๘๔๕. งานบริหารจัดการ..สุขภาพนักเรียน


" ผมประเมินตนเองก็พบว่าดำเนินการได้อยู่ในระดับดี ที่ผมมองว่าเป็นปัญหาก็คือ..รายการอาหารที่แม่ครัวกับครูร่วมกันคิดรายวัน...ทำให้เด็กอ้วนหรือไม่อย่างไร? แต่ที่แน่นอนที่สุด..เด็กของผมกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว.."

            นับวัน..งานส่งเสริมสุขภาพอนามัยในโรงเรียน กำลังจะมีความสำคัญเทียบเท่ากับงาน “วิชาการ” เข้าไปทุกที ทำให้ผมนึกถึงคำพูดที่ได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆที่ว่า..กองทัพเดินด้วยท้อง..เพราะอาหารต้องไปเลี้ยงสมอง  ถ้านักเรียนทานไม่อิ่มท้อง การเรียนการสอนก็เดินไปไม่ได้...

          งานดูแลสุขภาพนักเรียนของผม..ในช่วงแรกๆ มีปัญหาในด้านบริหารจัดการ ต่อเมื่อทางโรงพยาบาล..ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้งานเป็นระบบและเกิดความรู้ความเข้าใจ..มากขึ้น

         การติดตามสุขภาพปากและฟัน ตลอดจนงานระวังป้องกันและรักษาโรค เป็นกิจกรรมที่คุณหมอและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ดำเนินการได้เป็นอย่างดี

    ยกเว้น..งานโครงการอาหารกลางวัน เป็นเรื่องของโรงเรียนโดยตรง..ที่จะต้องประคับประคองและรักษามาตรฐานไปให้ได้ตลอดรอดฝั่ง..

        ที่โรงเรียน..ไม่มีปัญหาด้านงบประมาณ ผมปรับปรุงงานอาหารกลางวันมาโดยตลอด..เริ่มตั้งแต่จัดสร้างโรงครัว ขยับขยายโรงอาหาร พัฒนาเมนู ดูแลและมุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อมและความสะอาด..

        ผมประเมินตนเองก็พบว่าดำเนินการได้อยู่ในระดับดี ที่ผมมองว่าเป็นปัญหาก็คือ..รายการอาหารที่แม่ครัวกับครูร่วมกันคิดรายวัน..ทำให้เด็กอ้วนหรือไม่อย่างไร? แต่ที่แน่นอนที่สุด..เด็กของผมกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

        ทั้งเด็กหญิงเด็กชายตัวใหญ่ไปตามๆกัน..ผมไม่แปลกใจเลยเพราะเท่าที่สังเกตรายการอาหารก็พบว่า..มีแต่เนื้อหมูเนื้อไก่ที่ฟาร์มสอดใส่สารเร่งฮอร์โมนมาเต็มพิกัด..ตอนนี้ผมคิดว่าน่าจะเข้าไปในร่างกายของเด็กนักเรียนมิใช่น้อย

        อีกทั้ง..รายการอาหารทั้งผัดและทอด ล้วนแล้วแต่มีไขมันมากมาย แม่ครัวก็ขยันเลือกสรรมา แต่เมนูผักสดทั้งหลายกลับไม่ค่อยมี

        เรื่องอย่างนี้..ผมต้องปรับปรุงแก้ไขให้ได้อย่างเร่งด่วน อันที่จริงก็เริ่มมาบ้างแล้ว ด้วยการรณรงค์ให้นักเรียนปลูกผัก แล้วนำผักเข้าสู่ครัวโรงเรียนและที่บ้าน เด็กจะได้ใกล้ชิดและเห็นคุณค่า..กล้ารับประทานในเมื่อปลอดสารพิษมากกว่าเนื้อหมูเนื้อไก่เสียอีก..

        ปัญหาที่ผมเริ่มแก้ไขในปีการศึกษานี้ ที่ผมคิดว่า..คุณหมอและเจ้าหน้าที่น่าจะยิ้มได้ ไม่หนักใจเหมือนเช่นเคย ก็คือเรื่องสุขภาพปากและฟัน ที่ผ่านมาพบข้อมูลไม่สู้จะดีนัก ทั้งในด้านปริมาณของเด็กที่เพิ่มขึ้น แต่ปัญหาสุขภาพปากและฟันไม่ได้ลดลง..

        ด้านคุณภาพร้อยละ ๖๐..ฟันผุ..และนักเรียนไม่รักษาความสะอาดของช่องปากและฟัน ผมป้องกันแล้วแต่ไม่ได้ผล ทั้งการแปรงฟันหลังอาหาร การสำรวจสภาพแปรงสีฟัน และการไม่จำหน่ายน้ำอัดลมและน้ำหวานในโรงเรียน

        ผมยังไม่ได้เก็บข้อมูลที่บ้าน แต่เคยพูดเรื่องนี้ในที่ประชุมผู้ปกครองไปแล้ว ให้ช่วยกันดูแลสุขภาพปากและฟันของบุตรหลานด้วย มิฉะนั้นจะส่งกระทบต่อการเรียนในปัจจุบันและอนาคต

        เมื่อป้องกันแล้วยังไม่ได้ผล ก็ต้องให้ความสำคัญกับการรักษา..ว่าแล้วเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็สำรวจจำนวนนักเรียนที่ได้ใบนัดจากคุณหมอ..ให้ไปถอนฟันและอุดฟัน..ตั้งเป้าหมายไว้ ๑๐๐ %..นักเรียนจะต้องพบหมอครบทุกคน

     ๑ พฤศจิกายน..วันเปิดเทอม..เหลือร้อยละ ๓๐ ที่ยังไม่ไปพบคุณหมอแผนกทันตกรรมตามนัด..นักเรียนให้เหตุผลต่างๆนานา อ้างว่าผู้ปกครองไม่ว่าง บ้างก็บอกว่าลืม...ทำให้ผมต้องประกาศหน้าเสาธงอย่างจริงจัง

        ๓๐ พฤศจิกายน..ผมให้ยกมือ ปรากฏว่าตรงตามข้อมูลที่ครูประจำชั้นส่งมา ยังคงเหลืออีกร้อยละ ๑๐ ที่ยังไม่ไปตามนัด อันเนื่องมาจากอาศัยอยู่กับพ่อแก่แม่เฒ่า ซึ่งไม่สามารถจะพาลูกหลานไปโรงพยาบาลได้..

        ผมคิดว่า การบริหารจัดการด้านสุขภาพนักเรียน ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ต้องอาศัยมาตรการและการทำงานที่จริงจัง ตลอดจนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เพื่อลดปัญหาในตัวเด็กและเยาวชน ให้เติบโตสมวัย ทั้งจิตใจและร่างกาย...

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑  ธันวาคม  ๒๕๖๑

หมายเลขบันทึก: 658435เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2018 19:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ธันวาคม 2018 19:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท