ชีวิตที่พอเพียง 3305. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๖) สถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู



บันทึกที่ ๑    บันทึกที่ ๒    บันทึกที่ ๓   บันทึกที่ ๔   บันทึกที่ ๕

ที่จริงเรื่องของบันทึกนี้เป็นเรื่องเดียวกับบันทึกที่ ๕   แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีเป้าหมายซับซ้อน    ชื่อโครงการ ที่นำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๑  จึงมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เป็น โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลให้เป็นครูรุ่นใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของชุมชน

พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๕ (๓) ระบุดังนี้

“(๓) เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูให้มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอน สามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนตามพื้นฐานและศักยภาพที่แตกต่างกัน”

และมาตรา ๕ (๖) ระบุดังนี้ 

“(๖) ดําเนินการหรือจัดให้มีการศึกษา วิจัย หรือค้นคว้าแนวทางในการพัฒนาครู ให้มีจิตวิญญาณ ของความเป็นครู มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีความรู้ และมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนและ การพัฒนาผู้เรียนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาโดยมีแรงจูงใจที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมหรือ สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู”

ทำให้ผมฝันว่าโครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลให้เป็นครูรุ่นใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของชุมชน นี้    จะมีผลพลอยได้ที่ยิ่งใหญ่ คือเป็​นส่วนหนึ่งของการสร้างต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครูยุคใหม่ ที่มีจิตวิญญาณ และทักษะของการเป็นครูในสังคมยุค VUCA อย่างแท้จริง    

ผมฝันว่า ครูยุคใหม่และโรงเรียนยุคใหม่ ต้องทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชุมชน สังคม และบ้านเมืองด้วย     กล่าวง่ายๆ ว่า ทำหน้าที่ครู ๘๐%    พร้อมกับทำหน้าที่นักพัฒนาชุมชน ๒๐%  

Disruptive Change

เพื่อให้ได้ครูที่มีคุณสมบัติ และทำงานได้ตามที่ต้องการ    การผลิตครูในโครงการนี้ จะมีลักษณะ disruptive change ในระดับอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัย    คือเปลี่ยนจากการคัดเลือกคนเรียนหนังสือเก่ง  เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยตามหลักสูตรปกติ    ให้จบรับปริญญาที่กำหนดไว้ตามหลักสูตร    จะเรียนจบไม่จบ หรือเรียนจบมีจิตใจ สมรรถนะ และความรู้ แค่ไหน นักศึกษาต้องรับผิดชอบตัวเอง    เปลี่ยนเป็นเลือกคนที่มีใจและพฤติกรรมที่ตีความได้ว่า รักความเป็นครู รักเด็ก และมุ่งมั่นทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่นที่เป็นภูมิลำเนาของตน   มีความมุ่งมั่นที่จะเรียนเพื่ออนาคตของตน    โดยผลการเรียนอาจไม่เด่น  แต่พอจะช่วยกันปลุกปั้นให้เรียนจบได้    และจะออกไปทำงานที่กำหนดไว้ได้อย่างดี

เราต้องการผลิตครูนักปฏิบัติ  ไม่ใช่ครูนักทฤษฎี    นี่คือ disruptive change ในเชิงอุดมการณ์ของการผลิตครู   

เอาคนที่เรียนไม่ถึงกับเลิศ  แต่เด่นด้านจิตใจดีงาม และรักความเป็นครู เอามาฝึกเป็นครูที่ดี  

Disruptive change ที่สถาบันผลิตครูจึงเป็นการพัฒนาและบริหารหลักสูตรที่เน้น การฝึกผู้นำ  การทำงานเป็นทีมเป็นเครือข่าย    ฝึกอุดมการณ์ และทักษะ ความเป็นครูในพื้นที่ห่างไกล    เขียนถึงตรงนี้แล้วผมนึกถึงหนังเรื่อง เสียงกู่จากครูใหญ่ ()   โดยที่ครูใหญ่เกาหลีทำงานในช่วงแรกแบบตัวคนเดียว    แต่ครูที่พัฒนาขึ้นตามโครงการนี้จะทำงานแบบมีเครือข่าย    เป็นเครือข่ายของครูใหม่ในพื้นที่สูง  พื้นที่ชายแดน  และพื้นที่ที่เป็นเกาะห่างไกล    แถมในช่วงเริ่มทำงานสองปีแรกยังมีพี่เลี้ยงจากสถาบันผลิต และจากกลไกของ กสศ.  

โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลให้เป็นครูรุ่นใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของชุมชน นี้    จึงไม่ใช่แค่ผลิตครูแบบใหม่    แต่ยังดำเนินการให้เกิดครูแบบใหม่ที่ทำงานในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างมีความภาคภูมิใจ มีความสุข และมีความก้าวหน้าในวิชาชีพครู   

เปลี่ยนสถาบันผลิตครู

โครงการนี้ระบุเป้าหมายข้อหนึ่งว่า “เพื่อให้เกิดการปรับปรุงหลักสูตร  กระบวนการการเรียนการสอน  และกิจกรรมสร้างเสริมความเป็นครู ของสถาบันอุดมศึกษาให้ตรงกับลักษณะงาน และตามบริบทของโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ห่างไกล”     ซึ่งผมมีความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสถาบันผลิตครูนี้  ไม่มีใครหรือหน่วยงานใดเปลี่ยนแปลงสถาบันผลิตครูได้ ตัวสถาบันต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง     กสศ. และภาคีช่วยได้เพียงเข้าไปสนับสนุนในลักษณะของ change empowerment   

ครูมีหน้าที่สร้าง “คนจริง คนกล้า คนแกร่ง”    สถาบันผลิตครูจึงต้องสร้างครูให้เป็น “คนจริง คนกล้า คนแกร่ง”    สถาบันผลิตครูจึงต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นองค์กรแห่ง “คนจริง คนกล้า คนแกร่ง”    ซึ่งจะทำไม่ได้ หากยังสอนแบบเดิมๆ คือเน้นสอนความรู้    จะทำได้ต้องเปลี่ยนการสอนหรือการจัดการเรียนรู้ไปเป็นแบบให้นักศึกษา “ทำงาน” เพื่อการเรียนรู้ของตน ที่เรียกว่า activity-based learning    โดยอาจารย์ทำหน้าที่ scaffolding ทั้งด้าน บุคลิกหรือนิสัยใจคอ  สมรรถนะ  และวิชาความรู้    โดย “ครูของครู”  ต้องแสดงความคาดหวังสูง  และสนับสนุนเต็มที่ (high expectation, high support)   

ผมไม่ได้ไปร่วมประชุมในบ่ายวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๑  เพราะติดเป็นประธานของอีกการประชุมหนึ่งที่ สวทน.    ทราบภายหลังว่า หลังจากทีมของ กสศ. ไปปรึกษาหารือกับ สกอ. เรื่องขั้นตอนในการรับนักศึกษาแล้ว     พบว่าเตรียมงานไม่ทันเริ่มรับนักศึกษาในปี ๒๕๖๒    จึงต้องเริ่มรับนักศึกษาในปีการศึกษา ๒๕๖๓    โดยใช้เวลาของปี ๒๕๖๒ ในการเตรียมความพร้อม    จุดสำคัญที่สุดคือเตรียมความพร้อมของ สถาบันผลิตครู ในการทำงานในรูปแบบใหม่  

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ต.ค. ๖๑


หมายเลขบันทึก: 658631เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2018 17:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ธันวาคม 2018 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท