การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning)



ผมได้รับเชิญไปพูดเรื่อง transformative learning อยู่บ่อยๆ    และได้นำ narrated PowerPoint มาลงในบล็อกนี้อยู่เนืองๆ    โดยผมมักออกตัวก่อนเสมอว่า ผมไม่ใช่ผู้รู้แท้จริงในเรื่องนี้  

เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๑ ผมไปประชุมคณะกรรมการกำกับทิศ ของโครงการ คศน. ()    ในแฟ้มประชุมส่วนภาคผนวกที่ ๖ มีข้อความเกี่ยวกับ transformative learning ที่มีความลุ่มลึก  และแจกแจงความหมายหลายแนว    จึงขอคัดลอกlส่วนหนึ่งมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้

“ดร. อดิศร จันทรสุข (อ.อั๋น) “ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง”

อ.อั๋น เกริ่นนำการนำศิลปะใช้ในการเรียนรู้ ประเด็นสำคัญคือศิลปะช่วยทำให้เข้าใจตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน ส่งผลต่อคนที่ทำงานด้วยให้เกิดความเข้าใจตัวเอง แล้วก้าวถึงขั้นเยียวยาตัวเองได้ด้วย การพัฒนาด้านในของตัวเองคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราจะทำงานกับคน

ประเด็นสำคัญที่ อ.อั๋น แนวคิด Transformative Leaning (TL) ไม่ได้มีเพียงสำนักคิดเดียว สายธารทฤษฎี Transformative Leaning ที่มีหลากหลายสำนักคิดและมีขบวนการเคลื่อนไหวหลายระลอก ข้อสังเกตของการเรียนรู้ทฤษฎีของแวดวงการศึกษาในสังคมไทย คือการยึดติดกับคำ (คำศัพท์ทางวิชาการ) คำจึงกลายเป็นปัญหาโดยตัวมันเอง เช่น คำว่า “จิตตปัญญา” ตกลงแบบไหนจึงจะใช่จิตตปัญญา ประเด็นคือการใช้คำไม่ถูก แต่สำหรับ อ.อั๋น เสนอว่าพื้นฐานเราอยู่ในสังคมที่แตกต่างหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องอธิบายคำหรือระบุคำ แต่ปล่อยให้การทำงานนิยามคำ ควรจะปล่อยคำต่างๆ  

สายธารทฤษฎี TL การมองเห็นภาพรวมของสนามความรู้จะทำให้เราสามารถระบุได้ว่า พื้นที่ทำงานของเราอยู่ตรงไหน ระดับไหนของทฤษฎี การเรียนรู้ทฤษฎีไม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจทั้งหมด ซึ่งการนำเสนอครั้งนี้ เป็นการตีความผ่านความเข้าใจของผู้บรรยาย จึงเป็นการสำรวจสำนักคิดต่างๆ 5 สำนักคิด (ซึ่งยังมีอีกหลายสำนักคิด)

 

สำนักคิดที่ 1 สายเหตุผล ผู้นำคือ Jack Mezirow แนวคิด TL สายเหตุผลถูกนำมาใช้ในงานวงการศึกษาไทยอย่างกว้างขวาง นับได้ว่าเป็นแนวคิด TL กระแสหลัก จุดเริ่มต้นคือการค้นพบของ Mezirow คือคำว่า Perspective Transformation ที่เกิดจากการเก็บข้อมูลตัวอย่างของแม่บ้านในอเมริกาที่เมื่อกลับมาเรียนรู้อีกครั้ง มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต กลับพบว่ามีวิธีการมองเรื่องราวอดีตที่เปลี่ยนแปลงไป มีแง่มุมหลากหลายที่ใช้มองปัญหาได้ จึงเป็นที่มาของคำว่า Transformative Learning

จุดเน้นของ Mezirow ผู้นำสาย TL เหตุผล คือการเน้นกรอบอ้างอิง หรือแว่นตา เราใช้แว่นตาแบบไหนในการมองโลก คือการรู้เท่าทันกระบวนการที่มาของการเกิดเลนส์และการใช้เลนส์มองโลก สิ่งสำคัญคือเราสามารถขยายกรอบอ้างอิงการมองโลกและชีวิตมากขึ้นได้หรือไม่ แว่นตามองโลก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ Frame of Mind หรือวิธีคิดทางการเมือง เช่น อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่อยู่ในเนื้อในตัวและทำงานกับเราอยู่ ภายใต้แบบแผนทางความคิดจะมีมุมมอง (Point of View) ปัญหาสำคัญคือการคุยกันไปถึงเพียงระดับมุมมอง ไม่ได้ลงลึกไปถึงระดับอุดมการณ์ทางการเมือง

เครื่องมือของ TL คือการใคร่ครวญอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Reflection) คำสำคัญคือ Critical คือการสะท้อนย้อนคิดถึงระดับกรอบความคิดว่าสิ่งที่สะท้อนเป็นจริงหรือไม่ หรือมีปัญหาเชิงมุมมองอย่างไร การจะเกิดทักษะ TL อย่างได้ผลคือการแลกเปลี่ยนแนวคิดอย่างมีเหตุผล สร้างพื้นที่ปลอดภัย แล้วจึงใช้ Critical Reflection ในการสำรวจความคิด

แนวคิดของ Mezirow ถูกต่อยอดจากนักคิด TL สายเหตุผล คือการขยายแนวคิดสู่การกระทำ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับพฤติกรรม เริ่มต้นจากการเจอประสบการณ์ที่เราใช้เลนส์เดิมไม่ได้ (dilemma) สถานการณ์แรงๆ ทำให้เกิดการปะทะ จะทำให้เราฉุกคิดว่าเรากำลังเจออะไร จึงเกิดการสำรวจเหตุผลและความรู้ มองหาวิธีการทางเลือกใหม่ๆ ทดลองว่าทางเลือกใหม่ๆ จะดีกว่าเดิมหรือไม่ ทดลองจนกระทั่งโลกทัศน์กว้างขึ้น

 

สำนักคิดที่ 2 สายจิตวิทยาเชิงลึก ผู้นำคือโรเบิร์ต บอยล์ (Robert Boyle) นักจิตวิทยาสายคาร์ล ยุง และนักจิตวิทยาเน้นจิตวิทยาด้านใน ใช้ในการทำเวิร์กช็อป แต่ยังใช้น้อยในเมืองไทย ข้อเสนอสำคัญคือการมองพลังภายในมนุษย์ คือการสำรวจพื้นที่จิตไร้สำนึก โดยจิตไร้สำนึกปรากฏตัวในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ สิ่งที่ต้องทำคือเปิดพื้นที่จิตสำนึกให้ขยายมากขึ้น ต่อมานักคิดรุ่นต่อมาเน้นจิตวิทยาแนวลึก เสนอว่ามนุษย์มีตัวตนหลากหลายด้าน ไม่ใช่เป็นเอกภาพ ความเข้าใจในด้านต่างๆ แล้วสามารถหลอมรวมไม่เกิดความขัดแย้ง จึงจะทำให้แก้ปัญหาได้ จึงจะเกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ

 

สำนักคิดที่ 3 กลุ่มเคลื่อนประเด็นสังคม ผู้นำคือเปาโล แฟร์ (Paulo Freire) เป็นสายเชิงวิพากษ์ พูดถึงเรื่องสังคม การศึกษาเป็นเครื่องมือที่ผู้มีอำนาจใช้กดขี่ผู้อยู่ใต้อำนาจ การเรียนการสอนทั่วไปคือระบบฝากธนาคาร ไม่ได้เกิดกระบวนการพัฒนาคน และไม่ตั้งคำถามกับความรู้ว่ามีอำนาจกดทับวิธีการมองโลก ข้อเสนอสำคัญคือ การสร้างมโนธรรมสำนึก การเข้าใจสภาพสังคม เศรษฐกิจ เพื่อทำให้เกิดวิจารณญาณ สร้างความเข้าใจว่ามีระบบต่างๆ ครอบงำเราอยู่ เมื่อเข้าใจแล้วจึงจะสามารถปลดแอกจากวิธีคิดเหล่านั้น เราต้องปลดปล่อยเพราะกรอบความคิดหรือระบบการศึกษาเดิมไม่ได้ทำให้เรามีชีวิตดี

 

สำนักคิดที่ 4 กลุ่มประกอบสร้าง ผู้นำคือโรเบิร์ต คีแกน (Robert Kegan) ความเปลี่ยนแปลงระดับจิตสำนึก มองไปที่ ผู้รู้ (subject) ความเป็นเราทั้งหมดคือตัวรู้ เป็นผู้รับรู้ และตีความ กับสิ่งที่ถูกรู้ (object) สิ่งที่ได้ฟัง ได้เรียน คือสิ่งที่ถูกรู้ เราไม่สามารถแยกตัวออกจากการเรียนรู้ได้ คีแกนพูดถึง 5 order ได้แก่

1) Impulsive Mind เรามีระดับมีผู้รู้เกิดการรับรู้

2) Imperial Mind สามารถจัดแจง จัดหมวดหมู่ได้ สิ่งที่รับรู้กลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้

3) Socialized Mind สิ่งที่รับรู้สามารถระบุได้ แต่สิ่งที่เราไม่รับรู้ คือ ความสัมพันธ์  

4) Self-Authoring Mind เรารู้ว่าอุดมการณ์อะไรกำลังก่อตัวขึ้นในเนื้อตัวเรา

5) Self-transforming Mind เรารู้แม้กระทั่งว่าอุดมการณ์อะไรใช้งานเราอยู่

คนส่วนใหญ่จะอยู่ระดับขั้นที่ 1 – 3 จะมองไม่เห็นว่าเป็นชุดอุดมการณ์ที่กำลังทำงานเราอยู่ แต่มองว่าโลกทั้งหมดคือความจริง ไม่ใช่ความผิดว่าการแบ่งแยกที่มีการแบ่งลำดับ อ.อั๋น เห็นแย้งกับคีแกน เพราะบางคนไม่จำเป็นต้องเข้าใจอุดมการณ์ เพราะเขาได้ใช้ชีวิตทั้งหมดแล้ว ไม่ได้มีคำถามต่อแล้ว          แต่การรู้ตัวตนถึงระดับ 4 – 5 จะสามารถคุยกับคนอื่นในระดับมองลึกถึงอุดมการณ์ได้ ไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกัน ถ้าเราสามารถรู้ว่าคนที่ทำงานด้วยอยู่ในระดับไหน เราจะไม่คาดหวัง

 

สำนักคิดที่ 5 กลุ่มความเป็นองค์รวม เริ่มต้นจากนักคิดจากฝั่งแคนาดา พื้นฐานแนวคิดมาจากการมองว่า มนุษย์มีความซับซ้อน มีโลกด้านใน โลกด้านนอก เมื่อคิดหรือสร้างและออกแบบการเปลี่ยนแปลงต้องมองเห็นระบบที่ทำงานในตัวมนุษย์ เรื่องใดเรื่องหนึ่งต้องมองเห็นความเชื่อมโยง เป็นข้อสังเกตว่าการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่มีรูปแบบเฉพาะ มีเป้าหมายชัดเจน ทำให้มองข้ามมิติด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียนที่ยังไม่อนุญาตให้เขาเปลี่ยนแปลง

ต้องออกแบบการเรียนรู้แบบองค์รวม ต้องทำ 3 เรื่องไปพร้อมๆ กัน ด้านที่ 1 การเรียนรู้เพื่อความอยู่รอด เช่น วิชาชีพแพทย์ ต้องพาไปสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ ด้านที่ 2 ต้องสามารถเห็นว่ากำลังใช้กรอบแบบไหน ที่ผ่านมากรอบวิธีคิดแบบไหนกำกับชีวิต ด้านที่ 3 แล้วเราจะไปต่ออย่างไร ต้องไปให้คนไปสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ และมองเห็นความเชื่อมโยงตัวตนเขากับโลกได้ ถ้าพามาถึงระดับนี้ได้ คนจะมีพลังมาก ต้องใช้จินตนาการ ศิลปะเข้ามามีบทบาทในระดับนี้ ศิลปะพาไปสู่โลกที่เรายังคิดไม่ถึงในตอนแรก  

 

นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล คณะแพทยศาสตร์ มศว. “ประสบการณ์เครือข่ายอาจารย์แพทย์กับการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง”

หมอสุธีร์ ออกตัวว่าการจัดกระบวนการเป็นแบบลูกทุ่ง แต่มีแรงผลักดันภายในจากการมองเห็นปัญหาระดับโครงสร้าง เช่น หมอชุมชนไม่มีสมาคมแพทย์ เวชศาสตร์ชุมชนที่สอนกันไม่ได้นำมาแลกเปลี่ยนกัน จึงริเริ่มกลุ่มพูดคุยในปี 2554 โดยใช้เครื่องมือ TL เข้ามาใช้ พอมาคุยกันพบว่าแนวคิด 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกมองว่าทำยังไงจะสอบได้คะแนนดี เพราะใบประกอบวิชาชีพเป็นชื่อเสียงของสถาบัน อีกกลุ่มไม่สนใจเรื่องสอบ แต่สนใจกระบวนการเรียนอย่างไรให้ดี ทั้ง 2 กลุ่ม จึงแยกคุยกัน

หมอสุธีร์ สนใจกลุ่มที่ 2 คือสนใจการเรียนมากกว่าการสอบ การแลกเปลี่ยนกันทำให้ได้เห็นประสบการณ์ของเพื่อน เช่น อาจารย์แพทย์ที่ ม.นเรศวร นำนักศึกษาแพทย์ไปเรียนรู้ผู้ต้องขัง หญิงโสเภณี คนข้างถนน หมอสุธีร์จึงมองว่าน่าจะลองใช้วิธีนี้ได้ เพื่อสอนวิชาสำคัญสำหรับแพทย์คือ วิชาความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะเข้าถึงได้ด้วยประสบการณ์ตรง จึงเกิดกิจกรรมนำนักศึกษาแพทย์เข้าไปศึกษาและพูดคุยกับผู้ต้องขัง หมอสุธีร์ นำนิสิตเข้าไปเรือนจำหญิง ที่ราชบุรี บางคนเดินถอยหลังเข้า บางคนรู้สึกวูบๆ เป็นบทเรียนที่กระแทกใจ แต่หมอสุธีร์ ต้องเจอแรงเสียดทานคือมีเพื่อนอาจารย์แพทย์ส่งคำเตือนมา

การริเริ่มลองทำของหมอสุธีร์ ทำให้นิสิตได้เปิดมุมมอง โดยเล่ากิจกรรมผ่านภาพถ่ายและผลงานสะท้อนของนักศึกษา กิจกรรมของนักศึกษาแพทย์ ปี 1 คือการฟังคำบรรยายของเจ้าหน้าที่ จึงเข้าสู่กับผู้ต้องขังแบบตัวต่อตัว อย่างใกล้ชิด ปรากฏว่านิสิตพูดว่ามันธรรมดา ตัวนักศึกษาไม่ได้รู้สึกกลัว ภาพถ่ายสะท้อนให้เห็นนักศึกษากับผู้ต้องขังเหมือนคุยกันแค่สองคน การพูดคุยจริงๆ ไม่ได้มีความกังวลใจ ไม่มีโจทย์คุย เพื่อเปิดกว้าง ไม่มีคำถามชี้นำ ใช้เวลา 45 นาที หมอสุธีร์ทำมาแล้ว 2 ครั้ง จึงเริ่มหาเครื่องมือที่ใช้บันทึกความเปลี่ยนแปลงของนักศึกษา

หมอสุธีร์ นำเครื่องมือศิลปะให้นักศึกษา วาดภาพ 2 ครั้ง คือวาดก่อนไป หลังจากพูดคุยเสร็จแล้ว จะวาดภาพอีกครั้ง เพื่อสะท้อนความเปลี่ยนแปลง ภาพวาดของนักศึกษาสะท้อนความเปลี่ยนแปลงระดับทัศนคติทว่าสิ่งที่เคยรับรู้มาไม่ได้เป็นจริง รู้สึกว่าผู้ต้องขังจินตนาการเดิมกับจินตนาการใหม่ตรงข้ามกัน ภาพวาดสะท้อน Critical Thinking อย่างชัดเจน การไปเจอและพูดคุยเจอ dilemma เป็นประสบการณ์ตรงที่แรง จึงทำให้เกิดการตระหนักและใคร่ครวญ ไปเผชิญความจริงทำให้ตระหนักว่าชุดความรู้เดิมไม่สามารถอธิบายชุดประสบการณ์ตรงได้ หมอสุธีร์ ชี้ให้เห็นการให้อิสระทางความคิดทำให้นักศึกษามีความรับผิดชอบในความคิด

 

พฤหัส พหลกุลบุตร (พี่ก๋วย) “ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง ศิลปะการนำร่วมในพื้นที่การศึกษา”

ทางกลุ่มมะขามป้อม ทำงานกันในป่า ในดอย ในนา เป็นสายมวยวัด เป็นสายปฏิบัติ มีคำถามว่า 1) เราทำอะไรอยู่ 2) สิ่งที่เราทำ ทำไมเราจึงเชื่อแบบนี้ ทำแบบนี้ คิดอะไร ทำออกมาก็ออกมาแบบแผนเดิม คือสนใจคนที่มีอำนาจน้อยกว่า เป็นคนตัวเล็กตัวน้อย เป็นคนที่เสียเปรียบทางโครงสร้าง พอมาศึกษาทฤษฎีมันช่วยอธิบายสิ่งที่สายมวยวัดทำ คำบางคำที่สกัดออกมาทำให้สิ่งที่ทำชัดเจนมากกว่า เมื่อศึกษาทฤษฎีมากขึ้น พบว่าทฤษฎีหนุนการทำงานปฏิบัติ หนุนซึ่งกันและกัน หรือที่เปาโล แฟร์เรียกว่าการเชื่อมโยงปฏิบัติการกับทฤษฎี

5 – 6 ปีหลัง เราเริ่มมาสนใจคำว่า “ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” จากพื้นฐานแนวคิดของดิวอี้ เขาสนใจการปฏิบัติการผ่านอายตนะทั้งหมดของความเป็นมนุษย์ คิดอย่างเดียวไม่พอ ต้องเข้ามารู้สึก ต้องเข้ามาใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมด จาก Being ต้องนำไปสู่ Becoming ละครมันให้มิตินี้ได้ ละครสร้างความเข้าใจความเป็นคนอื่น หรือ Empathy การเข้าไปศึกษาเรื่องราวของคนหนึ่ง ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วสวมบทบาทคนอื่น มันช่วยให้เรา Becoming เป็นกระบวนการ Transform ซึ่งเชื่อมโยงกับทฤษฎีการเรียนรู้สู่ความเปลี่ยนแปลง

เริ่มแรกกลุ่มมะขามป้อมทำงานกับกลุ่มเยาวชน เด็กที่ได้รับการกดขี่ แต่พบว่าทำกับเด็กไม่พอ คนที่เป็นตัวคูณสำคัญคืออาจารย์ พอได้ทำงานได้ค้นพบว่าจากฐานประสบการณ์เก่า ทำให้เกิดเชื่อมโยงประสบการณ์ใหม่เข้ากับประสบการณ์เก่า หมายความว่าเป็นคนใหม่ในประสบการณ์เก่า กระบวนการ Transform เป็นกระบวนการทั้งชีวิต แล้วจึงนำเสนอวิดีทัศน์ จากการจัดกิจกรรม Workshop ละครเพื่อความเปลี่ยนแปลงเพื่อเชื่อมโยงกับทฤษฎี 5 สำนัก ข้างต้น

รีวิวภาพรวมแนวคิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง

ความหมายของ TL คือการเรียนรู้เพื่อสร้างความหมายใหม่จากประสบการณ์เดิม นำความหมายใหม่ไปสู่ปฏิบัติการ หรือเป็น “คนใหม่ในร่างเดิม” มีวิธีคิดใหม่ มีสายตาใหม่ นำไปสู่พฤติกรรมใหม่บางอย่าง

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมีมิติการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิทยา เขย่าความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเอง จากเข้าใจเดิมว่าเราเป็นคนแบบหนึ่ง แต่เมื่อผ่านกระบวนการทำให้ค้นพบตัวตนในมิติอื่นที่ไม่เคยรู้มาก่อน หรือไปเขย่าความคิด ระบบคุณค่าบางอย่างที่มีเหนือ ที่เราเคยเกาะกุม วันหนึ่งตั้งคำถามที่เคยให้คุณค่าไว้ จึงส่งผลต่อรูปแบบการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิถีชีวิต

ผู้ที่มีอิทธิพลต่อแนวคิด TL มี 3 นักคิดคนสำคัญ คือ 1) โทมัส คูส์น ผู้เสนอคำว่า “Paradagim” หรือคำว่า“กระบวนทัศน์” ซึ่งเมซิโรว์นำมาพัฒนาเป็นเครื่องมือการมอง “กรอบอ้างอิงความคิด” มีพลวัตรของการใช้เครื่องมือนี้อยู่ด้วย 2) เปาโล แฟร์ เป็นคนสำคัญในกลุ่มนีโอมาร์กส์ซิส เป็นสายทฤษฎีวิพากษ์ 3) กระแสการศึกษาจากกระแสธารประวัติศาสตร์แนวคิด มี 5 คลื่นความคิด ได้แก่ สายจิตนิยม เริ่มจากเพลโต ที่มองว่าเด็กเป็นผ้าขาว ต้องสอนคุณธรรมความดี ครูเป็นศูนย์กลางของจักรวาล คลื่นต่อมา คือสายประจักษ์นิยม หรือวัตถุนิยม อริสโตเติล (ลูกศิษย์เพลโต) เชื่อเรื่องวัตถุมากกว่าจิตใจ เชื่อในโลกความรู้จากประสาทสัมผัสทั้ง 5

มุมมองเกี่ยวกับการเรียนรู้วิวัฒน์มาจนถึงสายประสบการณ์นิยม กลุ่มนี้เป็นต้นธารของ TL คนที่มีชื่อเสียงคือ จอห์น ดิวอี้ นักปฏิบัติการศึกษาอเมริกัน ให้คุณค่าประสบการณ์มาก ไม่อยากให้เด็กพูดว่าผมรู้ แต่อยากให้เด็กพูดว่าผมมีประสบการณ์ และสาย existentialist เป็นต้นธารสำนักวิพากษ์ เชื่อมั่นในอิสรภาพของความเป็นมนุษย์ ทุกคนมีเจตจำนงเสรี ไม่ตกอยู่ใต้ธรรมเนียมประเพณีใดๆ นักคิดรุ่นต่อมาพัฒนาแนวคิดต่อ เช่น ซัมเมอร์ฮิลล์ (Summer Hill) ส่งผลต่อการเกิดโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก

ระดับความรู้ 8 ระดับ คือ รู้ เข้าใจ นำไปใช้เป็น วิเคราะห์ได้ ประเมินหรือเปรียบเทียบได้ เปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของตัวเองเป็น สุดท้ายนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์หรือพาราดาม หรือแนวคิดบางอย่างที่นำไปสู่ Transformative Learning กระบวนการนี้เกิดขึ้นทั้งชีวิตที่ปรับเปลี่ยนตามประสบการณ์ชีวิต

ปัจจัย TL เน้นประสบการณ์ของปัจเจก การคิดใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง สุนทรียะสนทนา และกระบวนการ Holistic ที่มองรอบด้านและต่างไปจากเรา และสำคัญกับบริบท และความสัมพันธ์ที่จริงใจกับคนที่เรียนรู้ด้วยกัน ทั้ง 6 ปัจจัยจะปรากฏในกระบวนการ TL ซึ่งกระบวนการ TL ให้ความสำคัญอย่างมากกับการสะท้อนความคิด หรือ Reflection 3 ระดับ 1) สะท้อนเนื้อหา ให้เห็นปรากฏการทั่วไป (ใช้คำถาม What) 2) สะท้อนกระบวนการ (ใช้คำถาม How) 3) สะท้อนกระบวนการทัศน์ (ใช้คำถาม Why)

อ.วรรณดี สรุปแนวคิด TL

TL เป็นการออกแบบประสบการณ์ เป็นเหมือนการสร้างโลกใบใหม่ในโลกใบเดิม คือการสร้างความหมายใหม่ในโลกใบเดิม ความสำคัญคือ จะรู้สึกได้ถึงอิสรภาพไม่ว่าจะอยู่ในพันธนาการใด อิสรภาพในที่นี้หมายถึงไม่กลัว กล้าพูดในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง เราอาจจะผิดพลาดได้แบบสามัญชนแต่ว่ามันจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แล้วประสบการณ์เดิมคืออะไร เครื่องมือสำคัญที่ใช้คือการตีความ คือการตีความความรู้ที่อยู่ในประสบการณ์เดิมว่าสิ่งที่เราคิด เราเชื่อมันถูกหรือไม่ เช่น เราเดินหันหลังเข้าคุก มันถูกหรือไม่ สิ่งที่มันควรจะเป็นคือการใส่ความหมายใหม่เข้าไป ในวันที่มีประสบการณ์ต้องนำประสบการณ์เผยออก ต้องใช้เหตุผลใช้วิทยาศาสตร์ ทฤษฎีคือตัวยกระดับชุดความรู้และประสบการณ์ ซึ่งมีผลต่อการขับเคลื่อนพฤติกรรม TL คือส่วนผสมของ culture กับ science คือการเปลี่ยนจาก Reality เป็น Truth จึงทำให้เกิดพลังเปลี่ยนแปลง”

ผมขอย้ำว่า transformative learning มีเป้าการเปลี่ยนแปลงที่หลายมิติ   ได้แก่ ที่ตัวปัจเจกบุคคล   ที่กลุ่มคนหรือสังคม   และในระดับองค์กร  รวมทั้งระดับประเทศ

กล่าวใหม่ว่า การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคล มีทั้งเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง  และเพื่อทำหน้าที่ change agent เปลี่ยนแปลงภายนอกตัวเอง คือเปลี่ยนระบบหรือสังคม 

ขอขอบคุณทีมงาน คศน. ที่กรุณาให้ไฟล์ของเอกสารนี้   และขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนทำให้เกิดเอกสารที่ทรงคุณค่ายิ่งนี้

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ส.ค. ๖๑


 

 

 

หมายเลขบันทึก: 655503เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2018 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ตุลาคม 2018 10:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจารย์เขียนได้ละเอียด อ่านแล้วได้เรียนรู้ขั้นตอนชัดเจนดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท