ชวนนิสิตจิตอาสาแก้ปัญหาขยะด้วยกระบวนการ 8R


ในปีการศึกษาที่ ๒/๒๕๖๑ นี้ จะมีนิสิตลงทะเบียนเรียนรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน กว่า ๗,๐๐๐ คน ถ้านิสิตทุกคนเกิดจิตอาสามาร่วมกันแก้ปัญหาขยะในชุมชนมหาวิทยาลัย (ปัญหาว่าไว้ที่นี่) จะเกิดการเปลี่ยแปลงขนานใหญ่ 

บันทึกนี้ขอเสนอกระบวนการแก้ไขปัญหาขยะด้วยกระบวนการ 8R เพื่อจะได้ขับเคลื่อนให้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับนิสิตทั้ง ๗,๐๐๐ คน ด้วยกลไกการจัดการเรียนรู้ของรายวิชา 

จากการศึกษาพบว่า การขับเคลื่อนส่วนใหญ่ที่ผ่านมา จะเน้นใช้กระบวนการ 3R คือ Reduce Reuse และ Recycle  และเกิดผลดีขณะรณรงค์หรือขับเคลื่อน แต่ขาดความยั่งยืน ไม่สามารถลดปริมาณขยะได้จริง (ขยะเพิ่มขึ้นทุกปี สรุปไว้ที่นี่) ... แม้ว่าการขับเคลื่อนแบบ 3R จะมีจุดเด่นที่จำง่ายและใกล้ตัว แต่เพราะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุของปัญหา จึงเป็นธรรมดาที่จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้

การรณรงค์ต่อไป บางโครงการใช้กระบวนการ 5R  โดยเพิ่ม Repair มากระตุ้นให้ประหยัดขยะชิ้นใหญ่ และเพิ่ม Reject เพื่อปฏิเสธไม่ก่อขยะมีพิษ ในภาพรวมก็ยังไม่สามารถแก้ขยะส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นได้ บางโครงการเสนอกระบวนการ 7R ได้แก่ Refuse Recycle Reuse Refill Repair Return และ Reduce ล้วนแต่เป็นโครงการที่ดี ...

กระบวนการ 8R เด่นที่การเน้นกระบวนการเรียนรู้ และ การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ดังจะอธิบายในรายละเอียดต่อไปนี้ 

๑) Relearn

เราถูกปลูกฝังให้ "ทิ้งขยะลงถัง" มาตั้งแต่เด็ก และเข้าใจกันทั่วไปว่า ขยะคือของเหลือจากที่ตนเองใช้ ทุกสิ่งอย่างที่ตนเองใช้เหลือและไม่ต้องการคือขยะ เมื่อมีขยะก็จะ "มองหาถังขยะ" เพียงแค่ได้ทิ้งลงถังก็จะรู้สึกว่าเป็นเด็กดี คนดี ได้ทำหน้าที่ของตนเองแล้ว ... วิธีการแก้ปัญหาขยะจึงมุ่งไปที่การจัดหาถังขยะให้เพียงพอ 

ความเข้าใจดังที่ว่ามานี้ ต้องเปลี่ยนใหม่ ต้องเรียนรู้ใหม่ ต้องเข้าใจใหม่ ว่า "ขยะไม่ใช่ของเหลือใช้ แต่เป็นของที่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้จริงๆ เท่านั้น" (ผู้ที่ปรับและขับเคลื่อนเรื่องนี้มากว่า ๑๕ ปี คือ ดร.ไพบูลย์ โพธิ์สุวรรณ ผมสรุปไว้ที่นี่) โดยเฉพาะวัสดุอินทรีย์ ไม่ใช่ขยะเด็ดขาด สามารถนำไปทำปุ๋ย ทำก๊าซได้ 

    ๒) Reject

    จากการไปลงพื้นที่บ่อขยะหนองปลิง อบต.หนองปลิง ซึ่งเป็นจุดจัดการขยะของเทศบาลเมืองและขยะจากหลาย ๆ ชุมชนรอบ ๆ พบว่า ขยะส่วนใหญ่คือถุงก๊อปแก๊ป พลาสติก และโฟม เกือบทั้งหมดเป็นภาชนะ ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาแบบตรง ๆ เลย คือ เราต้องปฏิเสธ (Reject) ไม่ใช้ภาชนะ " ไม่จำเป็นจริง ๆ ไม่ต้องใช้ภาชนะ ภาชนะคือขยะส่วนใหญ่ในบ่อขยะหนองปลิง" ... Reject ในกระบวนการ 5R ใช้ปฏิเสธการก่อขยะมีพิษ แต่ Reject ในกระบวน 8R นำมาใช้กับภาชนะโดยตรง 

    ๓) Reduce

    การ Reduce ในกระบวนการ 3R มีความหมายครอบคลุม Reject แบะ Reduce ในกระบวนการ 8R นี้  เพื่อจะเน้นส่งเสริมให้นิสิตปฏิเสธการรับถุงก๊อปแก๊ปจากร้านค้า ร้านอาหาร และร้านสะดวกซื้อ จึงฝึกคิดที่จะ Reject ก่อนจะ Reduce หมายถึง ถ้าปฏิเสธได้ให้ปฏิเสธ ปฏิเสธไม่ได้ก็ใช้เพียงแต่น้อย 

    จากการทดลองทดลองขับเคลื่อนกับนิสิตในรายวิชา ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ นิสิตสะท้อนว่า วิธีการแก้ปัญหาปริมาณขยะด้วยการลด ทำได้ด้วยการ "พกติดตัวถุงผ้า น้ำแก้วมามหาวิทยาลัย และเอากล่องมาใส่ข้าวตลาดน้อย" 

    • นิสิตทุกคนพกถุงผ้าติดตัว  
    • ในถุงผ้ามีแก้วน้ำ อาจเป็นแก้วพลาสติกประจำตัว เมื่อไปซื้อน้ำ ซื้อกาแฟ ก็ใช้แก้วนี้แทน ... นิสิตสะท้อนว่า ได้ลดราคา ๒ บาทบ้าง ๕ บาทบ้าง 
    • ในถุงผ้ามีกล่องข้าว (กล่องเปล่า) เมื่อไปซื้อข้าวแกงที่ตลาดน้อย (ชื่อโรงอาหารกลางของ มมส.) ให้แม่ค้าตักใส่กล่องที่พกมานี้แทน ... นิสิตสะท้อนว่า ได้เพิ่มข้าวฟรี บางที่มีลดราคาให้ด้วย 

    ๔) Reuse

    วัสดุพลาสติกทั้งหลาย ให้นิสิตใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้อีก  โดยระลึกว่า วัสดุพลาสติกเกือบทั้งหมดไม่ใช่ขยะ "ใช้แล้วให้ใช้ซ้ำ ย้ำกับตนเองว่าจะนำกลับมาใช้อีก" แนวทางที่ควรจะขับเคลื่อนคือ 

    • การสาธิตการล้างคว่ำตากถุงพลาสติกทั้งหลาย 
    • การพับถุงพลาสติก เพื่อลดปริมาตร ประหยัดเนื้อที่จัดเก็บ 
    • ให้ความรู้ว่า วัสดุพลาสติกทั้งหลาย หากทิ้งไปจะอยู่ได้นานถึง ๔๕๐ ปีทีเดียว 

    ๕) Repair

    สำหรับวัสดุพลาสติก เครื่องใช้ อุปกรณ์ต่าง ๆ  "่หากใช้แล้วชำรุดให้ลองซ่อมด้วยตนเองดู หากเอาไม่อยู่ค่อยส่งช่าง หรือบริจาคต่อไป" มีผู้ขาดแคลนของใช้จำนวนมากรออยู่

    ๖) Recycle

    วัสดุพลาสติกทั้งหมด สามารถนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด แม้บางอย่างต้นทุนในการรีไซเคิลอาจยังไม่คุ้มค่าเขาจึงไม่รับซื้อ  ความจริงวัสดุรีไซเคิลไม่ใช่ปัญหา เพราะที่บ่อขยะหนองปลิง มีชาวบ้านผู้ทำงานเลี้ยงชีพด้วยการคัดแยกขยะรีไซเคิลอยู่แล้ว  และแม้บ้านของทุกอาคารหอพักหรือร้านอาหาร ต่างต้องการนำไปขายอยู่แล้ว ... ดังนั้นขยะรีไซเคิลที่ค่อนข้างมีราคา เช่น ขวดพลาสติกไส ขวดพลาสติกแข็งขุ่น กระดาษ โลหะต่าง ๆ เหล่านี้จึงไม่ใช่ปัญหา

    ปัญหาอยู่ที่การไม่ได้คัดแยกขยะรีไซเคิลออกมา นำไปทิ้งรวมกันในถุงดำ  ทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ออกค้นหาขยะรีไซเคิล ต้องฉีกถุง เมื่อฉีกถุงจึงเก็บขนลำบาก และสำคัญคือเหม็น นั่นเอง 

    ดังนั้น วิธีการ Recycle ของนิสิต มมส. ควรทำคือ "วัสดุรีไซเคิล ให้ล้าง คว่ำ ผึ่งให้แห้ง จะมีคนแย่งไปซื้อ หรือนำไปบริจาค" 

    ๗) Recreate

    Recreate คือ นำขยะมาสร้างผลิตภัณฑ์เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ไปใช้ประโยชน์กับเรื่องใหม่ แนวทางนี้ เหมาะสำหรับการใช้เป็นกิจกรรมกาาเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของนิสิตมาก ๆ  

    ๘) Reflect

    Reflect คือ การสะท้อนการเรียนรู้ (Learning Reflection) ว่าที่ผ่านมา " ฉันได้เรียนรู้อะไรจากทั้ง 7R นั้น ฉันพัฒนาตรงไหน อะไรที่ฉันทำได้ดีขึ้น"  แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ยกระดับความรู้ พัฒนา และวิจัย  รวมถึงการวางแผนแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง 

    วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๑ นี้ ขอสิ่งจงดลใจให้อาจารย์ผู้สอนรายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ทุกคนเห็นด้วยกับแนวทางนี้ และมีจิตอาสาที่จะมาร่วมกันขับเคลื่อนอย่างจริงจังครับ 

    หมายเลขบันทึก: 658444เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2018 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ธันวาคม 2018 09:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (2)

    รู้เพิ่มอีกหลายอย่างเลย.. RELEARN RECREATE REFLECT

    ขอบคุณความรู้ครับ!

    ร่วมด้วย ช่วยกัน ปัญหาขยะ เป็นหน้าที่ของทุก ๆ คน ในชาติ ที่ต้องร่วมแรงแข็งขันกันแก้ปัญหาจ้ะ

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท