ชีวิตที่พอเพียง 3327. ความเสมอภาคทางการศึกษา (๗) ส่งเสริมนักเรียนขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส เพื่อการศึกษาต่อสายอาชีพชั้นสูง



บันทึกที่ ๑    บันทึกที่ ๒    บันทึกที่ ๓   บันทึกที่ ๔   บันทึกที่ ๕    บันทึกที่ ๖

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ มีการนำโครงการดำเนินการ ๒ โครงการเข้าขอรับการอนุมัติ  คือโครงการตามบันทึกที่แล้ว  กับโครงการตามบันทึกนี้ ผมเขียนบันทึกนี้จากการอ่านเอกสารการประชุม แล้วใคร่ครวญสะท้อนคิดออกมาเป็นความเห็นหรือความฝันส่วนตัว    ไม่ได้เข้าร่วมประชุม

คนเราทุกคนต้องการมีชีวิตที่ดี มีอนาคตที่ดี    ไม่มีใครอยากมีชีวิตที่ยากลำบาก หรือชีวิตที่เสื่อมทราม    สังคมจึงต้องจัดระบบการศึกษาให้คนได้เรียนเพื่อไปประกอบอาชีพและใช้ชีวิตที่ดีตามความชอบความถนัดของตน    

ต้องจัดให้การเรียนสายอาชีพเป็นการเรียนสู่ชีวิตที่ดี   

ในอดีตเราเพลี่ยงพล้ำ  จัดการเรียนสายอาชีพในลักษณะเส้นทางของ “ผู้แพ้” ทางด้านการเรียนวิชาการ     และเป็นเส้นทางที่ก่อปมด้อย  รู้สึกว่าผู้คนดูถูกดูแคลน    ทำให้นักศึกษาสายอาชีพส่วนหนึ่งมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง    ยกพวกตีกัน  และรวมตัวกันเป็นสมาคมศิษย์เก่าที่คอยสืบทอดนิสัยก้าวร้าวรุนแรงแก่รุ่นน้อง    ใครมาขวางเส้นทางของตนก็มุ่งทำร้าย    มีคนเล่าให้ผมฟังว่า นายกสภาวิทยาลัยอาชีวะที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง พยายามแก้ไขปัญหานี้    และถูกดักยิง แต่มีการปิดข่าว    นั่นคือข่าวด้านลบ  ซึ่งเกิดต่อวงการอาชีวศึกษาจำนวนน้อย    แต่ก็ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงไปทั่ววงการ  

การพลิกฟื้นคุณค่า และเกียรติภูมิของการศึกษาสายอาชีพจึงมีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตของบ้านเมือง    และน่ายินดีที่เวลานี้เรามีโรงเรียนหรือวิทยาลัยอาชีวะที่มีคุณภาพ ได้รับการยอมรับนับถือ    ผู้จบการศึกษาเป็นที่ต้องการของนายจ้าง หลายสถาบัน    ในเอกสารภาคผนวกของโครงการระบุชื่อ ๒๔ สถาบัน    

โครงการนี้จะให้ทุนนักเรียนกลุ่มที่มาจากครอบครัวยากจน กลุ่มร้อยละ ๒๐ ล่างของประเทศ เริ่มปีการศึกษา ๒๕๖๒ จำนวน ๒,๕๐๐ ทุน   เข้าเรียน ปวส. ๒ ปี   หรือเข้าเรียน ปวช. - ปวส. ๕ ปี    ได้ทุนค่าครองชีพ ค่าที่พัก และค่าวัสดุอุปกรณ์การเรียน เดือนละ ๗,๐๐๐ บาท   ในปีการศึกษา ๒๕๖๓ จะเพิ่มเป็น ๓,๐๐๐ ทุน  

โดยจะเลือกสถาบันที่จัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ๕๐ แห่ง (จากที่มีอยู่ประมาณ ๙๐๐ แห่ง) เป็นผู้ดำเนินการ    จัดการศึกษาในลักษณะเข้มข้น  ทันสมัย  และตรงความต้องการ    โดยมีงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้น    

เน้นที่การสร้างกำลังคนสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ๑๐ อุตสาหกรรมหลักในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (first S-curve) ได้แก่  (๑) ยานยนต์ใหม่  (๒) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ  (๓) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  (๔) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ  (๕) การแปรรูปอาหาร    กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve)    ได้แก่  (๖) หุ่ยยนตร์อุตสาหกรรม  (๗) การบินและโลจิสติกส์  (๘) เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ  (๙) ดิจิทัล  (๑๐) การแพทย์ครบวงจร

เป้าหมายของโครงการมี ๓ ประการ ได้แก่

  1. 1. ส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ (รายได้ครอบครัวอยู่ในกลุ่มร้อยละ ๒๐ ล่าง) แล้ด้อยโอกาสให้ได้รับโอกาสการพัฒนาและศึกษาต่อในสายอาชีพชั้นสูง
  2. 2. สร้างความเข้มแข็งของสถานศึกษา ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน และการบริหารจัดการสถานศึกษา ที่สร้างสมรรถนะ  และคุณภาพชีวิตของเยาวชน
  3. 3. พัฒนาคุณภาพการผลิตและพัฒนากำลังคนายอาชีพที่ตอบสนองต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศไทย ๔.๐   

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ต.ค. ๖๑


หมายเลขบันทึก: 658767เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2018 19:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2018 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I read this and compare to การประชุมประจำปี การพัฒนาการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพ < https://www.gotoknow.org/posts/658766 > which asserts: - “…การศึกษาต้องไปให้ถึง Transformative Learning จึงจะสร้างคนแห่งอนาคตได้…” and- “เป้าหมายของแผนมี ๔ ข้อ
1. ประชาชนเข้าถึงบริการ อย่างเท่าเทียมกัน คุณภาพของบริการมีความเท่าเทียม 2. หน่วยบริการมีกำลังคนเพียงพอ มีสมรรถนะเหมาะสม 3. ระบบการศึกษาของประเทศ สร้างบุคลากรสุขภาพที่มีสมรรถนะเหมาะสม มีเจตคติที่ดีต่อการทำงานในภูมิภาค และทำงานเป็นทีมข้ามวิชาชีพได้
4. กำลังคนด้านสุขภาพมีความสุข”

I can see some BIG differences in strategies for treatments of “backbone resources” for Thailand 4.0. Perhaps lessons learned from this (การพัฒนาการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพ) can be applied to the more generic การศึกษาต่อสายอาชีพชั้นสูง - which includes …(๑๐) การแพทย์ครบวงจร.

Sharing lessons could mean ‘faster track’, ‘lower cost’ (to Taxpayers) and real equality for people of various walks of life.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท