บันทึกเข้าร่วมประชุม 10th AAAH ที่ฮานอย : 1. หลักการสำคัญของกำลังคนด้านสุขภาพ และ Day 0


The Asia Pacific Action Alliance on Human Resources for Health (AAAH) (1)   มีสำนักงานคณะเลขานุการกิจ (secretariat) อยู่ที่ IHPP ของเรานี่เอง    จัดประชุมทุกๆ ๒ ปี   ปีนี้เวียดนามเป็นเจ้าภาพ จัดประชุมที่ฮานอย ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑   ในฐานะประธานมูลนิธิ IHPP ผมจึงได้รับเชิญไปร่วมประชุมด้วยเสมอ    แต่บางครั้งก็ติดธุระไปร่วมไม่ได้    ผมได้บันทึกเล่าการไปร่วมประชุมครั้งก่อนๆที่ ()     

ปีนี้ผมไปร่วมประชุมได้เพียง ๒ วันแรก เพราะวันที่ ๒๑ มีงานสำคัญที่กรุงเทพ

ประเด็นหลักของการประชุม 10thAAAH คือการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินการตามเอกสารของ WHO เรื่อง Global strategy on human resources for health :  Workforce 2030  (3) ที่ออกเผยแพร่ในปี 2016   

ตามเอกสารดังกล่าว หลักการสำคัญคือ HRH เป็น means สู่เป้าหมายสำคัญคือ UHC และ SDG    อ่านเอกสารนี้แล้วผมคิดว่าประเทศไทยเราก้าวหน้ามากทีเดียว    คือกำลังคนของเรารองรับระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้าได้ดีพอสมควร    แต่ไม่ได้หมายความว่าระบบ HRH ของเราสมบูรณ์นะครับ    ที่น่าภูมิใจคือเรามีกลไกความร่วมมือระหว่างระบบบริการกับระบบการศึกษา    ที่เพิ่งประชุมประจำปีไปเมื่อวันที่ ๑๒ - ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ นี่เอง     


เดินทาง

ทาง IHPP จัดให้ผมเดินทางวันอาทิตย์ที่ ๑๘ โดยการบินไทยเที่ยวบินที่ TG 560  7.45 – 9.35    เครื่องบินออกช้าครึ่งชั่วโมง เพราะต้องตามหาผู้โดยสาร ๕ คน    ซึ่งเมื่อขึ้นมาก็เดาได้ว่าเป็นคนเวียดนามเดินช็อปปิ้งเพลิน    เครื่องบิน Airbus A330-300 ลำใหญ่ ผู้โดยสารเต็ม    มีพวกเรากว่าสิบคน   แต่เครื่องบินก็ลงที่สนามบินนอยไบเกือบตรงเวลา  คือช้าไปเพียง ๑๐ นาที    ความสะดุดตาประการแรกคือท้องฟ้ามัวทั่วไปหมด    น่าจะเป็นมลภาวะทางอากาศ    ประการที่สองสนามบินใหม่เอี่ยมสะอาดอ่อง โดยเฉพาะทางเลื่อนสะอาดสะดุดตา การผ่านตรวจคนเข้าเมืองสะดวก    เจ้าหน้าที่ไม่ถามอะไรเลย    แต่รอกระเป๋าช้าหน่อย    ที่รอช้ามาก (ราว ๑ ชั่วโมง) คือการรวมพลขึ้นรถบัสไปโรงแรม (เชอราตัน ติดกับ West Lake)    กว่าจะได้ออกก็เกือบ ๑๑ น.   ถึงโรงแรมเกือบเที่ยง     ผมได้ห้อง ๑๖๑๑ มองเห็นวิวทะเลสาบสวยงาม

IHPP จัดการเลี้ยงอาหารเที่ยงที่โรงแรม เป็นบุฟเฟ่ต์    อร่อยสมกับเป็นโรงแรมห้าดาว    แถมยังเอากุ้งตัวโตอบเนยมาเสิร์ฟตอนเรากินของหวานแล้ว    บอกว่าเป็นบริการพิเศษสำหรับ brunch ในวันเสาร์อาทิตย์    

Side Meeting

เรื่อง Strategies and lessons learned in increasing workforce efficiencies for progress on the Global HRH strategy    จัดโดย USAID    เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๖.๓๐ น.    มีคนเข้าฟังเต็มห้อง ประมาณ ๗๐ คน    ที่ห้องข้างๆ มีพิธีแต่งงาน    การประชุมแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง

ช่วงแรก เรื่อง Building the Future Health Workforce and Workforce Planning and Policymaking   มี panelist 3 คน    คนหนึ่งคือ นพ. ฑิณกร โนรี พูดเรื่อง Education strategies for doctor retention : Thai experience  ดู ppt ที่ใช้ประกอบการนำเสนอที่ ()    อีกสองคนมาจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย   

ทาง USAID เขาขับเคลื่อนหลักการ Health Worker Life Cycle Approach (5)    เป็นวิธีคิดที่เป็นระบบดี   รวมทั้ง WHO ได้ออก Health Labour Market Framework (5a) ที่มีประโยชน์มาก

การนำเสนอและคำถามเน้นที่ประสบการณ์ของสามประเทศ และเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศอื่น    ในเรื่องการผลิตบุคลากรสุขภาพให้ได้คุณภาพ  และกระจายออกไปทั่วประเทศ    เพื่อให้ระบบสุขภาพมี equity    สิ่งที่สะกิดใจผมมากที่สุดคือ ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ การผลิตบุคลากรสุขภาพตกอยู่ในมืออุดมศึกษาภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่    ต่างจากประเทศไทยที่โรงเรียนแพทย์มี ๒๑ แห่ง เป็นเอกชนเพียง ๒   

ช่วงหลัง เรื่อง Optimizing the Current Health Workforce and Improving Health Worker Performance, Productivity and Motivation    มี panelist ๔ คน    จากประเทศฟิลิปปินส์  อินโดนีเซีย  บังคลาเทศ  และ USAID    ผมมีข้อสังเกตจุดอ่อนของประเทศรับความช่วยเหลือ มักโดนประเทศ donor จูงจมูก    การไปนำเสนอก็ไม่ได้เสนอจากจิตวิญญาณตนเอง    แต่ไปเสนอตามความคิดของ donor   

ข้อเรียนรู้ของผมคือทาง USAID เขาคิดวิธีประเมินความเข้มแข็งของระบบกำลังคนด้านสุขภาพที่ดีทีเดียว    แต่ที่เสนอเป็นเรื่องแคบ คือ Using the Life Cycle Approach for a Rapid HIV-HRH Assessment in Indonesia    ส่วนที่ผมชอบคือ Site-level Assessment (6) ที่มี ๔ ส่วน (ดูรูปที่ 2)    ที่ผมชอบมากคือ Client Flow Mapping (รูปที่ 3) ที่จะช่วย feedback ให้มีการจัดระบบบริการที่ client-friendly มากกว่า service-provider friendly      เรื่องการประเมินระบบกำลังคนด้านสุขภาพนี้ มี WHO Guideline (7) ซึ่งออกมานานแล้ว ตั้งแตปี 2004    และ WHO มีรายงานแนะวิธีเพิ่ม productivity & performance ของ HRH ออกมาในปี 2014 (8)    ลองค้นด้วยกูเกิ้ลพบว่าเรื่องนี้เป็นวิชาการที่คึกคักมาก    แต่ผมรู้สึกว่า application เพื่อสร้างความเข้มแข็งในประเทศต่างๆ ในโลกยังไม่ดีพอ  

กินเลี้ยงอาหารเย็น

ทีม IHPP นัดทีมไทย รวม ๒๒ คน ขึ้นรถบัสไปกินอาหารเวียดนามที่ภัตตาคาร Le Lac House, 13 Tran Hung Dao, Tel 3933 3533   นั่งรถไปราวๆ ๒๐ นาที    อาคารเก่าแก่ระดับร้อยปี   อาหารอร่อย    ศ. นพ. พงษ์ศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญไวน์ รับหน้าที่สั่งไวน์แดงมาแกล้มอาหาร  

กินไปได้ค่อนทาง ก็เกิดเหตุโกลาหลกังวลใจขึ้น คือ ศ. พญ. วณิชา ชื่นกองแก้ว เกิดอาการแพ้ผงชูรส    หมดสติ ทีมเรามีพยาบาลเยอะช่วยกันดูแล    ผมจับชีพจรเห็นว่าแรงและไม่เร็วมากก็ไม่กังวลใจนัก    ทางภัตตาคารให้บริการดีมาก เรียกเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินมาดูแล    เข้าใจว่าไม่ใช่หมอ เพราะเราถามศัพท์เทคนิคเขาตอบไม่ได้ โต้ตอบภาษาอังกฤษก็ไม่ได้    เขาวัดความดัน (ปกติ)    เจาะเลือดปลายนิ้วตรวจน้ำตาล (ปกติ)    วัดปรอท    โดยระหว่างนั้นทีมพยาบาลของเราประคองตัวอยู่ตลอด    เกือบชั่วโมงจึงฟื้น

เป็นครั้งแรกที่ผมประสบเหตุคนแพ้ผงชูรสเกิดอาการขนาดนี้    ที่จริง อ. วิมรู้ตัวอยู่แล้วว่าตนเองแพ้ผงชูรส และมีอาการหมดสติเช่นนี้   

รุ่งขึ้นเช้าวันที่ ๑๙  อ. วิมออกไปวิ่งออกกำลังได้ตามปกติ    ไม่มีอาการผิดปกติหลงเหลืออยู่เลย        

วิจารณ์ พานิช

๒๐ พ.ย. ๖๑

ห้อง ๑๖๑๑  โรงแรมเชอราตัน  ฮานอย  

1 เป้าหมายของโครงการ USAID HRH 2030

2 Site-level tools

3 Client flow mapping

Aaahd0 from Pattie KB
หมายเลขบันทึก: 658907เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2018 18:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2018 18:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท