป็นการไล่แก้ปัญหาความไร้ประสิทธิผลของราชการ ๓ กระทรวง    คือกระทรวงศึกษาธิการ (ศน.)   กระทรวงแรงงาน (กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน)  กับกระทรวง พม. (กรมส่งเสริมความเสมอภาคคนพิการ)  

พรบ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ ()  มาตรา ๕ (๔) ระบุว่า “๔) ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับการศึกษาหรือพัฒนา เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดและ มีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองในการดํารงชีวิตได้”  และมาตรา ๕ (๗) ระบุว่า “(๗) ดําเนินการหรือจัดให้มีการศึกษา วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการนําองค์ความรู้ดังกล่าวไปใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ําในการศึกษา สนองความต้องการทางด้านกําลังแรงงาน และการยกระดับความสามารถของคนไทย”   

เป็นสัญญาณบอกว่า ประเทศไทยมีความล้มเหลวเชิงระบบของราชการ    โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชการของกระทรวงที่รับผิดชอบคุณภาพของพลเมืองสามกระทรวง     ซึ่งจะทำให้การพัฒนาประเทศไปสู่สภาพ ๔.๐ ทำได้ยากยิ่ง     จึงสร้างกลไก กสส. ขึ้นมาทำหน้าที่สร้างการเปลี่ยนแปลง     ทำให้ผมนึกในใจว่า กสศ. ทำหน้าที่เป็น change agent  ในเรื่องการพัฒนาคุณภาพพลเมืองไทย    

เรื่องที่สองนี้ เป็นเรื่องการพัฒนาแรงงานนอกระบบ และไร้ฝีมือ    ที่ผมนึกในใจว่า พัฒนาเฉพาะฝีมือจะไม่เพียงพอให้เขาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต    ปัญหานี้มันซับซ้อนกว่าเรื่องสมรรถนะด้านอาชีพ   

ตามข้อมูลที่นำมาเสนอ ในปี ๒๕๖๑ ประเทศไทยมีแรงงาน ๓๘.๓ ล้านคน    เป็นแรงงานนอกระบบ ร้อยละ ๕๕.๔ หรือ ๒๑.๒ ล้านคน    กรมทั้งสามในสามกระทรวงที่กล่าวมาแล้ว ทำงานฝึกอาชีพพื้นฐานเป็นหลัก แก่กลุ่มประชากรตามหน้าที่ของตน คือทำงานแบบ supply-side oriented   แต่ กสศ. ทำโครงการนี้เพื่อเป็นต้นแบบ สำหรับให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกลไกในพื้นที่ (เช่น NGO) นำไปขยายผลต่อ    เน้นทำงานตามความต้องการของผู้ต้องการพัฒนาทักษะการทำงานในแต่ละพื้นที่    คือทำงานแบบ demand-side oriented อย่างครบวงจร    จนมีงานทำเป็นหลักเป็นฐาน    คือมีเงินส่งเสริมการลงทุนด้วย    และมีระบบฐานข้อมูลอาชีพในท้องถิ่น ประกอบการทำงาน     

เป้าหมายของโครงการมีหลายชั้น คือ ผู้เข้าโครงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น    สร้างรายได้    มีการพัฒนาหน่วยพัฒนาอาชีพในชุมชน   และสร้างความเข้มแข็งของชุมชน     เน้นว่า ไม่ได้แค่หวังผลต่อปัจเจกเท่านั้น    ยังหวังผลกระทบต่อชุมชนด้วย       

เอาเข้าจริง โครงการที่สองนี้  หากมองอีกมุมหนึ่ง เป็นโครงการสร้างชุมชนเข้มแข็งนั่นเอง     หัวใจคือ ไม่ใช่แค่พัฒนาสมรรถนะในการทำงาน  แต่มีการเข้าไปจัดระบบความสัมพันธ์ในชุมชน ในเรื่องการทำมาหากิน    ซึ่งผมมีความเห็นว่า ต้องเน้นให้คนเหล่านั้นพึ่งตนเองได้ คิดพัฒนาตนเอง พัฒนากันเองเป็น    ไม่ใช่มุ่งรอความช่วยเหลือจากภายนอก

วิจารณ์ พานิช

๓๑ มี.ค. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 661433เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2019 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2019 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท