อิคิไก (Ikigai) ทางออกการศึกษาไทย


ปีการศึกษา ๑-๒๕๖๑ เป็นปีการศึกษาแรกที่ทีมอาจารย์ผู้สอนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ ตัดสินใจนำเนื้อหาเรื่อง "อิคิไก" (Ikigai) บรรจุไว้เป็นบทเรียนหนึ่งให้นิสิตระดับปริญญาตรี (ส่วนใหญ่เป็นปี ๑ ปี ๒) ได้เรียนรู้และค้นหา "อิคิไก" ของตนเอง ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒาการเรียนรู้เพื่อให้นิสิตได้  "รู้จักตนเอง เข้าใจผู้อื่น และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข" ตามปรัชญาของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 

อิคิไกคืออะไร

อิคิไกเป็นปรัชญาชีวิตหรือแนวคิดในการดำเนินชีวิตของชาวญี่ปุ่นมานับพันปี ตั้งแต่ยุคเฮอัน (ค.ศ. 794 ถึง 1,185) อิคิไก แปลว่า “ความหมายของการมีชีวิตอยู่” หรือการดำรงชีวิตอย่างมีความหมาย

แดน บิวท์เนอร์ (Dan Buettner) นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านพื้นที่ในโลกที่ผู้อยู่อาศัยอายุยืนมากที่สุด ที่ยืนยันว่า อิคิไก น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนญี่ปุ่นบนเกาะโอกินาวา มีอายุเฉลี่ยยืนยาวที่สุดในโลก เขาอธิบายว่า อิคิไก คือ “จุดมุ่งหมาย” หรือ “เหตุผลของการมีชีวิตอยู่” คือ "หางเสือกำหนดเส้นทางชีวิต" คือ เหตุผลที่ทำให้เราตื่นมาในทุก ๆ เช้า อาจเป็นสิ่งต่างๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ ใกล้ ๆ ตัว เช่น อากาศเย็น กาแฟร้อนๆ แสงพระอาทิตย์อ่อน ๆ ขนนุ่ม ๆ ของสัตว์เลี้ยง พื้นบ้านที่ไม่เปื้อนฝุ่น ความสดของผัก อะไรก็เป็นได้ และรวมถึงงานหรือสิ่งที่ทำเพื่อดำรงชีวิต อิคิไก คืออะไรก็ตามที่มีคุณค่าและความหมายในการดำเนินชีวต

อิคิไกคือทุกสิ่งอย่างที่เราควรทำในการดำเนินชีวิต โดยต้องมีองค์ประกอบ ๔ ประการ ได้แก่ 

  • เรารักในสิ่งนั้น  สิ่งที่เราทำนั้นตรงกับความชอบของเรา ความรักในสิ่งนั้นของเรา ... คือมีฉันทะในสิ่งนั้น 
  • เราถนัดในสิ่งนั้น สิ่งที่เราทำนั้นเรามีความถนัด เรารู้สึกว่าเราทำสิ่งนั้นได้ดี ทำได้ง่ายหรือรู้สึกท้าทาย 
  • สิ่งที่ทำแล้วมีประโยชน์ต่อผู้อื่น มีประโยชน์ต่อโลก มีประโยชน์ต่อส่วนรวม ทำให้สังคม ชุมชน คนรอบข้างของเรามีความสุข 
  • สิ่งที่ทำแล้วได้รับผลตอบแทนให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ทำแล้วเลี้ยงชีพได้ พึ่งตนเองได้ 

แนวปฏิบัติตามปรัชญาอิคิไก เริ่มต้นจากการทำความรู้จักตนเองอย่างลึกซึ้งผ่านการตอบ 4 คำถาม คือ ได้แก่

  • อะไรที่คุณรัก (what you love) คือ เราชอบหรือรักในสิ่งใด
  • อะไรที่คุณถนัด (what you are good at) คือ เราทำอะไรได้ดีหรือถนัดที่จะทำอะไร
  • อะไรที่โลกต้องการ (what the world needs) คือ เราต้องการจะทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาสังคมโลกนี้ได้
  • อะไรที่ทำแล้วเลี้ยงชีพได้ (what you can be paid for) คือ เรามีความสามารถหาค่าตอบแทนเพื่อนำมาหล่อเลี้ยงชีวิตได้จากการทำอะไร

จากภาพแผนผัง Ikigai แนวคิดในการใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย จะสังเกตพื้นที่ทับซ้อนระหว่างคำตอบของ 4 คำถามหลัก ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้

  • สิ่งที่คุณรักและโลกต้องการ ก็คือ อุดมการณ์ในใจคุณ หากนำแนวคิดนี้ไปใช้ในองค์ พื้นที่นี้ก็คือ พันธกิจขององค์กร
  • สิ่งที่โลกต้องการและคุณธรรมสิ่งนั้นแล้วได้ค่าตอบแทนด้วยก็คือ การหาเลี้ยงชีพหรืองาน
  • สิ่งที่คุณทำแล้วได้เงินและตรงกับความถนัดของคุณ จะนำคุณไปสู่ความเชี่ยวชาญ เป็นมืออาชีพ เป็นอาชีพของคุณ
  • พื้นที่แห่งถนัดและเป็นสิ่งที่คุณรัก นั่นคือความปรารถนาและความหลงใหลในใจคุณ
  • ถ้าคุณรักและถนัดในสิ่งที่คุณทำและสิ่งนั้นโลกต้อง แต่ทำแล้วไม่ได้เงิน คุณจะรู้สึกภาคภูมิใจ ได้รับการเติมเต็ม แต่จะขัดสนไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ 
  • ถ้าคุณรักสิ่งนั้นโลกต้องการและทำแล้วได้เงิน แต่คุณไม่ถนัด คุณจะรู้สึกตื่นตัว อิ่มเอมใจ แต่จะไม่มีความมั่นคงในชีวิตจริง
  • ถ้าสิ่งที่คุณทำตรงกับความถนัด ทำแล้วได้เงิน และโลกต้องการ แต่ไม่ใช่สิ่งที่คุณรัก คุณจะรู้สึกภายในว่างเปล่า แม้จะดำเนินชีวิตราบรื่นและสบาย
  • หากคุณทำสิ่งที่คุณรัก ถนัด ทำแล้วได้เงิน แต่โลกไม่ต้องการ สิ่งที่นั้นย่อมไร้ค่าไร้ประโยชน์ต่อผู้อื่นเลย

อิคิไก คือ ทางออกการศึกษาไทยในขณะนี้ 

สาเหตุของปัญหาการศึกษาไทยในขณะนี้คือ "การสอนให้คนอยากรวย" (อ่านที่นี่) ไม่ได้มุ่งสอนให้ "คนมีความสุข" อันเป็นเป้าหมายแท้ของการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งผลงานวิจัยได้ชี้ชัดเจนแล้วว่า ความร่ำรวยนั้น ไม่ได้มีความสัมพันธ์แน่นอนกับความสุขเลย

ทางออกของการศึกษาไทยคือ "การสอนให้คนพอเพียง" พอเพียงในที่นี้คือคนมีและใช้ความรู้และคุณธรรม (อ่านความหมายของความพอเพียงที่นี่) การสอนให้คน "พอเพียง" คือสอนให้คนรู้จักตนเอง รู้ศักยภาพของตนเอง พึ่งตนเองและสันโดษ และทำประโยชน์ต่อส่วนรวมมีความเอื้อเฟื้อแบ่งปันผู้อื่น ทั้งหมดที่่ผมกล่าวนี้ ลงตัวตรงกับวัฒนธรรม "อิคิไก" ของคนญี่ปุ่น ... อิคิไกจึงเป็นทางออกของการศึกษาไทยในขณะนี้ 

หมายเลขบันทึก: 658623เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2018 23:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ธันวาคม 2018 09:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

I think in today’s economic climate we would only need basic 3R skills and competencies in ‘servicing industry or private wants’… So ikigai sounds good for people.

How would higher education institution's survival fit in?

แต่ก่อน ผมจะรู้สึกว่าการเขียนหรือคิดเรื่องที่ค่อนข้างนามธรรม เป็นปรัชญา เป็นหลักคิด เช่น อิคิไก นี้ เป็นการมองแบบ “โลกสวย” … แต่ช่วงหลังที่ได้ศึกษาเรื่อง “ความพอเพียง” มากขึ้น ๆ ผมสังเกตพบว่า หลายสิ่งที่เป็นนามธรรมนั้น เป็นความงาม เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขได้ ผู้คนจำนวนมากที่มีความสุขได้จากชีวิตที่เรียบง่าย พวกเขาเหล่านั้นสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้มากมาย พวกเขาจำนวนมากเลยที่ค้นพบ “อิคิไก” ของตนเองหลังจากที่พบว่า ชีวิตของพวกเขาที่ผ่านมาเหมือนหนูถีบจักร

สำหรับเยาวชน เด็ก ๆ เล็ก ตั้งแต่ปฐมวัย การฝึกให้ค้นหาและพัฒนา “อิคิไก” เป็นสิ่งที่ต้องค้นหา แต่สำหรับ นิสิตระดับปริญญาตรี ที่ได้เลือกทิศวางหางเสือและเดินทาง “กลางทะเล” แล้ว “อิคิไก” เป็นเรื่องที่ต้อง “สร้างขึ้น” พัฒนาขึ้น

นิสิตจำนวนมากของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มี “ต้นทุน” ทรัพยากร (ที่ดินมรดก) ที่เพียงพอต่อการ ดำเนินชีวิตแบบ “พอเพียงขั้นพื้นฐาน” ได้ไม่ยาก และทักษะ 3R + 7C +2L (ศ.นพ.วิจารณ์) ที่พวกเขาเรียนในมหาวิทยาลัยนั้น จะช่วยให้เขาสามารถก้าวไปสู่ “ความพอเพียงขั้นก้าวหน้า”

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท