ชีวิตที่พอเพียง 3332. ความเสมอภาคทางการศึกษา (๘) จากการพัฒนาการคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ สู่คุณภาพพลเมือง



บันทึกที่ ๑    บันทึกที่ ๒    บันทึกที่ ๓   บันทึกที่ ๔   บันทึกที่ ๕    บันทึกที่ ๖    บันทึกที่ ๗

บ่ายวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ผมไปร่วมประชุม คณะกรรมการกำกับทิศทาง โครงการวิจัยพัฒนาเครื่องมือและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และความคิดวิเคราะห์ในชั้นเรียน ครั้งที่ ๒/๒๕๖๑    ที่ กสศ.   โดยที่โครงการนี้ต่อเนื่องมาจากสมัยเป็น สสค.   ดำเนินการมา ๓ ปีแล้ว    เป็นโครงการร่วมมือกับ OECD และ สพฐ.   ในการวิจัยทดลองพัฒนาสมรรถนะครูและโค้ช    ในการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ (creative thinking) และความคิดวิเคราะห์ (critical thinking) ทำในหลายประเทศ

ผมเคยเล่าเรื่อง workshop ของโครงการนี้เมื่อ ๒ ปีที่แล้วที่ ()

เนื่องจากผลการวิจัยของไทยส่งไปเร็ว ทีมวิจัยของ OECD จึงส่งผลวิเคราะห์เบื้องต้นมาให้    เราดูกันด้วยความตื่นเต้น ว่าบางมิติของการคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนไทยที่เป็นกลุ่มทดลอง พัฒนาเหนือนักเรียนกลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ    แต่การแปลผลนี้ยังเป็นผลเบื้องต้น เร็วเกินไปที่จะตีความชัดเจน    ยังไม่ได้เปรียบเทียบกับผลจากประเทศอื่น 

ผลผลิตของการวิจัยนี้ คือเครื่องมือวัด creative thinking & critical thinking   ที่เป็น formative assessment tool  สำหรับครูใช้ในห้องเรียน    และเครื่องมือพัฒนา  creative thinking & critical thinking    สำหรับครูใช้ในชั้นเรียน       

ที่จริงไม่ต้องมีผลการวิจัย เราก็พอจะเดาได้ว่า วิธีจัดการเรียนรู้ที่ใช้ในโครงการนี้ ดีกว่าวิธีการที่โรงเรียนไทยโดยทั่วไปใช้อยู่    เป็นวิธีการสร้างมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑   ในขณะที่วิธีการที่ใช้กันในร้อยละ ๙๐ ของโรงเรียนไทยเป็นวิธีการแห่งศตวรรษที่ ๒๐   

ที่น่ายินดีคือ สพฐ. ได้จัดงบประมาณเหลือจ่ายในปีงบประมาณ ๒๕๖๑ จำนวน ๙.๕ ล้านบาท    ให้ทีมงานพัฒนา Application I-Profilerเป็นระบบฐานข้อมูลเครื่องมือส่งเสริมและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และทักษะการคิดวิเคราะห์ในชั้นเรียน    ท่านที่สนใจเข้าไปดู Application นี้ ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนา ได้ที่ ()    การพัฒนา I-Profiler นี้ทำร่วมกับครู ๔๔๐ คน จาก ๒๒๐ โรงเรียน   โดยมีการฝึกวิทยากรแกนนำช่วยโค้ชครูอีกต่อหนึ่ง    เท่ากับ I-Profiler จะพัฒนาขึ้นจากการปฏิบัติและ PLC ของครูโดยตรง   

ต่อเนื่องจากโครงการข้างต้น ศูนย์ PISA ของ สพฐ. ได้ จัดทำคำของบประมาณปี ๒๕๖๒ ในงบ “บูรณาการยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ให้มีคุณภาพ เท่าเทียม และทั่วถึง”    เป็นโครงการ ๓ ปี สู่การประเมิน PISA 2021    โดยขณะนี้มี “โรงเรียน PISA” จำนวน ๑๕๓​โรงเรียน    ดร. ณัฐา เพชรธนู ผอ. ศูนย์บอกว่าต้องการดำเนินการให้ทั่วทุกเขตพื้นที่การศึกษา ๒๒๕ เขต   เขตละ ๑ โรงเรียน  

ผมจึงเสนอว่า ควรใช้วิธีประกาศแข่งขันให้โรงเรียน ๑๐ แห่งในแต่ละเขตพื้นที่    ร่วมกันเสนอโครงการเครือข่ายโรงเรียนบูรณาการยกระดับคุณภาพการศึกษาขอรับการสนับสนุน    ในประกาศระบุเป้าหมายผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนที่ต้องการ    ให้เครือข่ายโรงเรียนเสนอยุทธศาสตร์และวิธีการ เพื่อคัดเลือกหาวิธีการที่แยบยลและน่าสนับสนุน    ในการดำเนินการ ใช้เครื่องมือ I-Profiler ช่วย    วิธีการที่ผมเสนอเป็น bottom-up approach   ในขณะที่ครงการวิจัยร่วมกับ OECD  เป็น top-down approach

การดำเนินการเพื่อยกระดับการคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ ตามที่ กสศ. ร่วมกับ OECD   จึงนำไปสู่การดำเนินการเพื่อยกระดับคุณภาพพลเมืองแห่งอนาคตผ่านการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นองค์รวม    และสู่ความเสมอภาคทางการศึกษา

ผู้บริหารของ กสศ. ที่ดูแลโครงการนี้ (ผมเรียกง่ายๆ ว่า โครงการ creativity)    คือ ดร. ไกรยส ภัทราวาท  ส่งอีเมล์มาให้ผมก่อนการประชุมหนึ่งวัน    ปรึกษาเรื่องการนำผลการวิจัยไปใช้ต่อ ผมตอบไปสั้นๆ ดังนี้  “หากมองที่ความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นหลัก เราต้องช่วยกันนำเอา findings ที่ได้จากโครงการ และวิธีการพัฒนา creativity ที่พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลในเด็กไทย เข้าสู่เด็กทั้งประเทศ รวมทั้งเด็กด้อยโอกาส/ในพื้นที่ห่างไกล พรุ่งนี้คำถามผมคือ วิธีการที่ใช้สร้าง creativity มีผลให้เด็กหัวดีแต่ไม่ชอบเรียน หันมาชอบเรียนมากขึ้นไหม ผมมีความเชื่อว่า น่าจะมีผล”

เมื่อถึงคราวประชุมจริง    ผมไม่ได้ตั้งคำถามดังกล่าว    เพราะคิดว่าผลการวิจัยยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น    ยังไม่มีผลการวิเคราะห์ที่ลึกและเปรียบเทียบระหว่างประเทศ  

แต่ผมได้เสนอต่อ สพฐ. ให้ดำเนินการติดตามครูในโครงการนี้    ว่ามีใครบ้างที่นำเอาเทคนิคหรือเครื่องมือนี้ไปใช้ต่อเนื่อง (เรียกชื่อเล่นๆ ว่าครู creativity ต่อเนื่อง)    แล้วชวนกันประเมินผลที่นักเรียน    เพราะในโครงการวิจัยเป็นการทดลองระยะสั้นเพียง ๑๐ สัปดาห์แล้ววัดผล    แต่เป้าหมายแท้จริงคือ ใช้เทคนิคนี้เป็นประจำในชีวิตการเป็นครู    สพฐ. จึงน่าจะสนับสนุนให้เกิด PLC ครู creativity ต่อเนื่อง    ออกขยายผลในวงกว้าง    เพื่อสร้าง new normal ของการจัดการเรียนการสอนในครูไทยทั้งประเทศ    

วิจารณ์ พานิช

๖ พ.ย. ๖๑




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท