ชีวิตที่พอเพียง 3317. ตามเสด็จจันทบุรี 4. โรงพยาบาลสมเด็จพระปกเกล้า


 เช้าวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ เวลา ๘.๓๐ น. ขบวนคณะตามเสด็จออกจากโรงแรมมณีจันท์รีสอร์ท    ไปยังโรงพยาบาลจันทบุรี    ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ๗๕๐ เตียง

เนื่องจากมีเวลาจำกัดเพียง ๑ ชั่วโมง การนำเสนอจึงรวบรัดมาก    จัดอยู่ในห้องประชุมเท่านั้น    เริ่มจาก นพ. ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลถวายรายงานสั้นๆ ตามด้วย วีดิทัศน์ ประวัติและกิจการของโรงพยาบาล    แล้วเดินไปชมบอร์ดนิทรรศการ ๕ เรื่อง   ๗ บอร์ด    และมีเอกสารที่มีข้อมูลอย่างดีแจกมาอ่านภายหลัง

เดิมชื่อโรงพยาบาลจันทบุรี เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๔๘๓    ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี  ซึ่งประทับอยู่ที่วังสวนบ้านแก้ว ถูกมีดบาด    ทรงต้องการปลาสเตอร์ปิดแผล     จึงเสด็จไปที่โรงพยาบาลจันทบุรี    ได้เห็นความขาดแคลนล้าหลังของโรงพยาบาล  จึงทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ และบอกบุญแก่พระบรมวงศานุวงศ์และประชาชนทั่วไป สร้างตึกผ่าตัด    พระราชทานนามว่าตึกประชาธิปก    เปิดดำเนินการในปี ๒๔๙๙   และคณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลเป็น โรงพยาบาลพระปกเกล้า ในปีนั้น    โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จไปเปิดป้ายชื่อ ทั้งชื่ออาคาร และชื่อโรงพยาบาล ในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๙  

ศูนย์ศึกษาภาคคลินิกแห่งแรกของประเทศ     

ในปี ๒๕๒๑ ครม. ได้อนุมัติโครงการส่งเสริมการศึกษาแพทย์สำหรับชาวชนบท ที่เรียกกันย่อๆ ว่า โครงการ MESRAP ( Medical Education for Students in Rural Areas Project) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    และได้เลือกโรงพยาบาลพระปกเกล้าเป็นศูนย์ศึกษาภาคคลินิกของโครงการ  โดยในขณะนั้นผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้าคือ นพ. ชัยสิทธิ์ ธารากุล    ดำเนินการเรื่อยมาจนยุติในปี ๒๕๔๖ เพราะมีโครงการ CPIRD (Collaborative Project to Increase Rural Doctors)  เกิดขึ้นในปี ๒๕๔๐   ศูนย์ศึกษาภาคคลินิกของโครงการ MESRAP   จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิกอยู่ภายใต้ สบพช. (สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท)    เวลานี้มีศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก ที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขอยู่ทั่วประเทศ รวม ๓๗ ศูนย์  

ราวๆ ปี ๒๕๒๓ ผมมีโอกาสร่วมไปกับคณะศึกษาดูงานที่จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข  เชิญอาจารย์และผู้บริหารจากโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ไปดูงานความร่วมมือในการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทภายในประเทศหลายแห่ง  แห่งหนึ่งคือที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า    ครั้งนั้นผมได้เห็นศาลาเล็กๆ หน้าโรงพยาบาลเป็นที่พักอาศัยของญาติผู้ป่วยที่มาจากที่ไกลๆ และไม่มีเงินไปนอนโรงแรม   ผมจึงได้แนวความคิดไปชวนสโมสรโรตารี่สงขลาหาเงินสร้างอาคารที่พักค้างคืนของผู้ป่วยและญาติที่วัดโคกนาว  เมื่อเปิดโรงพยาบาลสงขลานครินทร์    ที่นำไปสู่การพัฒนาเป็นอาคารเย็นศิระ () ในปัจจุบัน     

งานสาธารณสุขชายแดน  จังหวัดจันทบุรี

ชายแดนระหว่างไทยกัมพูชามีการค้าขาย   มีคนติดต่อข้ามแดนไปมา    ย่อมมีการนำโรคติดต่อสู่กันได้   รวมทั้งมีคนนำสินค้าด้านสุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานมาจำหน่าย   ความร่วมมือทั้งด้านการบำบัดรักษาโรค    และป้องกันการระบาดของโรค    และป้องกันสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานจึงมีความสำคัญ    และเป็นเรื่องที่มีข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสองประเทศ    ในการดำเนินการ มีการจับคู่ความร่วมมือของโรงพยาบาลในสองประเทศสองคู่คือ โรงพยาบาลโป่งน้ำร้อนกับโรงพยาบาลไพลิน    และโรงพยาบาลสอยดาวกับโรงพยาบาลสำเภาลูน      

ศูนย์มะเร็งครบวงจร

มีการนำเสนอการสร้างตึกใหม่สูง ๑๐ ชั้น เพื่อใช้ส่วนหนึ่งเป็นศูนย์มะเร็งครบวงจร    สร้างเสร็จในเดือนมกราคม ๒๕๖๑   แต่ยังขาดครุภัณฑ์สำคัญที่ใช้ในการรักษามะเร็ง (เครื่อง LINAC) ซึ่งมีราคากว่าร้อยล้านบาท    ได้บอกบุญเรี่ยไรชาวบ้านได้เงินมาส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอ จึงยังไม่สามารถเปิดให้บริการศูนย์มะเร็งครบวงจรได้    

เรื่องนี้ เช้าวันรุ่งขึ้น ท่า รมต. สาธารณสุข ศ. นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร เล่าให้ผมฟังว่า    ท่านบอกกับ ผอ. รพ. พระปกเกล้าว่า เงินซื้อเครื่อง LINAC ที่ขาดอยู่ ๖๐ ล้านบาทนั้น    ให้ใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลครึ่งหนึ่ง    อีก ๓๐ ล้านจะขอจากคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ให้    เมื่อได้ฟังรายงานในที่ประชุม ท่านรัฐมนตรีได้เอ่ยขอเงินบริจาคจากคุณหญิง  ว่าขอครึ่งเดียว ๓๐ ล้าน   คุณหญิงตอบว่า บริจาคให้ทั้งหมด ๖๐ ล้านก็แล้วกัน  

การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

ผมได้ความรู้ว่า ช่วงสงครามดลกครั้งที่สอง ที่ขาดแคลนยามาก    กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้สร้างสวนสมุนไพรที่ ต. บ้านอ่าง  อ. มะขาม  จ. จันทบุรี    ที่ยังคงเป็นแหล่งสมุนไพรที่ อุดมสมบูรณ์มาจนทุกวันนี้

ในรายงานบอกว่า การทดลองใช้ตำรับยาสมุนไพรรักษาโรค ได้ผลดี ๒ โรคคือ โรคสะเก็ดเงิน  กับโรคตับแข็งเรื้อรัง     และทางโรงพยาบาลได้ส่งเสริมให้มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกสมุนไพรขึ้น ๓ กลุ่ม    เขาบอกว่าเป้าหมายคือ “พัฒนาและนำพาการแพทย์แผนไทยสู่ระดับสากล” 

เวลา ๙.๔๐ น. รถบัสพระที่นั่งก็ออกจากโรงพยาบาลพระปกเกล้า  ไปยังมหาวิทยาลันราชภัฏรำไพพรรณี

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ต.ค. ๖๑

1 นพ. ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ. รพ. กล่าวรายงาน

2 โปสเตอร์เสนอเรื่อง MESRAP

3 ความภาคภูมิใจของโครงการ MESRAP

4 นพ. ชัยสิทธิ์ ธารากุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (ุ้ริเริ่ม MESRAP

5 บอร์ดนำเสนอกิจการสาธารณสุขชายแดน

6 ผลงานวิจัยการแพทย์แผนไทย

7 กิจกรรมการแพทย์แผนไทย

8 น่าจะเป็นศาลานี้เมื่อเกือบสี่สิบปีที่แล้วที่เป็นที่มาของอาคารเย็นศิระ

หมายเลขบันทึก: 658448เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2018 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มกราคม 2019 05:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท