การประชุมประจำปี การพัฒนาการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพ ครั้งที่ ๕ วันที่สอง (๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ วันสุดท้าย)



การประชุมวันที่สอง เริ่มด้วยรายการโฆษณาสาระในห้องย่อย ที่จะเริ่มตั้งแต่ ๑๑.๐๐ น. ไปจนถึง ๑๖.๐๐ น.    โดยประชันกันระหว่าง ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ (ห้องย่อยเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตกับผู้ใช้)   กับ ศ. นพ. พงษ์ศักดิ์ วรรณไกรโรจน์ (ห้องย่อยเกี่ยวกับ I-Reform – Institutional & Instructional Reform)    ทั้งสองท่านนำเสนอได้อย่างมีสาระและสีสันสนุกสนาน

ยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสุขภาพ การวางแผนสู่การปฏิบัติ : บทเรียนจากประเทศสหราชอาณาจักร

โดย ศ. นพ. Ian Cumming, CEO Health Education England    ท่านผู้นี้เคยมาพูดเรื่องเดียวกันในการประชุมครั้งแรก เมื่อ ๔ ปีที่แล้ว    ท่านบอกว่า ได้มารับรู้พัฒนาการของประเทศไทย เห็นชัดว่ากำลังเผชิญความท้าทาย และมีแนวทางยุทธศาสตร์ไปในทางเดียวกันกับสหราชอาณาจักร   

เรื่องการศึกษาของบุคลากรสุขภาพนี้ เป็นประเด็นท้าทายระดับโลกนะครับ    ไม่ว่าประเทศใด ต่างก็ต้องมียุทธศาสตร์การดำเนินการที่ถูกต้อง    เพราะถ้าดำเนินการผิด ก็จะตกลงไปในหายนะแห่งความหมดเนื้อหมดตัว จากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ที่ไม่จำเป็นต้องจ่าย   หรือจ่ายอย่างไม่คุ้มค่า    รวมทั้งผลลัพธ์ด้านสุขภาพของประชาชนจะไม่ดี ทั้งๆ ที่ประเทศจ่ายเงินมาก ต่อบริการสุขภาพ   

บุคลากรวิชาชีพสุขภาพที่มีทัศนคติ (attitude),  พฤติกรรม (behavior),  สมรรถนะ (competencies), และความรู้ (knowledge) ที่ถูกต้อง คือปัจจัยสำคัญที่สุดของระบบสุขภาพที่ดี    แต่ที่ยากคือระบบการศึกษาต้องสร้างคนที่สามารถไปทำงานในอนาคต ๒๕ ปีข้างหน้าได้อย่างดี มี ๔ ตัวข้างบนที่ถูกต้อง ใน ๒๕ ปีข้างหน้า    นี่คือความท้าทยของวงการศึกษาทั้งระดับพื้นฐานและระดับวิชาชีพ ทุกวิชาชีพ    ไม่ใช่เฉพาะวิชาชีพด้านสุขภาพ  

ฟังแล้วผมบอกตัวเองว่า การศึกษาต้องไปให้ถึง Transformative Learning จึงจะสร้างคนแห่งอนาคตได้   

 

วิพากษ์ แผนแม่บทกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศไทย ในระยะ ๑๐ ปีข้างหน้า  

คนซักคือ ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์  วิทยากรคือ ศ. Ian Cumming  กับ ท่านรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์  ผู้ทำหน้าที่ประธานร่างแผนฉบับนี้ ตอนที่เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง เขต ๒    ก่อนจะขยับตำแหน่งเป็นรองปลัดฯ  

ศ. Ian Cummingบอกว่าท่านให้ความสำคัญต่อการทำงานเป็นทีม  การให้โอกาสเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการสุขภาพ  และการจัดการความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ    ในเรื่องการจัดการความต้องการนั้น ต้องให้พอดีกับขีดความสามารถด้านการเงินของประเทศ    ท่านชอบแนวความคิดของกระทรวงสาธารณสุขที่เน้นให้เจ้าหน้าที่มีความสุขด้วย    ความท้าทายในเรื่องกำลังคนคือ ในระยะ ๑๐ ปีมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมมาก   จะมีผลกระทบต่อการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพอย่างไร    อังกฤษคิดจะผลิตพยาบาลปริญญา หลักสูตร ๔ ปี  โดยไม่มีการสอบคัดเลือก    ท่านเอ่ยถึงการจัดการศึกษา ให้คนในวิชาชีพสุขภาพมี transformative leadership

ท่านรองปลัดฯ ศุภกิจ ศิริลักษณ์ บอกว่ามีหลักการเรื่องแผนอยู่ ๓ ประการ คือ plan long, act short, update often    สำหรับแผนแม่บทกำลังคนฉบับนี้เป็นฉบับที่ ๒   แผนฯ ฉบับแรกมีการนำไปใช้ดำเนินการน้อย    แผนฉบับที่ ๒ จึงใส่กลไกขับเคลื่อนเข้าไป โดย ๔ ยุทธศาสตร์   (๑) กำหนดกลไกระดับประเทศและระดับพื้นที่เพื่อแก้การทำงานแบบแยกส่วนเป็นไซโล ต่างหน่วยงานต่างทำ  (๒) บูรณาการแผนกำลังคนกับแผนการศึกษา  และเน้นทำอย่างเป็นระบบ  (๓) มีการจัดการแบบ inter-sectoral  (๔) มีระบบข้อมูล    โดยที่แผนแม่บทฉบับที่ ๒ ยังเป็นเพียงร่าง ยังปรับปรุงได้    จุดที่สำคัญคือการเชื่อมโยงจากแผนสู่การปฏิบัติ    ซึ่งต้องการ knowledge broker   ที่มีความสามารถเชื่อมโยงกับนักวิชาการและนักการเมืองได้    และต้องมีการสื่อสารแผนต่อสาธารณชน

เป้าหมายของแผนมี ๔ ข้อ   

  1. 1. ประชาชนเข้าถึงบริการ อย่างเท่าเทียมกัน  คุณภาพของบริการมีความเท่าเทียม
  2. 2. หน่วยบริการมีกำลังคนเพียงพอ  มีสมรรถนะเหมาะสม 
  3. 3. ระบบการศึกษาของประเทศ สร้างบุคลากรสุขภาพที่มีสมรรถนะเหมาะสม  มีเจตคติที่ดีต่อการทำงานในภูมิภาค  และทำงานเป็นทีมข้ามวิชาชีพได้  
  4. 4. กำลังคนด้านสุขภาพมีความสุข

Ian Cumming : เรื่องระบบข้อมูลกำลังคน  ในยุคนี้ต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน เช่นในสหราชอาณาจักร สมัยก่อน หมอจีพี ทำงานด้านบริการทางการแพทย์ร้อยละ ๙๕ ของเวลาทั้งหมด   แต่เวลานี้ตัวเลขลดลงเหลือ ๘๐   ข้อมูลนี้จะนำไปสู่การจัดการเพื่อปรับให้มีการลดงานที่ไม่เกี่ยวกับเวชปฏิบัติของแพทย์จีพีลง    ข้อมูลเกี่ยวกับรสนิยมในการดำรงชีวิตของคนยุคมิลเลนเนียลเปลี่ยนไป    นำมาใช้ปรับเงื่อนไขการจ้าง    คนยุคใหม่ต้องการเวลาไปท่องเที่ยวต่างประเทศ    มีคนจำนวนมากทำงานปีเดียวแล้วลาออก เพื่อใช้เวลาไปเที่ยวต่างประเทศเป็นเวลาสองสามเดือน    แล้วค่อยกลับมาสมัครงานใหม่    การจ้างงานอาจต้องปรับเงื่อนไขว่า  หากทำงานครบ ๓ ปี  จะได้สิทธิ์ลา ๓ เดือนโดยได้เงินเดือนเต็ม   

ในช่วงอภิปรายและตั้งคำถาม มีการอภิปรายเรื่องผลกระทบจากพัฒนาการของ AI ต่อบางวิชาชีพ หรือบางภารกิจ    เช่นอาจทำให้ไม่ต้องใช้รังสีแพทย์อ่านผล X-rays, CT. MRI    อาจไม่ต้องใช้พยาธิแพทย์อ่านผล histopathology    ความต้องการบริบาลที่เปลี่ยนแปลงไปจากผู้สูงอายุ ต้องการบุคลากรสุขภาพสำหรับบริบาลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ    ในภาพรวมมีแนวโน้มว่า จะต้องมีการปรับปรุงบทบาทของวิชาชีพสุขภาพให้เหมาะสมต่อบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป  

Community-Engaged Health Professional Education

ตอนบ่ายผมไปฟังห้องย่อยเรื่องการศึกษาของบุคลากรสุขภาพแบบเชื่อมโยงกับชุมชน    สรุปสาระเชิงนวัตกรรมที่ผมพอจะจับได้ก็คือ    แต่ละวิชาชีพสามารถใช้การปฏิบัติงานในบริบทของพื้นที่หรือชุมชน สร้างแนวทางการทำงานเชิงพัฒนาของวิชาชีพตนได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังกรณีตัวอย่าง รศ. ดร. กนิษฐา นันทบุตร แห่งคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ในทำนองเดียวกัน คนในวิชาชีพสุขภาพที่ทำงานอยู่ในระบบสุขภาพในพื้นที่    หากเอาใจใส่พัฒนางานของตนสู่ platform หรือการสร้างสรรค์ใหม่ๆ    การมีนักศึกษาไปเรียนรู้และฝึกงาน สามารถใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี   ดังกรณี นพ. สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนาทวี จังหวัดสงขลา    ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการฝึกนักศึกษาแพทย์ตั้งแต่ชั้นปีที่ ๑   เป็นการเอาจุดแข็งของนักปฏิบัติสู่การศึกษา ช่วยเสริมอาจารย์ที่มีจุดแข็งเชิงทฤษฎี    ทำให้เกิดโมเดล R2L (Routine to Learning)  ซึ่งต่อยอดได้เป็น R2L&R (Routine to Learning and Research)    ผมประทับใจที่คุณหมอสุวัฒน์ทำกระบวนการชุมชน  ให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้นำชุมชนในอำเภอ ได้รับรู้และออกข้อคิดเห็นและมีส่วนร่วมกับการเตรียมมีนักศึกษาแพทย์ไปฝึกงานในอำเภอ   ซึ่งไม่ใช่แค่ฝึกในโรงพยาบาลเท่านั้น ยังออกไปในชุมชนด้วย    ชาวบ้านบอกว่าเขาภาคภูมิใจ ที่พื้นที่หรือชุมชนของเขาจะได้เป็นที่ฝึกนักศึกษาแพทย์   

น่าสนใจที่เรามีแพทย์ในพื้นที่ คือในระดับจังหวัด ที่แม้เป็นศัลยแพทย์ก็สนใจระบาดวิทยา    และเมื่อเอาแรงบันดาลใจของตนเสนอตัวสมัครเข้าเรียนปริญญาเอกระบาดวิทยาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เขาก็เรียกตัวไปสัมภาษณ์และรับ    ที่เขารับก็เพราะคุณหมอปริญญา ชำนาญ มีประสบการณ์ทางคลินิกในบริบทพื้นที่ของไทย    และมีแรงบันดาลใจที่จะใช้ระบาดวิทยาช่วยให้งานของตนมีผลกระทบสูงขึ้นต่อสังคม   นั่นคือ assets ในตัวนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยชั้นดีต้องการ    ตอนนี้คุณหมอปริญญา มารับตำแหน่งรองผู้อำนวยการ CPIRD ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง    ท่านมาเล่าเรื่องการต่อสู้กับ internal brain drain ของแพทย์ไทย    ที่จะต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ    และโครงการ CPIRD ช่วยได้ส่วนหนึ่ง    ผมชื่นชมผู้บริหาร CPIRD ทุกยุค ที่ทำงานแบบเก็บข้อมูล M&E ตั้งคำถามวิจัย    มีผลงานวิจัยตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง    และที่สำคัญ ใช้ผลงานวิจัยในการปรับปรุงโครงการ และใช้สื่อสารกับฝ่ายนโยบาย   เพื่อให้ได้รับทรัพยากรสนับสนุนโครงการอย่างเหมาะสม  

CPIRD แบบใหม่ดำเนินการโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ร่วมกับ รพ. ศูนย์หาดใหญ่ และยะลา  ร่วมกับ รพช. โดยรอบ ๑๐ แห่ง   ผมประทับใจกระบวนการพัฒนาหลักสูตร ที่เล่าโดย รศ. พญ. จิตเกษม สุวรรณรัตน์ อดีตรองคณบดีฝ่ายวิชาการ ที่เป็นแม่งาน    ใช้กระบวนการแบบมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นัดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการในวันหยุดราชการทุกเดือนเป็นเวลา ๒ ปี   จึงได้ข้อยุติรูปแบบของ Community-based medical education   ที่ใช้หลักการ 6C

  1. 1. Continuous community attachment   โดยไปฝึกใน รพช. ทุกปี ตลอด ๖ ปี   รวม ๕๘ เครดิต
  2. 2. Competency-based
  3. 3. Comprehensive health care
  4. 4. Cultural diversity concern
  5. 5. Chronic ambulatory care
  6. 6. Collaboration 

คุณหมอบุญรัตน์ วราชิต รพ. หาดใหญ่ ให้ความเห็นสั้นๆ ว่า    คุณค่าอย่างหนึ่งของการที่ นศพ. ได้ฝึกในพื้นที่คือ ได้เรียนรู้เชิง longitudinal integration   คือได้เห็นภาพเคลื่อนไหวของผู้ป่วยในระยะยาว    

ช่วงที่ผมตื่นตาตื่นใจที่สุดคือช่วงที่คุณสมคิด เพื่อนรัมย์ () (รพ. ท่าคันโท  จ. กาฬสินธุ์) เล่าเรื่องเส้นทางการพัฒนานักกายภาพบำบัดชุมชน   โดยฟันฝ่า ลองผิดลองถูก มาเป็นเวลาเกือบ ๒๐ ปี กว่าจะได้รับการยอมรับในปัจจุบัน    โดยใช้พลังของ ปัญญา และ เมตตา    ยึดหลักว่า ชีวิตคนมีคุณค่า   ใช้แนวคิดการทำงาน ๓ ระดับ  (๑) ทำได้เอง  (๒) ต้องร่วมกับคนอื่น  (๓) ทำโดยคนอื่น   เป็นการพัฒนาระบบงาน และระบบวิชาชีพ จากการทำงาน    ฟังแล้วผมตีความว่า ความสำเร็จเกิดจากแรงบันดาลใจที่คุณสมคิดมีอย่างล้นเหลือ    

ขอบันทึกไว้ว่า การเขียนบันทึกนี้หลังการประชุมเกือบ ๓ สัปดาห์ ทำได้จากการจดบันทึกในช่วงฟังโดยใช้ smart phone Samsung Galaxy Note 8   และถ่ายรูปสไลด์ ppt  เอามาดูประกอบการเขียน    

วิจารณ์ พานิช

๑ ธ.ค. ๖๑

ห้อง ๖๑๓  โรงแรมไชยแสง วิลล่า   จ. สิงห์บุรี


1 Prof. Ian Cumming

2 การอภิปรายเรื่องแผนกำลังคนด้านสุขภาพ

3 ทีม rapporteur

4 วิทยากร CEHPE ช่วงแรก

5 วิทยากร CEHPE ช่วงหลัง

หมายเลขบันทึก: 658766เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2018 19:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2018 19:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท