ชีวิตที่พอเพียง 3417. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๑๖) โรงเรียนพัฒนาตนเอง (Schools that Learn)




บันทึกที่ ๑       บันทึกที่ ๒       บันทึกที่ ๓      บันทึกที่ ๔      บันทึกที่ ๕

บันทึกที่ ๖      บันทึกที่ ๗       บันทึกที่ ๘       บันทึกที่ ๙       บันทึกที่ ๑๐

บันทึกที่ ๑๑      บันทึกที่ ๑๒      บันทึกที่ ๑๓       บันทึกที่ ๑๔      บันทึกที่ ๑๕



บ่ายวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๒ ผมไปร่วมประชุมพิจารณาข้อเสนอโครงการ “โครงการพัฒนาโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง” ที่ กสศ.    โดยมีเป้าหมายพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (whole school approach)    เน้นพัฒนาการเรียนการสอนในชั้นเรียน    สู่การพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ แก่นักเรียน   จากการประชุม ชื่อโครงการอาจมีการปรับปรุง

เป้าหมายที่แท้อยู่ที่ตัวเด็กนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนขนาดกลาง    ซึ่งเป็นเด็กจากครอบครัวฐานะยากจน   ให้ได้เรียนเพื่อพัฒนาเป้าหมายชีวิตของตนเอง    และได้พัฒนาพื้นฐาน ASK (Attitude, Skills, Knowledge) ของตนเอง    ให้ได้เรียนต่อหรือออกไปประกอบอาชีพดำรงชีวิตที่ดีได้    ภายใต้การดำเนินการตามหลัก High Expectation ของโรงเรียน

ตามมาด้วยระบบ High Support ของโรงเรียน ได้แก่ Q-Goal, Q-Info, Q-PLC (+ LS & OC), Q-Network, Q-Coach, และ  Q-Classroom    ซึ่งผมตีความว่า เน้นการพัฒนาโรงเรียนและพัฒนาครูด้วยกระบวนการเรียนรู้จากห้องเรียน    (ไม่ใช่เน้นการส่งเข้ารับการอบรม อย่างโครงการคูปองครู)    ด้วยกระบวนการ PLC, LS (Lesson Study), และ OC (Open Class)    ซึ่งหมายความว่า โรงเรียนที่เข้าโครงการนี้ พัฒนาโรงเรียนด้วย Organization Learning  จากการทำงานประจำนั้นเอง   

โรงเรียนในโครงการนี้จะไม่เป็นสถานที่เรียนเฉพาะของนักเรียนเท่านั้น    แต่จะเป็นสถานที่เรียนรู้หลายชั้น ของคนหลายกลุ่ม ได้แก่ นักเรียน  ครู  ผู้บริหารโรงเรียน  คณะกรรมการโรงเรียน  ผู้ปกครองนักเรียน  ผู้นำชุมชน  ผู้บริหารระบบการศึกษาของประเทศ   รวมทั้งนักศึกษาครู และนักวิชาการด้านการศึกษาจากมหาวิทยาลัย  

ครูจะไม่เป็นเพียง “ผู้สอน”  แต่จะเป็น “ผู้เรียน” ไปด้วยในตัว และการเรียนรู้ของครูจะง่ายและสนุก เพราะมีกัลยาณมิตรร่วมเรียนรู้หลายชั้น ทั้งเพื่อนครูในโรงเรียน    ผู้บริหาร ผู้ปกครอง  ผู้นำชุมชน  และเพื่อนครูต่างโรงเรียน    และยิ่งกว่านั้น ครูที่เก่งจะรู้วิธีเรียนรู้จากศิษย์ด้วย    

ครูในโครงการนี้จะได้เรียนรู้เทคนิคการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ (critical thinking) และการคิดสร้างสรรค์ (creativity)  และการประเมินทักษะทั้งสอง ที่ทีมงานของ กสศ. เรียนรู้มาจากทีม OECD   โดยมี ผศ. ดร. ธันยวิช วิเชียรพันธ์ แห่งมหาวิทยาลัยศรีปทุมเป็นวิทยากร    โดยที่ผมตีความว่าเทคนิคดังกล่าวจะไม่เพียงสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์และการคิดสร้างสรรค์เท่านั้น    แต่จะพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ครบทั้งชุด ให้แก่นักเรียน   

กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของครูผ่านการปฏิบัติงานในห้องเรียน  จะเปิดโอกาสให้ครูผู้มีความสามารถ และเอาจริงเอาจังในการประกอบวิชาชีพครู พัฒนาตัวเองชึ้นเป็น master teacher (ครูต้นแบบ)    เราก็จะมีครูต้นแบบ ทำหน้าที่ยกระดับสมรรถนะวิชาชีพของเพื่อนครูในโรงเรียน  และอาจเอื้อเฟื้อไปยังเพื่อนครูในโรงเรียนใกล้เคียง    ผ่านการทำหน้าที่เป็น learning facilitator  หรือ PLC facilitator นั่นเอง     

วันที่ ๒๘ มีนาคม  ทางทีมฝ่ายบริหาร กสศ. นำโครงการนี้เสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เพื่อขออนุมัติโครงการ     ผมไปนั่งฟังอยู่ด้วยโดยไม่ได้พูดอะไร     เห็นได้ชัดเจนว่า โครงการนี้มีความซับซ้อน จนผู้นำเสนอเสนอให้เข้าใจครบถ้วนได้ยาก    เอาอย่างง่ายที่สุด นี่คือโครงการนำร่องพัฒนาคุณภาพโรงเรียนกลุ่มที่มีคุณภาพต่ำ     ที่เด็กนักเรียนมาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน    นำร่อง ๒๘๐ โรงเรียน    เป็นโครงการ ๕ ปี  โดยขออนุมัติโครงการ ๒ ปีแรกก่อน    ใช้งบประมาณ ๑๑๑ ล้านบาท     

หลังจากซักถามมากมาย คณะกรรมการก็มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการได้

ผมมีความฝันว่า หากโครงการนี้บรรลุผล     และมีการขยายผลวิธีการจัดการโรงเรียนตามแนวที่พัฒนาขึ้นโดยโครงการนี้    จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในสังคมไทย    พ่อแม่ของเด็กในชนบทจะเชื่อถือคุณภาพของโรงเรียนใกล้บ้าน    และไม่ต้องดิ้นรนส่งลูกไปเรียนโรงเรียนในเมืองที่อยู่ไกล    ช่วยให้คุณภาพชีวิตของพ่อแม่ และของเด็ก ดีขึ้น    จาก equity ของคุณภาพของโรงเรียนในประเทศ   

ถามว่า โรงเรียนเหล่านี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร    ผมตอบว่า จะกลายเป็น Schools that learn    เพราะเวลานี้โรงเรียนในสังกัด สพฐ. เกือบทั้งหมด เป็นโรงเรียนที่ไม่เรียนรู้จากการทำงาน    ครูไม่มีทักษะและฉันทะในการเรียนรู้จากการทำงาน    โครงการนี้จะพัฒนา platform ใหม่ในการทำงานของโรงเรียนและของครู    ให้มีการเรียนรู้ร่วมกันของครู บูรณาการอยู่ในการทำงานประจำ     และมีระบบช่วยเหลือที่เรียกว่า High Support ตามที่กล่าวแล้วข้างบน  

ตามแนวทางใหม่นี้ โรงเรียนและครู ต้องมีการดำเนินการพัฒนาคุณภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง บูรณาการอยู่ในการทำงาน    ไม่ใช่รอมาตรฐาน และการสั่งการจากส่วนกลาง    เป้าหมายปลายทางของโครงการคือ พัฒนาโรงเรียนให้เป็น Learning Organization

ที่จริง กสศ. (ตั้งแต่สมัยเป็น สสค.) ได้ดำเนินการโครงการทำนองนี้นำร่องไปแล้ว     ที่เรียกว่า โครงการ sQip (1)    มีประสบการณ์แล้วส่วนหนึ่ง  สำหรับนำมาดัดแปลงใช้ในโครงการใหม่นี้     

วิจารณ์ พานิช

๒๙ มี.ค. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 661338เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2019 19:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2019 19:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท