ชีวิตที่พอเพียง 3350. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๑๑) โรงเรียนพัฒนาคุณภาพของตนเอง โดยมี โค้ชช่วยหนุน



บันทึกที่ ๑   บันทึกที่ ๒   บันทึกที่ ๓    บันทึกที่ ๔    บันทึกที่ ๕    บันทึกที่ ๖ บันทึกที่ ๗      บันทึกที่ ๘

   บันทึกที่ ๙      บันทึกที่ ๑๐

เช้าวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบรับรองคุณภาพโรงเรียน ในฐานะที่ปรึกษา   

โครงการนี้เราเรียกกันสั้นๆ ว่า โครงการ sQip (School Quality Improvement Program)   และผมเคยเขียนบันทึกเกี่ยวกับโครงการนี้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/tags/sqip

แนวคิดของโครงการ sQip  คือ ๒ บริบท   ๕ มาตรการ   ๔ สิ่งเปลี่ยนแปลง   ๔ ผลลัพธ์

๒ บริบท  โรงเรียนขนาดกลาง ๒๐๐ - ๕๐๐ คน    เป็นโรงเรียนในชุมชนยากลำบาก

๕ มาตรการ   Q-Goal พัฒนาประเด็นพัฒนา ๑ - ๒ ประเด็นต่อภาคเรียน   ภาคเรียนที่ ๑/๖๐ ปูพื้นฐานร่วมด้วยกัน   จากนั้นโรงเรียนจะเป็นผู้เลือกประเด็น  (1) Q-Coach  (2) Q-PLC  (3) Q-Info ใช้ระบบสารสนเทศเป็นข้อมูลหลักฐานในการกำหนดทิศทางการพัฒนา   (4) Collaboration การมีส่วนร่วมของผู้บริหาร ครู นักเรียน ครอบครัว และชุมชน   (5) Q-Network การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างโรงเรียน

๔ สิ่งเปลี่ยนแปลง  (๑) นักเรียน ไม่หนีเรียน เพลิดเพลินกับการเรียนรู้  (๒) ผู้บริหาร  มีข้อมูลในการพัฒนาการเรียนการสอน  (๓) ครู ลดภาระธุรการ  มีเวลาใส่ใจกับนักเรียน  (๔) ชุมชน มีส่วนร่วม ในการพัฒนาการเรียนการสอน และฝึกอาชีพ

๔ ผลลัพธ์   (๑) ผลลัพธ์การเรียนรู้เพิ่มขึ้น   (๒) โอกาสชีวิต / อาชีพ สูงขึ้น   (๓) ครู/ผอ. มืออาชีพ  (๔) ชุมชนศรัทธาเชื่อมั่นในโรงเรียน  

โครงการนี้เริ่ม ๑ สิงหาคม ๒๕๖๐  มีกำหนด ๒ ปี    มีคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานวิจัย ที่มีคุณหญิง ดร.      กษมา วรวรรณ เป็นประธาน    ผมเป็นที่ปรึกษา    หัวหน้าโครงการคือ อ. นคร ตังคพิภพ    วันนี้ อ. นครรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการในช่วงเวลา ๑ ๑/๒ ปี    หรือ ๓ รอบการเรียนรู้ (๓ ภาคการศึกษา)     โดยย้ำว่าโรงเรียน ๒๐๐ โรงเรียนที่เข้าโครงการนี้ สมัครเข้าร่วมจากการชักชวน    ในช่วงครึ่งปีที่แล้วขอออกจากโครงการไป ๒ แห่ง (ทั้งสองโรงเรียนอยู่ที่ภูเก็ต)     จึงเหลือโรงเรียนในโครงการ ๑๙๘ โรงเรียน      

ผมชื่นใจที่ได้เห็นโครงการ empower โรงเรียน ครู ผู้บริหาร และชุมชน ในการตั้งเป้าและดำเนินการยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน    โดยที่แต่ละโรงเรียนใช้  Q-Info ซึ่งก็คือข้อมูลหลักฐาน (evidence) ที่ตนสร้างเอง   ในการตัดสินใจ คิดดำเนินการ โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากเบื้องบน    ผมอยากเห็นการติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น    และอยากทราบว่า โรงเรียนที่เกิดการเปลี่ยนแปลง มีเหตุปัจจัยหรือที่มาที่ไปอย่างไร    เพราะผมมองว่า โครงการนี้มีเป้าหมายที่แท้จริงคือ การสร้างความมั่นใจในการจัดการตนเองของโรงเรียน   ไปสู่โรงเรียนคุณภาพสูง   

ผมเพิ่งได้ตระหนักจากคำอธิบายของ รศ. ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล รอง ผอ. สกว. ว่า จริงๆ แล้ว โครงการ sQip เป็น “ชุดโครงการ”    ประกอบด้วย   โครงการคือ  (๑) โครงการหลัก พัฒนาระบบรับรองคุณภาพโรงเรียน ที่โรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการเอง โครงการวิจัยจัดระบบหนุนเสริม  (๒)  โครงการพัฒนาระบบ Q-Info   ดำเนินการโดยทีมงานจาก มน.   (๓) โครงการถอดบทเรียน ดำเนินการโดย ดร. กุญชลีและคณะ ดำเนินการระหว่าง ๑๙ ธ.ค. ๖๑ - ๑๖ ก.ค. ๖๒   (๔) โครงการติดตาม Q-Network  โดย ดร. บังอร   (๕) โครงการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ ดำเนินการโดย ผศ. ดร. เฟื่องอรุณ ปรีดีดิลก

ผมจึงทราบว่า โครงการถอดบทเรียน (โครงการที่ ๓) จะช่วยตอบโจทย์สำคัญๆ สำหรับนำข้อเรียนรู้จากชุดโครงการ sQip ไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยต่อไป   

โครงการหลัก พัฒนาระบบประกันคุณภาพโรงเรียน    เป็นการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายใน เน้นที่ ๓ ระบบคือ (๑) คุณภาพผลลัพธ์การเรียนรู้ ของนักเรียน  (๒) คุณภาพการบริหารโรงเรียน  และ (๓) คุณภาพของกระบวนการเรียนรู้    ฟังจาก อ. นครแล้ว     พอจะเห็นสภาพการเข็นครกขึ้นภูเขา     เพราะผู้บริหารโรงเรียนและครูไม่คุ้นเคยกับการคิดเอง    แต่ก็จับความได้ว่า เมื่อกิจกรรมดำเนินมาได้ปีครึ่งก็มีโรงเรียนที่ก้าวหน้าจำนวนหนึ่ง    ที่น่าจะเกินครึ่ง

ฟังจากสมาชิกในที่ประชุมที่มีโอกาสลงพื้นที่ ก็จับความได้ว่า    โรงเรียนที่ก้าวหน้ามักมีผู้อำนวยการที่อยู่นาน    มีความตั้งใจทำงานเพื่อนักเรียนจริงๆ    และมักเป็นโรงเรียนที่เคยร่วมโครงการพัฒนาอื่นๆ มาแล้ว เช่น LLEN (https://www.gotoknow.org/posts/tags/llen), TC (https://www.gotoknow.org/posts/tags/tc)  

ฟังจากการอภิปรายให้ความเห็นในภาพรวมแล้ว  ผมตีความว่า ชุดโครงการนี้มีคุณค่าในด้านสร้างความเป็นตัวของตัวเองของโรงเรียน    ในการพัฒนาตนเองเป็นโรงเรียนคุณภาพสูง หรือได้มาตรฐาน    เป็นการศึกษาวิธีการหนุนเสริมให้โรงเรียนพัฒนตนเองสู่เป้าหมายดังกล่าว     ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะวงการศึกษาในภาพรวมของเราอ่อนแอมาก    แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่บรรลุไม่ได้    เพราะมีตัวอย่างโรงเรียนจำนวนหนึ่งทำได้อยู่แล้ว    โดยปัจจัยสำคัญที่สุดคือ ภาวะผู้นำของผู้อำนวยการ   

อุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายทั่วทั้งประเทศ คือวัฒนธรรมการทำงานเพื่อผลประโยชน์หรือความสบายของตนเอง    และวัฒนธรรมการทำผลงานแบบหลอกๆ   

ท่านประธานไม่ยอมปล่อยให้ผมได้กิน free lunch   ท่านคอยชี้ให้ผมพูดหลังจากคนอื่นๆ พูดกันหมดแล้ว โดยผมไม่ได้ยกมือขอพูด   ผมเสนอแนะ ๓ ข้อ  (๑) ผลลัพธ์ที่คาดหวังของโครงการหลักที่ระบุว่า “โรงเรียนรู้จักการจัดการเพื่อพัฒนาคุณภาพตนเอง และจัดการเพื่อประกันคุณภาพภายใน (ทำเป็น ทำถูก)” นั้น    ควรคาดหวังความหลากหลายของโมเดล  ที่พัฒนาขึ้นตามบริบท และตามการใช้ evidence ที่ได้จาก Q-Info ของตน ในการตัดสินใจดำเนินการ   (๒) ควรถอดบทเรียน หาการดำเนินการ PLC ที่เชื่อมโยงกับ LS (Lesson Study)   ซึ่งหมายถึง PLC ที่โฟกัสโจทย์ชัดเจน ว่าต้องการแก้ปัญหาอะไรของนักเรียนหรือห้องเรียน    ใน PLC มีการร่วมกันทำให้โจทย์ชัด   แล้วสมาชิกแยกย้ายกันไปทดลองดำเนินการ    แล้วกลับมา ลปรร. กันในวง PLC   ใช้เวลาที่เหมาะสม เช่น ๑ เดือน ก็ได้ข้อสรุปหลักการและวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว     ทีมถอดบทเรียนควรรวบรวมทีม ที่ประสบความสำเร็จในการยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียน   มีการตั้งโจทย์ต่อเนื่องหลายโจทย์    และดำเนินการ PLC ต่อเนื่อง   จนเกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้จากการปฏิบัติ   (๓) เรื่อง Q-Info  ควรหาทางเชื่อมโยงสู่การใช้ big data technology   โดยอาจร่วมมือกับ นพ. ก้องเกียรติ เกษเพชร เลขาธิการมูลนิธิสดศรีฯ

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ธ.ค. ๖๑

หมายเลขบันทึก: 659390เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2019 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2019 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท