คำอุทาน


ตาเถรตกกระโถน !   ครูสรมาพบกับทุก ๆ พร้อมกับคำแปลก ๆ ดูแล้วเหมือนเจอเหตุการณ์ที่น่าตกใจอะไรขนาดนั้น   บางคนเมื่อตกใจ หรือมีอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นประหลาดใจ  สงสาร  เห็นอกเห็นใจ หรือรู้สึกโกรธ  ก็จะเปล่งเสียงออกมาด้วยคำแปลก ๆ  ซึ่งอาจเป็นคำคำเดียว เป็นวลี  หรือเป็นประโยคยาว ๆ  คล้องจองบ้างไม่คล้องจองบ้านก็มี   เช่น  พ่อ! ,  แม่! ,  แม่หล่น! ,  แม่หก! , กระดก!  , ว๊าย! ,  ต๊ายตาย !,  อุ๊ย! , แหม! , โถ! , ตายจริง! ,  ชิชะ! , ปัดโธ่! ,  พ่อแม่ตกกระดก!,   คุณพระช่วยกล้วยทอด!    และคำอื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน   คำเหล่านี้มีปะปนอยู่ในภาษาไทยที่หาฟังได้ไม่ยากในชีวิตประจำวัน  บางคำเป็นภาษาชาวบ้านเมื่อผู้พูดพูดออกไปแล้ว  คนฟังฟังแล้วก็อดขำไม่ได้ก็มีมาก   เราเรียกคำเหล่านี้ว่าเป็น  “คำอุทาน”

ครูสรให้ทุกคนสังเกตคำอุทาน  ตามที่ครูสรยกตัวอย่างให้ดูนั้นจะมีลักษณะพิเศษจากคำอื่น ๆ ตรงที่ จะมีเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!)  อยู่ข้างหลังคำนั้น ๆ  การเปล่งเสียงออกมาตามสถานการณ์และอารมณ์ที่แสดงออกมาในขณะนั้น  เราจะเรียกว่า “คำอุทานแสดงอาการ”  บางครั้งเมื่อฟังแล้วก็ไม่มีความหมายอะไรหรอกค่ะ  พิเศษไปกว่านั้นคำอุทานบางคำยังแทรกอยู่ในบทประพันธ์ต่าง ๆ ได้ด้วยค่ะ  เรียกว่า “คำอุทานเสริมบท”   สังเกตได้จากจะมีคำว่า  เอย ,  แฮ ,  นา , โอ้ ,  ฮา , เฮย,  แล    เป็นต้น   ส่วนมากจะใช้เป็นคำสร้อยในบทประพันธ์ประเภท โคลง   หรือร่าย อีกลักษณะหนึ่งก็คือใช้เป็นคำแทรกระหว่างคำ โดยไม่คำนึงถึงความหมายในขณะพูด  เช่น  ลูกเต้า , วัดวาอาราม , หนังสือหนังหา   ภาษาไทยเป็นภาษาที่เรียนแล้วสนุก  ภาษาไทยมีอะไรดีอีกเยอะค่ะ
           

ความหมาย

           คำอุทาน  คือ  คำที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงอารมณ์หรือความรู้สึกของผู้พูด จะมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้  แต่เน้นความรู้สึกและอารมณ์ในขณะพูด เป็นได้ทั้ง คำ  วลี  หรือประโยค

ชนิดของคำอุทาน

 คำอุทานแบ่งออกเป็น 2 ชนิด  ดังนี้

1. คำอุทานแสดงอาการ

          คำอุทานแสดงอาการ  เป็นคำที่เปล่งออกมากตามอารมณ์ของผู้พูด  เช่น  โกรธ , ตกใจ,  ตื่นเต้น,  สงสัย ,   เห็นใจ

 ตัวอย่าง

        คำอุทาน   แสดงอาการ  โกรธ    ใช้คำว่า   เฮ้ย ! ,  ชิชะ! , อุวะ! , เหม่!

        คำอุทาน   แสดงอาการ    ตกใจ ใช้คำว่า  ว๊าย ! ,  ตายจริง! , แม่หล่น! ,  พ่อหล่น! , ตาเถรตกกระโถน!,โอ๊ย!

        คำอุทาน   แสดงอาการ  ตื่นเต้น  ใช้คำว่า  โห! , โอ้โห! .โอ้โฮ!

        คำอุทาน  แสดงอาการ  เห็นใจ   ใช้คำว่า  โธ่! ,อนิจจา!,  อนิจจัง!
        คำอุทาน  แสดงอาการ  สงสัย    ใช้คำว่า    เอ๊ะ!

        คำอุทาน  แสดงอาการ  ไม่พอใจ ใช้คำว่า  อุบ๊ะ!

        คำอุทาน  แสดงอาการ  สงสาร   ใช้คำว่า  อนิจจา! , โถ!

        คำอุทาน  แสดงอาการ  โล่งใจ    ใช้คำว่า  เฮ้อ!

2. คำอุทานเสริมบท

             คำอุทานชนิดนี้มักแทรกอยู่ในบทประพันธ์   ใช้เขียนเป็นคำสร้อยคำประพันธ์ประเภทโคลง และร่าย

มักมีคำว่า  เอย,  แฮ ,  นา , โอ้ ,  ฮา , เฮย,  แล   เป็นต้น   หรือใช้อยู่หน้าคำ  หลังคำ   แทรกอยู่กลางคำ  คำอุทานเสริมบทอีกลักษณะหนึ่งคือใช้เน้นความหมายของคำนั้นให้เด่นชัดขึ้น  หรือเสริมคำให้ยาวออกไปโดยไม่คำนึงถึงความหมาย  อาทิเช่น เสื่อสาด, ไม่รู้ไม่ชี้ , วัดวาอาราม, ร้องห่มร้องไห้ ,  อาบน้ำอาบท่า , กินน้ำกินท่า   เป็นต้น

คำอุทานเสริมบท  แบ่งได้เป็น 3 ชนิด

1. ใช้เป็นคำสร้อยของบทประพันธ์   เช่น   เอย ,   แฮ ,  นา , โอ้,   ฮา,  เฮย , แล   เอ๋ย

ตัวอย่าง

โครงสี่สุภาพ(บทประพันธ์เรื่องลิลิตพระลอ)
        เสียงลือเสียงเล่าอ้าง          อันใด  พี่เอย

โครงสี่สุภาพ    (หัวใจนักปราชญ์)

        สุ.-สดับรดถ้อยท่าน          วิญญู-ชนเฮย

โคลงสี่สุภาพ   (พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5)

        บังอรอัคเรศผู้                  พิสมัย  ท่านนา     

นามพระสุริโยทัย                     ออกอ้าง

ทรงเครื่องยุทธพิชัย                  เช่นอุป-ราชแฮ

เถลิงคชาธารคว้าง                    ควบเข้าขบวนไคล

กลอนดอกสร้อย

       วังเอ๋ยวังเวง                      หง่างเหง่งย่ำค่ำระฆังขาน

ร่ายสุภาพ  จากโคลงนิราศนรินทร์ ของ นายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน)

        ศรีสิทธิ์พิศาลภพ  เลอหล้าลบล่มสวรรค์  จรรโลงโลกกว่ากว้าง  แผนแผ่นผ้างเมืองเมรุ  ศรีอยุธเยนทร์แย้มฟ้า...............ฯลฯ  เลี้ยงทแกล้วให้กล้า  พระยศไท้เทิดฟ้า เฟื่องฟุ้ทศธรรม  ท่านแฮ

2. ใช้เป็นคำแทรก หน้าคำ   ระหว่างคำ  หรือหลังคำ

 ตัวอย่าง      ก.เอ๋ย ก.ไก่

                  มาเถิดนาแม่นา     

                  โอ้อกเอ๋ย

3. ใช้เป็นคำเสริมหรือเน้นความหมายของคำนั้นให้เด่นชัดขึ้น  หรือเสริมคำให้ยาวออกไปโดยไม่คำนึงถึงความหมาย 

ตัวอย่าง

            วัดวาอาราม, ไม่รู้ไม่ชี้,  เข้าอกเข้าใจ, ร้องห่มร้องไห้,  อาบน้ำอาบท่า , กินน้ำกินท่า                                                                                 

หมายเลขบันทึก: 658620เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2018 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ธันวาคม 2018 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท