เมื่อ "ครูอยากรวย" ครูของครู(อาจารย์มหาวิทยาลัย)ก็อยากรวย ลืมนึกไปว่า ที่ตนเองอยากรวยนั้นแท้จริงคือการอยากมีความสุข แทนที่จะเน้นสอนให้ "คนอยากมีความสุข" แต่กลับไปสอนและปลูกฝังเหตุแห่งความทุกข์ที่แม้จะนำความสุขมาให้บ้างก็ผิดทางไปไกล ... การศึกษาไทยจึงมาถึงจุดที่
-
สอนให้คนอยากรวย ด้วยวิธีการต่าง ๆ สอนว่าต้องแข่งขัน เอาชนะ ต้องไม่เสียเปรียบ ต้องไม่ถูกเอาเปรียบ สอนให้หาโอกาส และฉวยโอกาส
-
สอนให้คนทิ้งถิ่น ทิ้งบ้านเกิด ยิ่งเก่งยิ่งหนีจากชุมชนตนเองเร็ว ใครอยู่หมู่บ้านจะถูกขนานนามกันทั่วชุมชนว่าเป็นคนไม่เอาไหน ไปไหนไม่ได้ ไปไหนไม่รอด คนที่ไปได้ไกล ร่ำรวยกลับมาปีละครั้ง ได้รับการยกย่องกล่าวถึงว่าดีเด่น เป็นเจ้าคนนายคน ความจริงหลาย ๆ คน จนและทุกข์มาก... อยากจะกลับไปแต่ก็ไม่กล้า เพราะ "หน้าตนเองมันใหญ่เกินไปเสียแล้ว"
-
ไม่เน้นปลูกฝังอุดมการณ์ เน้นเเฉพาะเรื่อง "เก่งงาน" (Hard skills) "เก่งเงิน" (Money Literacy) "เก่งคน" (Social Skills) โดยยึดถือเอาประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง ไม่ได้เน้นความสันโดษ รู้จักและพอใจในตนเอง ("เก่งตน") และไม่ได้มุ่งพัฒนาตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ... ล้มเหลวในการปลูกฝังอุดมการณ์ ครูหรือนักศึกษาจบใหม่ ไม่มีอุดมการณ์ใด ๆ มีแต่จะวิ่งหางานดีมีเงินเดือนเยอะที่ก่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิตของตนเองก่อน
-
ปล่อยให้ตั้งตนอยู่ในความสบาย ทุกคนมุ่งไปสู่ความสะดวกสบาย มีแหล่งเที่ยวกลางคืนรายล้อมสถานศึกษา ปัญหาอโคจรต่าง ๆ ตามมา อยากทำงานน้อยได้เงินเยอะ แล้วใช้เงินนั้นซื้อความสุข เมื่อตั้งตนอยู่ในความสบาย นอนตื่นสาย ๆ นอนดึก ๆ ไม่ได้ฝึกฝืนใจใด ๆ ปล่อยไปตามความพอใจ อกุศลจึงเจริญ "เมืองอวิชชาเจริญรุ่งเรือง" ... ผลคือ คนที่อยู่ในระบบการศึกษาแบบนี้ ยากมากที่จะกลับไปอยู่ในสังคมเรียบง่าย ลำบากกว่า ในพื้นที่ชนบท
การศึกษาแบบนี้เกิดมาเนื่องเพราะเชื่อระบบทุนนิยมเสรีมากกว่าจะเชื่อในเรื่องความดีที่ในหลวงทรงรัชกาลที่ ๙ ทรงสอน จึงเป็นไปได้ยากยิ่งที่จะทำให้คนไทยก้าวไปสู่ "ความพอเพียง" ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้จริง
