ความไม่รู้



บทความเรื่อง Unkonwn Unknowns : The Problem of Hypocognition (1)  ในวารสาร Scientific American Mind ฉบับเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑   แนะนำคำศัพท์วิชาการของ ความไม่รู้ว่า hypocognition (2)    ซึ่งหมายถึงการขาดคำหรือเครื่องมือสำหรับสื่อเรื่อง สิ่งของ หรือแนวความคิดนั้นๆ 

 “ความไม่รู้” ในที่นี้จึงหมายถึงความไม่รู้รวมหมู่ของกลุ่มคน ชุมชน หรือสังคม    เป็น  “ความไม่รู้” ระดับลึก ในลักษณะ “ไม่รู้ว่าไม่รู้” คือสมองบอดสนิทในเรื่องนั้นๆ     เป็นเรื่องทางจิตวิทยา  

เขายกตัวอย่างว่า คนอเมริกันสองในสามไม่เข้าใจเรื่องดอกเบี้ยทบต้น    จึงไม่สะสมเงินเอาไว้จ่ายซื้อของที่เป็นเงินก้อนใหญ่    แทนที่จะซื้อของแบบผ่อนส่ง เรื่องนี้ผมสงสัยมานานแล้ว    ตัวผมเองไม่เคยซื้อของแบบผ่อนส่งเลย     รวมทั้งตอนซื้อบ้านที่ปากเกร็ดเมื่อกว่า ๒๐ ปีก่อน    เงินไม่พอ ก็ใช้วิธียืมญาติ และให้ดอกเบี้ยแก่ญาติในอัตราขั้นสูงของธนาคาร    เพราะผมรู้ว่าธนาคารคิดดอกเบี้ยต่อการกู้สูงมาก    ยิ่งกู้ผ่อนส่งระยะยาว ยิ่งโดนดอกเบี้ยทบต้น  

หนึ่งในสามของคนเป็นเบาหวานในสหรัฐอเมริกา  ไม่รู้ว่าตนเป็นเบาหวาน ทั้งๆ ที่รู้ว่ารู้สึกปากแห้ง  ดื่มน้ำบ่อย  และถ่ายปัสสาวะบ่อย  รวมทั้งอาจสายตามัว     คนไทยยิ่งมีอัตราสูงกว่านี้  

ฝรั่งที่พูดภาษาอังกฤษจะบอกความต่างของสีโทนน้ำเงิน    เพราะเขามีคำว่า blue คำเดียว    ในขณะที่คำไทยเรามีสีฟ้ากับสีน้ำเงิน    คนที่ภาษามีการแยกคำบอกโทนสีจะบอกความต่างของสีได้ดีกว่า     นี่เป็นตัวอย่าง ไม่รู้เพราะไม่มีคำศัพท์  

ที่ลึกมากคือความไม่รู้ที่แฝงอยู่ในอารมณ์     ดังคำกลอน “ความรักคือโรคา บันดาลตาให้มืดมน”    ในบทความยกตัวอย่างไว้ดีมาก ในเรื่องความสัมพันธ์สามีภรรยา   

ลึกที่สุดคือความไม่รู้ที่แฝงอยู่ในเรื่องการเมือง     เพราะเรามีความจงรักภักดีต่อพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง  เราจึงมองเห็นแต่ข้อดีของนโยบายของพรรค    ไม่เห็นข้อบกพร่อง     เรื่องนี้ผมสงสัยมานานแล้ว ว่าทำไมคนเหนือและคนอีสานจึงชอบพรรคทักษิณ    ทั้งๆ ที่เห็นโทนโท่ว่าแกใช้อำนาจการเมืองแสวงประโยชน์เข้าตัวเพียงใด    ในบางลักษณะเป็นการทุจริตด้วยซ้ำ    โดยที่ศาลก็ตัดสินลงโทษไปแล้ว   

ในบทความเอ่ยถึงความไม่เข้าใจเรื่องความสุขทางเพศของคู่ผัวเมีย     ที่การไม่บรรลุความสุขกลายเป็นความอึดอัดขัดข้อง และนำไปสู่ความรุนแรง             

เมื่อมีคำว่า hypo   ก็ต้องมีคู่ตรงกันข้าม คือ hyper    รู้มากเกินไป    โดยที่ความพยายามแก้ปัญหาความไม่รู้ อาจนำไปสู่สภาพปัญหาที่เกิดจากรู้มากเกินไป    มีคำพูดล้อเลียนหมอว่า หากอยากเป็นโรคหัวใจก็ให้ไปเล่าอาการไม่สบายให้หมอโรคหัวใจฟัง    เป็น hypercognition เพราะรู้และหมกมุ่นกับเรื่องนั้นมากเกินไป    จนมองไม่เห็นด้านอื่น     เขาบอกว่า คนที่ตกอยู่ใต้ผลลบของ hypercognition มากที่สุดคือ “ผู้เชี่ยวชาญ”    

เขาบอกว่า คนที่พูดภาษาอังกฤษโดยทั่วไป เมื่ออายุ ๖๐ จะจดจำคำได้ประมาณ ๔๘,๐๐๐ คำ     โดยที่จะเคยผ่านคำมาประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ คำ    จะเห็นว่า สมองของเราเลือกจดจำคำเพียงไม่ถึงร้อยละสิบของคำที่เคยพบเห็น    สะท้อนภาพของการเลือกที่จะ “ไม่รู้” ของสมอง   

ผู้เขียนชื่อแรกคือ Kaidi Wu เป็นนักศึกษาปริญญาเอกด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน    ชื่อที่สองคือ ศาสตราจารย์ David Dunning ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน    เป็น experimental social psychologist   ที่ศึกษาเรื่องจิตวิทยาว่าด้วยความเข้าใจผิดของมนุษย์     

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ต.ค. ๖๑

      

หมายเลขบันทึก: 658449เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2018 18:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ธันวาคม 2018 18:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

This “…การเลือกที่จะ “ไม่รู้” ของสมอง …” lead me to consider “fake news”, “false witness”, “misinformation” and myriad of “fact rendering”, “interpretation”, intrapolation and extrapolation, …

A part of society development is always “education” of people at large. But ‘we’ and government after government have failed.

Gotoknow website has an article addressing this but no one really reads and helps.

เรียน อาจารย์

เป็นบันทึกหลากฟังก์ชั่นค่ะ ด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ ประสบการณ์ ฯลฯ ยากจะลอกเลียนแบบเอกลักษณ์ของอาจารย์แน่นอน ประทับใจมากค่ะ เหมาะสำหรับยุคสมัยนี้จริงๆเลยค่ะ ผสมผสานทุกรูปแบบ

ขอแสดงความนับถือคุณลิขิต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท