บันทึก Transformative Learning


ไม่น่าเชื่อแต่ต้องเชื่อว่า พอดิฉันเปลี่ยนคนรอบข้างของดิฉันก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

อ. นพ. ดร. บดินทร์ ทรัพย์สมบูรณ์ ส่ง reflection ของผู้เข้าร่วมประชุมปฏิบัติการ Transformative Learning มาให้ ผมขออนุญาตเอามาเผยแพร่ต่อ ดังต่อไปนี้

Workshop: Transformative Learning Skills - Self Discovery I & II

บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล 

ต.ค. - พ.ย. 2561

------------------ Reflection (1) ------------------ 

1. ประสบการณ์การฟังอย่างลึกซึ้ง

     ก่อนที่ข้าพเจ้าจะสมัครเข้าร่วมโครงการsoft skill ในหัวข้อ Transformative Learning skill  ข้าพเจ้าได้คิดว่าไม่อยากมาร่วมอบรม และฟังจากเพื่อนว่ามาอบรมให้ครบๆตามที่บัณฑิตวิทยาลัยกำหนด ก็วาดภาพการอบรมในสมองว่าก็มานั่งฟังไปง่วงก็หลับ  อาจารย์มาบรรยาย บรรยายไปเรื่อยๆ ก็คงเหมือนกับโครงการอบรมธรรมดาทั่วไป ข้าวปลาอาหารก็มีเลี้ยงก็ดีเหมือนกันจึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมอบรม 

    แต่เมื่อข้าพเจ้าเข้าร่วมอบรมแล้ว ข้าพเจ้าได้เห็น  ได้ยินสิ่งแปลกใหม่ที่ข้าพเจ้าไม่เคยเรียนในชั้นเรียนที่ไหน หรือการอบรมที่ผ่านมาของข้าพเจ้าเลย เริ่มตั้งแต่ที่ทานวิทยากรถามคำถามให้ชวนคิด มีกิจกรรมที่กระตุ้นความคิด คำพูดของท่านสะกิดสิ่งที่เป็นตัวข้าพเจ้า  แต่ข้าพเจ้าปิดบังสิ่งนั้นตลอดเวลา ทำให้ข้าพเจ้ารู้จักตัวเองมากขึ้น ทำกิจกรรมที่มีแต่รอยยิ้มมีความสุข  กิจกรรมแต่ละช่วงกระตุ้นทั้งความคิด การฟัง ข้าพเจ้ารู้จักการฟังอย่างลึกซึ้ง  ไม่ด่วนตัดสินใจใคร 

     ข้าพเจ้าได้นำสิ่งที่ได้เรียนมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันจริง คือ มีเพื่อนร่วมงานมาเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่ามีคนมาสายเป็นประจำเลย  ดูสิเค้าเป็นคนไม่มีระเบียบวินัย กินแรงคนอื่น  ถ้าเป็นตอนที่ข้าพเจ้ายังไม่เข้าร่วมอบรมก็จะคิด  ตัดสินใจเหมือนเพื่อนเลย  แต่หลังจากที่ข้าพเจ้าเข้าร่วมอบรมข้าพเจ้าได้เปลี่ยนแปลงความคิดไป ข้าพเจ้าไม่ด่วนตัดสินใจใครฟันเฟืองในสมองหมุนช้าลง  เพื่อนร่วมงานคนนั้นคงมีเหตุผลที่เรายังไม่รู้หรือเปล่าที่ทำให้เค้าต้องมาสายเป็นประจำ เช่นไม่มีใครไปส่งลูกในช่วงนี้ เค้าต้องไปส่งก่อนที่จะมาทำงานหรือไม่ หรือเค้ามีสาเหตุอื่นรถเสียไม่มีรถใช้ในช่วงนี้  เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่ทำให้ความคิดของข้าพเจ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหัวข้อนี้  

   ข้าพเจ้าคิดว่าตัวเองเป็นคนเก่ง จึงมีความกลัวต่อความล้มเหลว  กลัวความผิดหวังในชีวิต จึงดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย ดำเนินชีวิตในกรอบ  ดำเนินชีวิตตามลำดับขั้นตอน ดำเนินชีวิตแบบเดิมๆ ไม่กล้าก้าวออกจาก comfort zone จนวันหนึ่งข้าพเจ้าได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ในองค์กรให้ทุนเรียนต่อในระดับปริญญาโท  

   สิ่งที่ข้าพเจ้าคิดในตอนนั้นความคิดวนเวียนไปมา จะเรียนได้เหรอ เทคโนโลยีก็ก้าวหน้าไปมาก  นำเสนอก็ไม่ใช่ส่งที่ถนัด เรียกได้ว่ากลัวไปซะทุกอย่าง  อีกทั้งกลัวที่จะเรียนไม่จบอายคนอื่น คิดว่ามันยาก  กลัวต้องปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ เจออะไรใหม่ๆ ไม่อยากก้าวออกจาก comfort zone ตัวเอง ทำงานถึงแม้จะเหนื่อยแต่ก็เป็นสิ่งที่เราทำได้  คุ้นเคย เพื่อนที่ทำงานให้การยอมรับ   

   ข้าพเจ้ารู้สึกซึมเศร้ามากในช่วงที่ทำงานในสัปดาห์สุดท้ายของการทำงาน จนไม่อยากมาเรียน แต่ตัดสินใจมาเพราะเพื่อนที่ทำงานจบปริญญาโท อยากเจริญก้าวหน้าตามประสาคนเก่ง

จากที่ว่าคิดว่าเรียนไปงั้นๆ เรียนไปเพราะให้จบโทเหมือนคนอื่นเค้า ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าคิดถูกที่ได้มาเรียนในระดับปริญญาโท เพื่อเป็นการพัฒนาความคิดของตนเอง  พัฒนาความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวไปไกลมาก ได้รู้จักองค์ความรู้ใหม่ๆสิ่งเป็นการพัฒนาตนเอง   การเรียนในระดับปริญญาโททำให้ข้าพเจ้ากล้าแสดงออกมากขึ้น เพิ่มศักยภาพในตัวเองจากเดิมที่มีความคิดว่าสิ่งนั้นข้าพเจ้าก็ทำไม่ได้ สิ่งนี้ก็ไม่ได้ 

   ข้าพเจ้าก็ทำได้ทุกอย่างหมั่นฝึกฝน แม้จะช้าสักหน่อยแต่ก็ทำได้  ภูมิใจกับการก้าวออกมาจาก comfort zone ครั้งนี้คุ้มซะยิ่งกว่าคุ้ม  อีกทั้งการที่ข้าพเจ้าได้เรียนในคอร์สนี้ได้นำมาปรับความคิดของข้าพเจ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

พ.ย 61

------------------ Reflection (2) ------------------ 

2. สิ่งที่ได้เรียนรู้

     จากที่หนูได้ไปอบรมมาสองครั้ง หนูรู้สึกว่ามุมมองการใช้ชีวิต มุมมองความคิดของหนูเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หลังจากที่หนูไปอบรมมาครั้งแรก หนูได้กลับมาเล่าให้อาจารย์ที่ปรึกษาฟัง จากสิ่งที่หนูได้เรียนรู้ และบอกกอาจารย์ที่ปรึกษาว่ามันดีมากๆเลยค่ะ มันทำให้หนูได้ค้นพบอะไรหลายๆอย่างด้วยตัวเอง ทำให้ตัวเองรู้จักข้อจำกัดตัวเองมากขึ้น และรู้สึกว่าจริงๆแล้วข้อจำกัดบางอย่างของเรา ก็มีคนอื่นเป็นเหมือนกัน มันก็เลยไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นอยู่คนเดียว ได้รับฟังข้อจำกัดของคนอื่นจากการที่เค้าแชร์ให้ฟัง ซึ่งก็รู้สึกว่าแต่ละคนเค้าก็มีข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป และได้เรียนรู้วิธีที่จะกำจัดข้อจำกัดเหล่านั้นออกไป ซึ่งมันดีมากๆเลยค่ะ 

     เพราะจากการอบรมครั้งแรก หนูก็ได้มาลองใช้กับน้องในแลปบางคน ที่ดูเหมือนไม่มีเป้าหมาย ก็ทำให้เค้าเป็นคนที่คิดจะมีเป้าหมายมากขึ้น และก็มีน้องแลปบางคนที่มีเป้าหมายแต่แค่หมดแรงระหว่างทาง พอได้ไปฟังเค้าอย่างตั้งใจจริง อย่างไม่ตัดสิน อย่างลึกซึ้ง มันก็ทำให้เฟืองความคิดของหนูหมุนช้าลง และได้รับรู้ความจริงในสิ่งที่น้องอยากถ่ายทอดมากขึ้น และเป็นที่ปรึกษาให้เค้าได้ หนูได้สอนให้น้องเค้าลองเขียนข้อจำกัดของตัวเอง เขียนเป้าหมายของตัวเองลงกระดาษ เพื่อเอาไว้ดูเป็นข้อเตือนใจ เป็นแรงใจ และเป็นกำลังใจให้ตัวเองในการสู้ต่อเพื่อให้ถึงเป้าหมาย 

     นอกจากนี้หนูก็ได้แชร์สิ่งดีๆจากการอบรมอย่างเช่น คลิปวิดีโอที่ให้กำลังใจ คลิปวิดีโอที่กำจัดข้อจำกัดของตนเอง หรือแม้กระทั่งคลิปวิดีโอ “ตายอย่างดี” ให้อาจารย์ที่ปรึกษาของหนู ให้น้องแลป ให้แม่และพี่ชาย รวมถึงญาติๆที่รู้จัก ได้ดูค่ะ ซึ่งหนูรู้สึกดีมากค่ะ ที่ได้แชร์สิ่งที่ดีให้คนที่เรารัก ได้ดูและเรียนรู้ความเป็นจริงผ่านทางวิดีโอ 

     หนูก็ได้ดูวิดีโอหลายๆคลิปวิดีโอ จากที่อาจารย์แชร์ไว้ใน power point ดูแล้วก็ได้อะไรเยอะดีค่ะ ที่สำคัญหนูยังได้กลับมาแนะนำน้องๆในแลป ว่าถ้ามีโอกาสให้ไปอบรม Transformative Learning Skills ค่ะ เพราะหนูเชื่อว่าทักษะการใช้ชีวิตมันเรียนรู้กันได้ยากด้วยตนเองหากไม่ได้รับการแนะนำที่ดีค่ะ แต่ถ้าเราได้ฟังจากผู้มีประสบการณ์มาถ่ายทอด มาชี้แนะ ก็จะทำให้เรามีแนวทางและวิธีการในการเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตได้ดียิ่งขึ้นค่ะ 

    หนูจึงรู้สึกโชคดีมากๆที่ได้มีโอกาสไปร่วมอบรมTransformative Learning Skills I & II ซึ่งเป็นการใช้เวลาที่คุ้มค่ามากค่ะ ขอบคุณอาจารย์ด้วยใจจริงค่ะ

พ.ย. 61

------------------ Reflection (3) ------------------ 

1. การฟังอย่างลึกซึ้ง

     การเป็นผู้ฟังอย่างลึกซึ้งโดยใช้ทั้งกายและใจรับฟังเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยสำหรับดิฉัน เพราะพอฟังน้องสาวพูดก็ชอบตัดสินหรือฟังไม่ทันจบ แล้วรีบเสนอหนทางแก้ไขปัญหาหรือให้ข้อเสนอแนะไปเลย เช่น น้องสาวของตนเองที่กำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 น้องสาวบ่นให้ฟังว่าเรียนภาษาญี่ปุ่นยาก พอฟังได้เท่านี้ ดิฉันจะพูดสวนกลับเลยทันทีว่า ลองฟังเพลงญี่ปุ่น อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นสิ น่าจะช่วยได้ น้องสาวหน้าบูด

     แต่พอได้ทดลองฟังอย่างลึกซึ้งถึงการเล่าถึงการสอบวิชาภาษาญี่ปุ่นของน้องสาว ดิฉันนั่งฟังโดยไม่รีบแทรก ยิ้มไปขณะฟัง ตั้งใจฟังจนจบ การฟังดังกล่าวทำให้ดิฉันเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของน้องสาวว่า เขามีความวิตกกังวล ไม่มั่นใจ เครียดมากแค่ไหน และเมื่อน้องสาวเล่าจบโดยไม่มีการขัดจังหวะจากดิฉัน ดิฉันเห็นเขายิ้มและเข้ามากอดดิฉัน

     สิ่งที่ค้นพบ คือ น้องสาวของดิฉันไม่ได้ต้องการได้รับคำแนะนำจากดิฉันหรือต้องการให้ดิฉันช่วยแก้ไขปัญหาของเขา เขาต้องการระบายและต้องการคนรับฟังเพื่อเข้าใจและรับรู้อารมณ์และความรู้สึกร่วมกันกับเขาเท่านั้น

สิ่งที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน คือ การฟังอย่างลึกซึ้งทำให้ดิฉันกับน้องสาวเข้าใกล้กัน สื่อสารและสานสัมพันธ์กัน รักและสนิทใจกันมากยิ่งขึ้น เขาชอบมาเล่าเรื่องราวต่างๆ เช่น เรื่องแฟน เรื่องดาราเกาหลีกับดิฉันมากยิ่งขึ้นดิฉันรู้สึกว่าน้องสาวรักดิฉันมากกว่าเดิมและดิฉันก็รักและเข้าใจน้องสาวมากยิ่งขึ้น เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกและความคิดของน้องสาวมากยิ่งขึ้น 

     การฟังในลักษณะนี้ทำให้น้องสาวเปิดใจกับดิฉันมากเพราะเขาชอบมาคุยกับดิฉันทุกวัน มีเรื่องมาเล่าให้ฟังทุกวันเลย และเราได้ยิ้มและหัวเราะด้วยกันทุกครั้ง

2. สิ่งที่ได้เรียนรู้

     ดิฉันทดลองฝึกคิดด้วยการแยกแยะระหว่างความเชื่อ ความคิดเห็น และข้อเท็จจริงและองค์ความรู้ กิจกรรมนี้ท้าทายต่อความเคยชินของดิฉันมากๆ ดิฉันดู youtube คลิปการให้สัมภาษณ์ของแมท (ดาราสาวไทย) เรื่องการออกมายอมรับว่ากำลังศึกษาดูนิสัยใจคอกับสงกรานต์ (สามีเก่าของแอฟ ทักษอร) ดิฉันดูคลิปจนจบโดยไม่มีอารมณ์ไม่พอใจหรืออยากจะวิพาษ์กวิจารณ์ดาราสาวคนนี้เลย เพราะเมื่อดูจากคลิปข้อเท็จจริงคือผู้หญิงคนหนึ่งกำลังพูดภาษาไทยให้แก่คนจำนวนมากที่ยื่นเครื่องอิเล็กทรอนิกส์สีดำไว้หน้าหน้าผู้หญิงคนนี้

     หากเป็นเมื่อก่อนดิฉันอาจปิดคลิปไปแล้ว แถมอาจวิจารณ์ผู้หญิงคนนี้อย่างเสียหาย แต่ดิฉันไม่ใช่พระเจ้าที่มีอำนาจไปตัดสินการกระทำคำพูดของใคร ดิฉันฟังแล้วพยายามแยกแยะโดยไม่ใช้ความเชื่อที่มีอยู่เดิมของตนเองและความคิดเห็นของตนเอง ดิฉันดูไปฟังไปก็เพลินดี คือ พอฟังแล้ว ดิฉันกลับเข้าใจดาราสาว และเห็นถึงอารมณ์ของดาราสาวคนนี้ เขากำลังกลัว เสียใจ และไม่มั่นใจ

     การฟังครั้งนี้ ดิฉันฟังจนจบโดยไม่มีการวิจารณ์ระหว่างดูคลิป ดิฉันรู้สึกว่าฟันเฟือนในสมองดิฉันทำงานได้เร็วไม่เหมือนก่อน ใจเย็น คิดช้าลง และละเอียดมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญดิฉันไม่รู้สึก “อิน” ไปด้วย กลับรู้สึกว่าเป็นเรื่องราวธรรมดา คือ คลิปนี้เป็นการพูดคุยเพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง

     ดิฉันเริ่มนำการคิดแยกแยะระหว่างความคิดเห็นและข้อเท็จจริงไปใช้ในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น เช่น ตอนสามีบ่นเรื่องดิฉันไม่ค่อยดื่มน้ำ ดิฉันฟังแล้วก็เข้าใจสามารถ ข้อเท็จจริง คือ สามีรักและห่วงใยดิฉัน เขาถึงพูดกับดิฉัน ไม่ใช่บ่นกับดิฉัน ภายในตัวเองดิฉันคิดว่าสมองคิดแปลกไปกว่าแต่ก่อน เหมือนคนคิดบวกมากกว่าคิดลบ ภายนอกที่ดิฉันสังเกตเห็นได้ชัด คือ เมื่อสามีพูดเรื่องการดื่มน้ำ ดิฉันยิ้มและเข้าไปกอดเขา เขาก็ดูงง แต่ก็กอดตอบ และเวลาเขาจะพูดเรื่องการดื่มน้ำ เขากับไม่พูดแต่เอาน้ำมาให้ดิฉันเลยพร้อมกับรอยยิ้ม ดิฉันคิดว่าการกระทำของดิฉันไม่เพียงเปลี่ยนตัวเองแต่เปลี่ยนแปลงสามีด้วยเช่นเดียวกัน

     สิ่งที่ประทับใจ คือ ดิฉันเครียดน้อยลงมีความสุขและสนุกกับชีวิตมากขึ้น เวลาฟัง ดูคลิป อ่านข่าว เหมือนว่าตัวเองหลุดพ้นกับดักความคิดของตนเองที่ชอบตัดสินคนอื่น ดิฉันมองคนอื่นอย่างเข้าใจในแบบที่เขาเป็นมากขึ้น เหมือนรู้สึกถึงอารมณ์ ความรู้สึก และจิตใจคนอื่นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากดิฉัน “ละเอียด”เพิ่มมากขึ้น ไม่ “หยาบ” เหมือนแต่ก่อน ละเอียดคือ ฟัง อ่าน ดู อย่างตั้งใจ และแยกแยะระหว่างความคิดเห็นของตนเองและข้อเท็จจริง การฝึกทำแบบนี้ทุกวัน ทำให้หัวและใจทำงานช้าลง มีสติคิดไตร่ตรองก่อน ไม่ทำการตอบโต้ทันที พอคิดได้ก่อนทำ การกระทำจึงทำให้เกิดผลดีตามมา และไม่น่าเชื่อแต่ต้องเชื่อว่า พอดิฉันเปลี่ยนคนรอบข้างของดิฉันก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน อีกทั้งความสัมพันธ์ของดิฉันและคนรอบข้างกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นและเกิดความรักความสนิทใจกันมากยิ่งขึ้น

     ดิฉันคิดว่าจะไปประยุกต์ใช้กับเพื่อนนักศึกษาด้วยกันเวลาที่เราต้องมาถกเถียงอภิปรายความคิดเห็นที่เราต่างเห็นไม่ตรงกัน การฟังอย่างลึกซึ้งและการคิดแยกแยะระหว่างความคิดเห็นและข้อเท็จจริง น่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ทั้งกับดิฉันและเพื่อนๆ ได้อีกแน่นอน ตอนแรกเริ่มมันยากมากที่ต้องเปลี่ยนแปลงนิสัยเดิมๆ แต่พอเริ่มทำได้และเห็นผลดีทั้งจากน้องสาวและสามี ดิฉันคิดว่าดิฉันต้องฝึกต่อไป เพื่อให้กลไกและฟันเฟืองในสมองของดิฉันหมุนในทิศทางพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เพื่อให้เกิดนิสัยใหม่ๆ ที่ดิฉันไม่เคยมีมาก่อน

ปล.

...ไม่น่าเชื่อแต่ต้องเชื่อว่า พอดิฉันเปลี่ยนคนรอบข้างของดิฉันก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน อีกทั้งความสัมพันธ์ของดิฉันและคนรอบข้างกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นและเกิดความรักความสนิทใจกันมากยิ่งขึ้น...

^

คนตรงหน้าคือ เงาของเราบนกระจกเงา

พ.ย. 61

บดินทร์

ผมเคยเขียนเรื่อง Transformative Learning ไว้ที่ ()  (

วิจารณ์ พานิช

๓๐ พ.ย. ๖๑ 

หมายเลขบันทึก: 658426เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2018 05:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ธันวาคม 2018 05:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ถ้าอย่างที่อ่านในบันทึกนี้เป็นสิ่งที่ดี ผมว่าผมได้ทำมานานแล้วครับ โดยเฉพาะการฟังแม่ได้พูดได้คุยในสิ่งที่เขาอยากคุยอยากเล่า โดยไม่ขัดจังหวะในการพูดหรือเล่า แม้บางครั้งการเล่านั้นเป็นรอบที่เท่าไรแล้วก็ไม่รู้ แต่ผมรู้ว่าแม่จะเล่าให้ผมฟังอย่างมีความสุข..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท