mini-UKM #19 @MSU (๖) "Changes Model"


mini-UKM ครั้งที่ ๑๙ กลุ่มย่อย "การสอนแบบมืออาชีพ" ได้คัดเลือก GP (Good Practice) ของอาจารย์หลายท่านเพื่อนำเสนอบนเวทีสรุปก่อนปิดงาน  GP ของ ผศ.ดร.โสภา แคนสี ที่ ดร.สุมลวรรณ ชุ่มเชื้อ กระะบวนกรประจำกลุ่ม ท่านตั้งชื่อให้ว่า "Change" เป็นอีกรูปแบบการสอนหนึ่งที่น่าสนใจและผมตั้งใจว่าจะนำมาบันทึกไว้เป็นตัวอย่างของความพยายามที่สัมฤทธิ์ผลชัดเจน

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มย่อย "การสอนแบบมืออาชีพ" ของเวที mini-UKM-MSU ที่ผ่านมา ทีมงานได้เชิญเจ้าของ GP ทั้งหลายในคราวนั้นมาด้วย ผมจึงมีโอกาสได้ฟัง GP "Changes" ด้วยตนเอง จึงขอนำมาเล่าบอกต่อไว้ในบันทึกนี้ ผมนำเอาแนวปฏิบัติมาสังเคราะห์เป็นโมเดลภาพ ได้ดังรูปครับ

Changes Model

ผมเขียนร่างวิธีการ "เปลี่ยน" มี ๗ อย่างที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้ แล้วส่งให้อาจารย์โสภาดูและปรับแก้ไขเพิ่มเติมให้ตรงกับปัญญาปฏิบัติของท่านมากที่สุด  

  • Condition  ก่อนการเรียนการสอน ให้สร้างเงื่อนไข กติกา สร้างข้อตกลง แล้วเข้มงวดรักษากติกาและปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด เงื่อนไข โดยเฉพาะเงื่อนไขของการประเมินผลเป็นคะแนน เป้าหมายการเรียนรู้คืออะไร จะประเมินอย่างไร เกณฑ์เป็นอย่างไร เช่น 
    • การเข้าเรียน การมาเรียนสาย 
    • การส่งงานที่ได้รับมอบหมาย 
    • การประเมินด้วยการทดสอบ 
  • Heart ทุ่มเทด้วยใจ เชื่อมั่นและมั่นใจในความรู้ในตนเองก่อน แล้วจึงเปิดใจผู้เรียน โดยใช้การบรรยายหรือเล่าเรื่องโน้มน้าวให้เห็นภาพรวม ทั้งด้านวิชาการและการใช้ชีวิตเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและเห็นความสำคัญคุณค่าของชีวิต 
  • Awareness ตระหนักเห็นความสำคัญขององค์ความรู้และทักษะที่จะได้จากการเรียนการสอนในแต่ละหัวข้อ ขั้นตอนนี้ไม่ใช่การบอกบรรยาย แต่ท่านใช้การสนทนาถึงเหตุถึงผลของแต่ละองค์ประกอบความรู้ และให้ความสำคัญกับการตระหนักรู้ว่าเรื่องที่จะเรียนต่อไปนี้สำคัญอย่างไร และทำไมจึงต้องศึกษา ตลอดจนความรู้พื้นฐานที่ผ่านมานั้นมีเรื่องอะไรบ้างจะนำมาประยุกต์ใช้ต่อเนื่อง 
  • Note เปลี่ยนวิธีการเรียนของนิสิตใหม่ โดยให้นิสิตเรียนแบบจดข้อสรุป (องค์ความรู้) หลังจากที่เข้าใจแล้ว ลงในสมุดไปพร้อม ๆ กัน แทนที่จะปล่อยให้ต่างคนต่างจดตามใจ ซึ่งท่านพบว่าส่วนใหญ่ไม่ค่อยจด หรือจดยังไม่เป็นเนื่องจากผู้เรียนยังขาดทักษะการเรียนรู้ที่สัมพันธ์ของคำว่า “ตาดู หูฟัง สมองคิด มือเขียน” การจดที่ได้ของนิสิตจึงไม่ใช่แก่นขององค์ความรู้ที่ต้องการสอน  ทักษะนี้จะมีการส่งตรวจสมุดจดด้วยในปลายภาคเรียน
  • Giving Assignment การมอบหมายงาน จากเดิมที่มอบงานค่อนข้างมากเนื่องจากคิดว่านิสิตจะได้นำไปฝึกฝน  ท่านเปลี่ยนมาเป็นพาทำแบบฝึกหัดบางส่วนและมอบงานที่ละหนึ่งถึงสามข้อ เพื่อสามารถเฉลยได้ในสัปดาห์ถัดไปซึ่งใช้เวลาไม่มากการมอบหมายงานนั้นตระหนักเสมอว่าสอนให้ตรงเนื้อหา(แก่น) แบบฝึกหัดให้ตรงเนื้อหา และประเมินผล (ข้อสอบ) ให้สอดคล้องกับเนื้อหา
  • Evaluation การวัดประเมินผลการเรียน จากเดิมที่มีเพียงทดสอบเท่านั้น เปลี่ยนเป็นมาทดสอบย่อย ๆ และประกาศคะแนนเข้าเรียนและการบ้านให้ทราบทุกสัปดาห์ และเปิดโอกาสให้นิสิตมาสอบถามได้ในทุกประเด็นที่สงสัยการมอบหมายงานและการประเมินผลนี้ต้องใจกว้างยอมรับและคิดเสมอว่าผู้สอนมอบงานและประเมินผู้เรียน ผู้เรียนก็จะมอบงาน และประเมินผู้สอนเช่นกัน (จากการเฉลยการบ้านและการตรวจ ประกาศคะแนน) ให้นิสิตทราบ
  • Supervision เป็นการให้คำปรึกษา ในปัญหาที่ผู้เรียนคนนั้น (ดูรายบุคคล) อธิบายคล้ายสอนเสริม และแนะนำแนวทางการเรียนรู้ด้วยตนเอง และคอยติดตามดูแลต่อเนื่อง โดยส่วนนี้จะประเมินหลังสอบกลาง

    ก่อนเปลี่ยน-หลังเปลี่ยน

    • ในรายวิชาเฉพาะที่เนื้อหายาก มีผู้เรียนสอบตก ติด F จำนวนมาก อาจารย์โสภาพิจารณาจะแก้ปัญหานี้ จึงได้ทดลอง "เปลี่ยน" (ไม่ใช่แค่ปรับ) การจัดการเรียนรู้ใหม่ จากเดิมที่สอนแบบบรรยาย โดยใช้ powerpoint แจกเอกสารหรือชีทให้ไปอ่านประกอบ ให้แบบฝึกหัดทีละ ๓-๕ ข้อ (ค่อนข้างมาก)และไม่ได้ประกาศแจ้งคะแนนเก็บให้ทราบทุกสัปดาห์ และสุดท้ายประเมินด้วยการทดสอบ (ดู)
    • หลังจากการเปลี่ยนมาสอนและพัฒนามาต่อเนื่อง จำนวนนิสิตที่สอบตกและติด F ลดลงเหลือเพียงไม่ถึง ๑๐% จากเดิมที่ตกมากกว่า ๕๐%

    ขอนำสไดล์ ที่ ดร.สุมลวรรณ ท่านนำเสนอบนเวทีสรุป mini-UKM ครั้งที่ ๑๙ เกี่ยวกับโมเดลนี้

    วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๑ ที่่ผ่านมา ผศ.ดร.โสภา แคนสี ได้รับการยกย่องเป็นอาจารย์ผู้สอนดีเด่น ด้วยผลงานนี้ครับ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับอาจารย์ทุกท่านที่ให้ความสำคัญกับการสอน ให้ความสำคัญกับนิสิต ... ผมเรียกครูมืออาชีพแบบนี้ว่า "ครูเพื่อศิษย์" (ตามคำของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช)

    แก้ไขเพิ่มเติม ๑๑ ธ.ค. ๖๑ 

    หมายเลขบันทึก: 658630เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2018 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ธันวาคม 2018 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท