ชีวิตที่พอเพียง 3336. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๙) การผลิตครูเพื่อเด็กด้อยโอกาส





บันทึกที่ ๑   บันทึกที่ ๒   บันทึกที่ ๓    บันทึกที่ ๔    บันทึกที่ ๕    บันทึกที่ ๖ บันทึกที่ ๗    บันทึกที่ ๘   

บันทึกนี้เป็นตอนที่ต่อจากตอนที่ ๕  ที่ลงใน บันทึกนี้    ซึ่งเป็นเรื่อง เตรียมการสนับสนุนการผลิตและพัฒนาครูในระบบพิเศษเพื่อยกระดับคุณภาพโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล    

เช้าวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทาง โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลให้เป็นครูรุ่นใหม่เพื่อสร้างคุณภาพโรงเรียนของชุมชน ของ กสศ. ในฐานะที่ปรึกษา 

ผมได้เรียนรู้วิธีทำงานอันชาญฉลาดของ กสศ. ว่าในช่วง ๒ เดือนที่ผ่านมา   ได้ดำเนินการขอข้อมูลและคำแนะนำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สป.สธ.  (สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ),  สพฐ.,  กคศ. (คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา),  สกอ.,  และคุรุสภา     และได้รับคำแนะนำและการสนับสนุนอย่างดียิ่ง   

โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลให้เป็นครูรุ่นใหม่ เพื่อสร้างคุณภาพโรงเรียนของชุมชน มีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ๓ ข้อ ดังนี้

  1. 1. นักเรียนยากจนด้อยโอกาสได้เรียนครู และเป็นครูรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถไปปฏิบัติงานในโรงเรียนขนาดเล็กและชุมชนในพื้นที่ห่างไกล จำนวน ๑,๕๐๐ คน ในระยะเวลา ๑๐ ปี
  2. 2. โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล กว่า ๑,๕๐๐ แห่ง เกิดการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ ของครู นักเรียน และชุมชน ในพื้นที่ร่วมกันอย่างเป็นระบบ ผ่านกลไกการผลิตและพัฒนา “ครูของชุมชน”
  3. 3. สถาบันอุดมศึกษาท้องถิ่นเกิดการปรับปรุง หลักสูตร การเรียนการสอน เพื่อผลิตและพัฒนาครูได้อย่างมีคุณภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนและบริบทชุมชน 

โครงการนี้ผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาแล้ว ในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑  

ในคณะกรรมการมีผู้แทนจาก สพฐ. และ สกอ. ซึ่งให้ข้อมูลประสบการณ์การทำงานในภาคปฏิบัติของโครงการคล้ายๆ กัน   เป็นประโยชน์ในเชิงเข้าใจบริบท โดยเฉพาะตัวผู้เข้าเรียน อย่างดีมาก    แต่ท่านเหล่านี้ อยู่ในกรอบของระบบ   จึงแนะนำในเชิงต้องปรับโครงการให้เข้ากับกรอบเดิม   ที่เป็นกรอบที่ไม่ดี   เป็นกรอบที่สร้างปัญหาแก่บ้านเมือง    ผมจึงทักท้วงว่า กติกาต่างๆ ล้วนเป็นสมมติ ที่มนุษย์เราสร้างขึ้น    หากไม่เหมาะสมต่องานนี้ ย่อมแก้ไขกติกานั้นได้    เราต้องทำงานแนว result-based   ไม่หลงอยู่ใน rule-based แบบราชการและการเมือง  

ท่านประธาน (รศ. ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ) บอกที่ประชุมว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน มีกรรมการท่านหนึ่งบอกว่า กสศ. จะทำงานสำเร็จได้ ต้องทำงานแบบกบฏ   ซึ่งผมตีความว่า ทำงานแบบแหวกแนว    ไม่ทำตามวิธีเดิมๆ ไปเสียทั้งหมด 

เห็นได้ชัดเจนว่า กสศ. จะต้องมียุทธการฝ่าด่านวัฒนธรรมการทำงานแบบล้าหลังในระบบการศึกษา    จึงจะทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้สำเร็จ      

ในที่ประชุม ดร. อุดม วงษ์สิงห์ ผู้รับผิดชอบโครงการจัดทำกรอบงาน และขั้นตอนการทำงานอย่างละเอียดมาให้คณะกรรมการให้คำแนะนำ      เห็นได้ชัดว่า เป็นโครงการสร้างครูแนวใหม่ ที่ต้องออกแรงด้านการจัดการสูงมาก   

ผมบอกที่ประชุมว่า ผมมองเห็นคุณค่าของโครงการนี้ ๔ ประการ คือ (๑) เด็กยากจนในพื้นที่ห่างไกลได้เรียนครู  (๒) โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ที่จำเป็นต้องดำรงอยู่ (protected schools) มีครู  (๓) ปรับปรุงวิธีผลิตครูสมัยใหม่  (๔) เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา    

ผมประทับใจที่ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รศ. นพ. ปรีชา สุนทรานันท์ ที่ “มีใจ” ให้แก่งานนวัตกรรมการศึกษา และลงแรงผลักดันเต็มที่

วิจารณ์ พานิช

๒๖ พ.ย. ๖๑


หมายเลขบันทึก: 658979เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2018 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2018 08:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท