นักเรียนผี! คอร์รัปชั่น..กับ“การบริหารแบบมีส่วนร่วม”


นักเรียนผีทำให้ยอดนักเรียนสูงขึ้น หมายถึงงบประมาณจัดการศึกษาที่รัฐจ่ายให้ตามรายหัวก็จะเพิ่มขึ้นด้วย คอร์รัปชั่นที่โรงเรียนไม่ใช่มีเฉพาะนักเรียนผี แต่เรื่องนี้เป็นต้นน้ำหรือต้นทุนสำคัญ ซึ่งบ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในโรงเรียนนั้นๆ

นักเรียนผีเป็นที่โจษจัน ก่อนหน้าเคยได้ยินบางคนแดกดัน “บ้านเราสามารถพบเห็นความไม่ถูกต้องได้ตั้งแต่ออกจากบ้าน” “ถ้าไม่มีเรื่องพวกนี้ถนนหลายสายปูด้วยทองคำไปแล้ว” คอร์รัปชั่นเป็นปัจจัยสำคัญเชิงลบ ทำให้การพัฒนาในหลายเรื่องล้าหลัง การศึกษาก็อย่างหนึ่ง

เรามักได้ยินเรื่องแย่ๆพวกนี้จากสื่อไม่เว้นแต่ละวันและแทบทุกกระทรวง ทบวง กรม ยิ่งไปกว่านั้นการที่นักเรียนผีเกิดขึ้นที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)โดยเฉพาะที่โรงเรียน เป็นความเลวร้ายอย่างที่สุด เหตุเพราะโรงเรียนเป็นสถานที่สร้างหรือพัฒนาคน ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน โรงเรียนจึงควรเฟ้นไว้เฉพาะเบ้าหลอมที่ดี

เราทุ่มเทงบประมาณไปกับการจัดการศึกษาไม่ต่างจากประเทศที่มีสัมฤทธิผลดีทั้งหลาย แต่ผลลัพธ์กลับยักแย่ยักยันมาโดยตลอด ด้วยผลการประเมินทั้งในและนอกประเทศซึ่งสังคมมักวิพากษ์ เคราะห์ซ้ำกรรมซัด วันนี้ฉาวโฉ่ไปด้วยคอร์รัปชั่น อาจเป็นคำตอบหรือร่องรอยหลักฐานชั้นดี “ใยเด็กๆเราสู้เขาไม่ได้ ทั้งที่งบประมาณค่าใช้จ่ายไม่น้อยหน้าประเทศอื่นแล้ว”

นักเรียนผีเป็นนักเรียนไม่มีตัวตนจริงในโรงเรียน เป็นตัวเลขเสกสรรปั้นแต่งขึ้น เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง ได้แก่ งบประมาณรายหัว โอกาสย้ายของผู้บริหาร ล่าสุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) สำรวจหาข้อมูลเรื่องนี้ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีข้อสรุป“รูปแบบการกระทำดังกล่าวเป็นไปได้ที่จะเกิดกับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ทั่วประเทศ” น่าเศร้าใจกับเรื่องราวของผู้มีหน้าที่หล่อหลอมคนให้เป็นคนดี

ปัจจุบันการรายงานจำนวนนักเรียนเพื่อรับจัดสรรงบประมาณรายหัว ในรอบปีการศึกษาโรงเรียนจะดำเนินการอยู่สองครั้ง ทุกวันที่ 10 มิถุนายนและ10 พฤศจิกายน ด้วยระบบการจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (Data Management Center ; DMC) ซึ่งเป็นการรายงานแบบออนไลน์ โดยเขตพื้นที่การศึกษาจะรวบรวมข้อมูลจากโรงเรียนทั้งหมดส่งต่อให้ สพฐ.

อันที่จริงระบบ DMC ตรวจสอบความซ้ำซ้อนเลขประจำตัวประชาชนนักเรียนเก่งมาก โดยเฉพาะโรงเรียนสังกัดสพฐ.ด้วยกัน แต่ความคดโกงก็ยังเกิดขึ้น ยิ่งตระหนักถึงความสำคัญของโรงเรียนในการสร้างคนดี อะไรจะเหนือความฉ้อฉลคน เทคโนโลยีที่ว่าก้าวหน้าทันสมัยก็เถอะ การพัฒนาให้ถึงก้นบึ้งของหัวใจ จึงเป็นความท้าทายของการจัดการศึกษา ถ้าจิตใจยังไม่ดี ลำพังกฎหมายป้องกันคนทำชั่วไม่ได้

นักเรียนผีทำให้ยอดนักเรียนสูงขึ้น หมายถึงงบประมาณจัดการศึกษาที่รัฐจ่ายให้ตามรายหัวก็จะเพิ่มขึ้นด้วย คอร์รัปชั่นที่โรงเรียนไม่ใช่มีเฉพาะนักเรียนผี แต่เรื่องนี้เป็นต้นน้ำหรือต้นทุนสำคัญ ซึ่งบ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในโรงเรียนนั้นๆ

ตัวอย่างอีกหลายเรื่องจึงส่อเจตนา ถ้าไม่ใช่หน่วยงานทำหน้าที่ตรวจสอบโดยตรง เช่น ป.ป.ท. ก็ยากจะหาหลักฐานเอกสารมากล่าวโทษ ทั้งที่ง่ายมากหากสังเกตและพิจารณาพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น อาทิ เปลี่ยนร้านซื้อวัสดุครุภัณฑ์ ทั้งที่ราคาสินค้าหลายๆอย่างแพงกว่า เปลี่ยนบริษัทประกันอุบัติเหตุเลือกที่เก็บเบี้ยประกันสูงแถมความสะดวกในการเบิกจ่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุของนักเรียนลดลง สั่งซื้อสมุดมากมายกว่าจำนวนนักเรียนจนเหลือกองพะเนิน หรือผูกขาดขายน้ำดื่มบรรจุขวดเสียเอง ขณะเครื่องกรองน้ำดื่มปกติของโรงเรียนมักเสียหรือใช้งานไม่ได้อยู่บ่อยๆ ฯลฯ

อีกประการที่เกี่ยวข้อง ระเบียบการย้ายผู้บริหารไม่สามารถย้ายข้ามขนาดโรงเรียน เกณฑ์ปัจจุบันจำแนกโรงเรียนจากยอดนักเรียนได้เป็น 4 ขนาด ได้แก่ เล็ก กลาง ใหญ่ และใหญ่พิเศษ ผู้บริหารจะย้ายจากโรงเรียนเล็กไปใหญ่หรือกลางไปใหญ่พิเศษไม่ได้ จากเล็กต้องไปกลางหรือจากกลางต้องไปใหญ่ก่อนเท่านั้น เป็นที่มาทำให้ผู้บริหารบางคนเห็นผิดเป็นชอบ ยิ่งเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกถึงสองตัว ความละโมบของคนไม่เข้าใครออกใครเสียด้วย

ที่กล่าวมาทั้งหมดเพียงอยากบอก แม้การบริหารโรงเรียนทุกวันนี้จะเป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษา พุทธศักราช 2542 ด้วยรูปแบบคณะกรรมการสถานศึกษา มองผิวเผินดูดี คงร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย แต่การปฏิบัติจริงที่โรงเรียนแล้วตรงข้าม ผู้บริหารยังคงมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวไม่ต่างจากก่อนพระราชบัญญัติฯประกาศใช้ นับเป็นความสุ่มเสี่ยงต่อความผิดพลาดอันอาจเกิดขึ้น นักเรียนผีที่ปรากฏเป็นกรณีศึกษาชัดเจน แน่นอนว่าผลกระทบท้ายสุดย่อมตกไปอยู่กับเด็กตาดำๆหรือลูกหลานของพวกเราอีกเช่นเคย

โดยสรุปการแก้ไขนักเรียนผีหรือคอร์รัปชั่นที่โรงเรียนให้ยั่งยืน ต้องสร้างหรือพัฒนาการบริหารจัดการที่ดีให้เกิดขึ้นจริง ด้วยการเร่งถอดบทเรียนถึงเหตุปัจจัยที่เป็นอุปสรรคปัญหาในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสถานศึกษาปัจจุบัน เพื่อนำข้อมูลความรู้ที่ได้ไปใช้ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริหารภายในโรงเรียนอย่างจริงจัง

การบริหารแบบมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียตามหลักคิดของพระราชบัญญัติการศึกษา 2542 จะสร้างความร่วมมือร่วมใจ ร่วมคิดร่วมทำ นำไปสู่การตรวจสอบถ่วงดุล ลดทอนอำนาจ เกิดความสะอาดโปร่งใสได้ในที่สุด

(พิมพ์ในมติชนรายวัน, 11 ธันวาคม 2561)

หมายเลขบันทึก: 658437เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2018 23:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2018 23:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ยุคคนเสื่อมครับอาจารย์ … ผมเขียนบันทึกเพื่อส่วนรวม มีคนอ่านน้อยมาก หลักสิบ แต่เมื่อเขียนบันทึกประโยชน์ส่วนตัวของผู้อ่านอันหนึ่ง มีคนอ่านกว่า ๒ หมื่นครั้งในเวลา ๕ วัน….. คนที่อ่านล้วนเป็นอาจารย์สอนคน …. โลกเรากำลังถูกสอนด้วยบุคลากรที่เอาประโยชน์ตนเองเป็นที่ตั้ง…..

“โลกเรากำลังถูกสอนด้วยบุคลากรที่เอาประโยชน์ตนเองเป็นที่ตั้ง” ข้อมูลตัวเลขชัดเจนเลยนะครับอาจารย์ ยิ่งเกิดขึ้นกับคนที่ทำหน้าที่หล่อหลอมคนด้วย

สังคมทุกวันนี้อาจต้องต่อสู้ดิ้นรนมากกว่าแต่ก่อน ทรัพยากรน้อยลง คนมากขึ้น ปฏิสัมพันธ์ลด อาศัยพึ่งพากันน้อยลง ด้วยความที่เป็นปัจเจกฯมากขึ้น..ลองคิดถึงที่มาที่ไปครับ!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท