ปัญหาระบบกระดูกในผู้สูงอายุ


  ปัญหาระบบกระดูกในผู้สูงอายุ 

                                   อ.สายฝน อินศรีชื่น

  ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลายระบบ ทั้งลักษณะและการทำหน้าที่ของร่างกายที่เสื่อมลง ส่งผลให้ความสามารถในการเคลื่อนไหว และการทำกิจกรรมต่างๆของผู้สูงอายุลดลง การวางแผนดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบกระดูกอย่างถูกต้อง และการช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมได้ ช่วยให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิต  และมีความพึงพอใจในชีวิตตามศักยภาพของแต่ละคนได้

สาเหตุของการเกิดปัญหาของระบบกระดูก มีได้หลายสาเหตุ ที่พบได้บ่อย ได้แก่

  1. อายุ เซลล์กระดูกจะเสื่อมลงตามธรรมชาติเมื่ออายุสูงขึ้น การลดน้อยลงของฮอร์โมนเพศที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานของเซลล์กระดูก ดังนั้นโรคกระดูกเสื่อม/โรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุจึงพบในผู้หญิงได้สูงกว่าในผู้ชาย จากการที่ผู้หญิงมีวัยหมดประจำเดือน ทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงทำให้โรคกระดูกพรุนเป็นโรคกระดูกที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงสูงอายุ

2. อุบัติเหตุต่างๆ เช่น การใช้รถใช้ถนน การกีฬา การลื่นล้มในบ้าน แม้แต่การนอนบนเตียงหากมีภาวะกระดูกพรุนการเคลื่อนย้านที่ผิดวิธีก็ส่งผลทำให้กระดูกหัก โดยกระดูกชิ้นที่พบเกิดการหักได้บ่อย คือ กระดูกข้อมือ กระดูกสันหลัง และกระดูกสะโพก

3. ภาวะขาดอาหาร โดยเฉพาะอาหารโปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามิน ดี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างกระดูก

4.การติดเชื้อโรค โดยมักเป็นผลข้างเคียงตามมาจากกระดูกหัก หรือการมีบาดแผลในเนื้อเยื่อที่ติดกับกระดูก เช่น การติดเชื้อกระดูกกรามจากโรคเหงือกอักเสบ หรือเกิดร่วมกับภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต

อาการโรคกระดูก

  1. ปวดตามข้อ ผู้สูงอายุจะมีอาการปวดข้อ เบื่ออาหาร มีไข้ มีอาการเหนื่อย เมื่อยล้า ไม่มีความสนใจในการทำกิจกรรมใดๆ

2. อาการข้อติดแข็ง โดยพบอาการในช่วงเช้าเป็นเวลา 1-2 ชั่วโมง และจะมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง

3. ความผิดปกติของการเดิน และการทรงตัว 

4. รูปร่างกระดูกผิดรูป

การวินิจฉัยโรคกระดูก
        แพทย์วินิจฉัยโรคกระดูกจาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจภาพกระดูกตำแหน่งเกิดอาการด้วยเอกซเรย์กระดูก และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ การตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก (Bone density scan, DEXA) การตรวจเลือดดูค่าฮอร์โมนต่างๆ เมื่อสงสัยโรคของต่อมใต้สมอง และอาจมีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาเมื่อมีก้อนเนื้อ
        ความรุนแรงของโรคกระดูกขึ้นกับสาเหตุ เช่น โรคกระดูกพรุนไม่ทำให้เสียชีวิต แต่โรคมะเร็งกระดูก หรือโรคมะเร็งที่แพร่กระจายมากระดูก มีความรุนแรงสูงเป็นสาเหตุเสียชีวิตได้ ผลข้างเคียงจากโรคกระดูกทุกสาเหตุ คือ การเสียคุณภาพชีวิตจากอาการปวด การไม่สามารถเคลื่อนไหวใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เสี่ยงต่อการเกิดการพลัดตกหกล้ม และเกิดอุบัติเหตุ

การดูแล

 1.รับประทานแคลเซียมและวิตามินดี เพื่อให้กระดูกคงสภาพที่ดีและลดความเสี่ยงต่อกระดูกหัก

- ปริมาณแคลเซี่ยมที่ร่างกายของผู้ที่มีอายุ มากกว่า 50 ปี ต้องการ เท่ากับ 1,200 มิลลิกรัม ต่อวัน โดยอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมมากได้แก่ ผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า บร็อคโคลี่ นมและผลิตภัณฑ์ของนม ปลาซาร์ดีนพร้อมกระดูก ปลาตัวเล็กๆพร้อมกระดูก กุ้งแห้ง เต้าหู้แข็ง งาดำ กะปิ

          - วิตามินดี มีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียม โดยร่างกายต้องการ วิตามินดี วันละ 200-600 หน่วย ซึ่งในนม 1 แก้ว จะมีวิตามินดี 100 หน่วย และมีแคลเซียม 300 มิลลิกรัม ซึ่งวิตามินสามารถรับจากแสงแดดอ่อนตอนเช้าได้ด้วย

 2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ จะทำให้กล้ามเนื้อรอบๆ ข้อนั้นๆ มีความแข็งแรง และช่วย

ผ่อนแรงกระแทกที่กระทบกับข้อโดยตรง ยังช่วยทำให้ข้อสึกช้าลง หรือช่วยควบคุมแนวการรับน้ำหนักของข้อนั้น

ๆ ให้อยู่ในแนวที่ตรงขึ้น ทำให้ข้อรับน้ำหนักน้อยลง การออกกำลังกายแบบแอโรบิค ยังช่วยทำให้สามารถควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป

3. การลดน้ำหนัก หรือการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ถือเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญที่สุดเพราะน้ำหนักเกินเป็นสาเหตุที่ทำให้ข้อกระดูกเสื่อม และทำให้การดำเนินโรคเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น เนื่องจากข้อต่างๆ ของร่างกายต้องรับแรงมากกว่าปกติ 

    หมายเลขบันทึก: 658434เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2018 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ธันวาคม 2018 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท