ชีวิตที่พอเพียง 3305. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๕) ผลิตครูในระบบพิเศษเพื่อยกระดับคุณภาพโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล



บันทึกที่ ๑   บันทึกที่ ๒  บันทึกที่ ๓    บันทึกที่ ๔  

บ่ายวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๑ ผมไปร่วมประชุมหารือกลุ่มเล็กๆ ที่ กสศ.  เรื่อง เตรียมการสนับสนุนการผลิตและพัฒนาครูในระบบพิเศษเพื่อยกระดับคุณภาพโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล    และบ่ายวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๑ ไปร่วมประชุม “กลั่นกรองโครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนด้อยโอกาสให้เป็นครูรุ่นใหม่เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล” โดยมีกรรมการ ๙ ท่าน

เป็นการดำเนินการเพื่อผลสามชั้นคือ  (๑) ให้เด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลได้มีโอกาสเรียนครูเพื่อกลับไปเป็นครูในภูมิลำเนาของตน   (๒) ยกระดับคุณภาพโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล  (๓) ยกระดับคุณภาพการผลิตครูประถมและครูปฐมวัย

การประชุมลงรายละเอียดมาก    และผู้มาประชุมก็เป็นผู้รู้จริง    สองท่านเป็นนักศึกษาครุทายาทรุ่น ๑ (ดร. ศุภโชค ปิยะสันติ์  ผอ. รร. บ้านห้วยไร่สามัคคี  อ. แม่ฟ้าหลวง  เชียงราย) และรุ่น ๒ (รศ. ดร. ประวิต เอราวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา)   ที่เวลานี้เป็นกำลังสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ     

โครงการนี้แตกต่างจากโครงการ “ผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” ของ สกอ.    โดยที่โครงการสร้างครูในพื้นที่ห่างไกลนี้โฟกัสการรับเด็กในพื้นที่ห่างไกลมาเรียนครูเพื่อกลับไปทำงานในภูมิลำเนา    เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา  และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น   และโฟกัสที่ครูประถมและครูปฐมวัย

คณะกรรมการกลั่นกรองให้คำแนะนำที่ผมคาดไม่ถึง    ว่าควรกำหนดให้นักศึกษาครูในโครงการนี้ผ่านการฝึกอบรม และการมีปฏิสัมพันธ์ในหมู่นักศึกษา อย่างเข้มข้น    โดยกำหนดให้สถาบันผลิตต้องมีหอพักให้อยู่ตลอด ๔ ปี   หรืออย่างน้อย ๒ ปีแรก   นอกจากเรียนศาสตร์และทักษะการเป็นครูแล้ว    ต้องเรียนศาสตร์และทักษะการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขในพื้นที่ห่างไกล    และการเป็นผู้นำพัฒนาพื้นที่ด้วย   ซึ่งตามข้อความในย่อหน้าถัดไป คำแนะนำนี้น่าจะอยู่ในวิธีดำเนินการข้อ ๕, ๖, ๗  

ที่จริงทีมงานของ กสศ. ก็เสนอมาตรการที่เข้มข้น ๗ ข้อ   สำหรับทำให้มีการผลิตครูเพื่อพื้นที่ห่างไกลที่มีคุณภาพจริงๆ  คือ (๑) การคัดเลือกสถาบันที่มีความพร้อม และความมุ่งมั่น  (๒)​ กระบวนการคัดเลือกนักเรียน    ให้ได้คนที่รักความเป็นครูในพื้นที่ห่างไกล   (๓) การเตรียมความพร้อมแก่นักศึกษา  (๔) หลักสูตรและการเรียนการสอนให้ได้เจตคติ สมรรถนะ และความรู้ ที่ต้องการ  (๕) การจัดระบบดูแลนักศึกษา  (๖) กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้  (๗) การเข้าร่วมพัฒนาทางวิชาการ 

คณะกรรมการกลั่นกรองได้เสนอมาตรการที่ ๘ คือการติดตามให้คำแนะนำปรึกษาตอนจบออกไปทำหน้าที่ครู ๒ ปีแรก  เพื่อให้ลงหลักปักฐานการทำงานได้   

คณะกรรมการกลั่นกรองให้คำแนะนำลงรายละเอียดด้านยุทธศาสตร์การดำเนินการให้เกิดผลมากมาย    โดยโครงการนี้จะเริ่มรับนักศึกษาในปีการศึกษา ๒๕๖๒   จำนวน ๓๐๐ คน   จึงต้องรีบประกาศรับสมัครและชักชวนมหาวิทยาลัยที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์ผลิต    โดยมีคำแนะนำชัดเจนว่าต้องไม่ส่งนักศึกษาเข้าเรียนในกรุงเทพและจังหวัดศูนย์กลางของภาค    โดยที่ความต้องการครูในพื้นที่ห่างไกลอยู่ที่ภาคเหนือมากที่สุด   รองลงมาคือภาคใต้ตอนล่าง    และภาคอีสาน    จึงควรมีมหาวิทยาลัยศูนย์ผลิตอยู่ใน ๓ ภาคนี้    และควรเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ    แต่ต้องมีการจัดการศึกษาแบบใหม่ ที่ผลิตครูประถมและครูปฐมวัยคุณภาพสูง    และต้องมีผู้จัดการโครงการที่เข้มแข็ง เชื่อถือได้ว่าจะทำให้ดำเนินการผลิตครูตามสเป็กที่ต้องการได้    และต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมการดำเนินการระหว่างศูนย์ด้วย   

เสน่ห์ของโครงการอยู่ที่การได้บรรจุเป็นข้าราชการครูในพื้นที่ภูมิลำเนา    และได้ทุนการศึกษา    เป้าหมายคือนักเรียนจากครอบครัวยากจน ๒๐ เปอร์เซ็นต์ล่างของพื้นที่นั้น    ที่มีใจรักการเป็นครู และสามารถเรียนจบได้

ตามปกติเรารับนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยโดยดูที่เรียนเก่ง    แต่โครงการนี้คณะกรรมการกลั่นกรอง แนะนำให้เน้นเลือกคนดี  ส่วนความเก่งเอาเพียงให้เรียนจบได้    โดยมีระบบช่วยเหลือ    คนดีในที่นี้คือดีสำหรับเป็นครูในพื้นที่ห่างไกลที่เป็นภูมิลำเนาของตนเอง   

โครงการนี้จะทำงานร่วมกับชุมชนด้วย    และบัณฑิตครูที่จบออกไปจะทำงานร่วมกับชุมชน ในการพัฒนาการศึกษาของเด็ก   และพัฒนาโรงเรียนให้เป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชนด้วย  

ผมเสนอแนะต่อที่ประชุมว่า  ที่จริงโครงการนี้มีลักษณะเป็นการทำไปเรียนรู้ไป    ไม่มีสูตรหรือวิธีการตายตัวแน่นอน    จึงต้องมีการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างศูนย์ผลิตทั้งหมด และกับ กสศ. ด้วย    โดยที่มีการติดตามเก็บข้อมูลในพื้นที่ด้วย   ผมคิดว่าฝ่าย กสศ. ควรมีตัวแทนชุมชนด้วย   

 ท่าทีว่าโครงการนี้เป็นโครงการทดลอง ต้องมีการดำเนินการจริงจังและเรียนรู้ต่อเนื่อง มีความสำคัญยิ่ง   

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ต.ค. ๖๑


หมายเลขบันทึก: 657922เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2018 18:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2018 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Is there any ‘incentive’ for ‘remote area’ duty in Thailand’s Public (Education) Services?

Accommodation and many other problems can be alleviated with ‘remote area allowance’ (เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล).

Is there adequate Internet infrastructure in remote areas yet?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท