การมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนากองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีสู่การสร้างสุขภาวะ ชุมชนมลายูมุสลิม : กรณีศึกษาตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส


การมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนากองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีสู่การสร้างสุขภาวะ

ชุมชนมลายูมุสลิม : กรณีศึกษาตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

นายมะดาโอะ ปูเตะ   นายอามีน ลีมา  นายมะรีกี ปูเตะ  นายสะสือรี วาลี

135/8 ม.3 ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี  สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

*E-mail : [email protected]  (Corresponding author)  

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาบริบทของกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีของแต่ละชุมชนในเขตตำบลจอเบาะ 2) เพื่อพัฒนาและจัดการกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีในชุมชนให้มีประสิทธิภาพ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยเลือกพื้นที่ในเขตตำบลจอเบาะ ทั้ง 9 หมู่บ้าน และจะเน้นในชุมชนที่มีกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตี กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย คณะกรรมการกองทุนฯ ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน และประชาชนในชุมชน วิธีการเก็บข้อมูล การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  การศึกษาดูงานกองทุนฯ ที่ประสบผลสำเร็จ เวทีนำเสนอผลการศึกษารูปแบบกองทุนทั้ง 4 กองทุน และ การนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ขยายผลต่อชุมชนอื่นต่อไป

ผลจากการศึกษาพบว่า บริบทของกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีของแต่ละชุมชนในเขตตำบลจอเบาะ 9 หมู่บ้าน มีกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีทั้งสิ้น 4 กองทุนฯ โดยความรับผิดชอบของกองทุนฯ จะอยู่ภายใต้การดูแลของมัสยิด  2 กองทุน  และบริหารจัดการเองโดยชุมชนอีก 2 กองทุน การเก็บเงินนาวัตจะเก็บเมื่อมีสมาชิกกองทุนเสียชีวิตครอบครัวละ 20 บาท เงินสวัสดิการของแต่ละกองทุนฯ ที่จะมอบให้กับครอบครัวที่เสียชีวิตเพื่อใช้จ่ายจัดการศพ ดังนี้ บ้านตะลาฆอสะโต จำนวน 6,000 บาท บ้านนากอ จำนวน 7,000 บาท บ้านโคะ จำนวน 14,000 บาท และบ้านลุโบะปาเระ จำนวน 1,500 บาท ส่วนการพัฒนาและการจัดกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีให้มีประสิทธิภาพนั้น พบว่าการจัดการของกองทุนฯบ้านโคะมีประสิทธิภาพมากที่สุด การบริหารเงินนาวัตที่เก็บมาได้กับเงินสวัสดิการที่ต้องจ่ายให้กับครอบครัวสมาชิกนั้นไม่ติดลบ มีการปฏิบัติตามระเบียบและเงื่อนไขของกองทุนฯ เป็นอย่างดี ส่วนอีก 3 กองทุนฯ ควรมีการพัฒนาที่ดีขึ้น เพราะการบริหารจัดการเงินนาวัตที่เก็บมาได้กับเงินสวัสดิการที่ต้องจ่ายยังติดลบทุกครั้ง จำเป็นที่ต้องหาเงินส่วนอื่นมาชดเชย นอกจากนั้นเพื่อให้กองทุนฯ มีสภาพคล่องทางองค์การบริหารส่วนตำบลจอเบาะ ควรมีการช่วยเหลือกองทุนฯที่มีอยู่ในชุมชนโดยการจัดงบประมาณอุดหนุนให้กับกองทุนฯ อีกทั้งกองทุนควรมีการทำเรื่องของบสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  พัฒนาการอำเภอ หรือสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด

คำสำคัญ  : การมีส่วนร่วม  การพัฒนา  กองทุนสวัสดิการ  สุขภาวะ  มลายูมุสลิม 

บทนำ

ประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานของชุมชนไทยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มีลักษณะเฉพาะทางภาษาและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของผู้คนที่ดำรงอยู่ท่ามกลางอาณาบริเวณที่ศาสนาอิสลามเป็นพลังชีวิตวัฒนธรรมที่ทรงอิทธิพล กลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญทั้งในประวัติศาสตร์การสร้างชาติ การเมืองและความมั่นคง (พุทธิชาติ โปธิบาลและธนานันท์ ตรงดี อ้างถึงในวัฒนา สุกัณศีล, 2544: 2) ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม พูดภาษามลายูถิ่นในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อความเชื่อและการดำเนินชีวิตของพวกเขา คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีวัฒนธรรมชุมชนที่เป็น "อัตลักษณ์เฉพาะ" หลักการและที่มาของมุสลิมชายแดนใต้นั้น มาจากหลักการของศาสนาอิสลามที่นำสู่การกำหนดกรอบวัฒนธรรมหรือแนวทางปฏิบัติของกลุ่มชนที่เรียกตนเองว่า "มุสลิม" ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลามนั้นมีที่มาจากหลักฐานที่ถูกระบุในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน นอกจากนั้น สุริยะ สะนิวาและคณะ (2551: 60) วัฒนธรรมของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวัฒนธรรมอิสลาม วิถีการดำเนินชีวิตหรือรูปแบบของพฤติกรรมตลอดจนสิ่งสร้างสรรค์ต่างๆ ที่นำมาจากหรืออยู่ในขอบข่ายของอัลกุรอานและซุนนะห์ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อล) ตัวกำเนิดพฤติกรรมของมุสลิมหรือวัฒนธรรมอิสลามจำเป็นต้องสอดคล้องหรืออยู่บนครรลองของความศรัทธา ส่วน อารง สุทธาศาสน์ (2525 : 18) "วัฒนธรรมอิสลาม" หมายถึง การดำเนินชีวิต หรือรูปแบบของพฤติกรรม (แนวปฏิบัติ) ของมุสลิม ล้วนมีส่วนผูกพันกับข้อปฏิบัติทางศาสนาอิสลามอย่างใกล้ชิด

สวัสดิการชุมชนเป็นระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลทีเริ่มจากการพึ่งตนเองก่อน เป็นการช่วยเหลือที่มากกว่าเงินหรือวัตถุ แต่เน้นความสัมพันธ์ที่ดี การมีน้ำใจ การไว้ใจซึ่งกันและกัน การมีกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นการสร้างการออมเพื่อการให้เป็นกองบุญมากกว่ากองทุน ทุกคนต่างเป็นผู้ให้และเป็นผู้รับ เป็นการ “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” การช่วยเหลือที่เผื่อแผ่ถึงผู้ทุกข์ยากและผู้ด้อยโอกาสในชุมชน (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, 2552: 10) สวัสดิการชุมชนจะขับเคลื่อนได้อย่างมีพลัง สามารถบรรลุเป้าหมาย มีความมั่นคงของชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน ชุมชนต้องเป็นแกนหลักสร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางผนึกพลังกับท้องถิ่น เชื่อมโยงสวัสดิการชุมชนกับการสร้างทุนใหม่ของชุมชนซึ่งเป็นทุนเศรษฐกิจและทุนสังคม นอกจากนั้น อิสลามได้ให้ความสำคัญกับสวัสดิการของสังคมหรือชุมชน โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และยกระดับคุณภาพการดำรงชีวิตของมนุษย์ ด้านการประกันให้มนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างสงบสุขมั่นคงในอุดมการณ์ ชีวิตและทรัพย์สิน มีความปลอดภัยสู่การมีชีวิตที่สุขสมบูรณ์ หลักสวัสดิการทางสังคมในอิสลามเป็นหลักที่อัลลอฮ (ซ.บ.) ได้บัญญัติไว้โดยโยงใยเกี่ยวข้องกับการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ (ซ.บ.) หลักการนี้ได้ถูกจารึกมาพร้อมกับอิสลามและเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมอิสลามอันมีมาตั้งแต่ 1,400 กว่าปีมาแล้ว (อับดุลรอซีด เจะมะ, 2542: 73) จะเห็นว่า อิสลามได้ให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการ ให้การสนับสนุนช่วยเหลือครอบครัวที่ยากจนและด้อยโอกาส

สำหรับชุมชนมลายูมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีการจัดให้มีระบบสวัสดิการชุมชนในรูปแบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะในเรื่องกองทุนช่วยเหลือการจัดการศพของสมาชิกในชุมชน แต่ละชุมชนจะมีวัฒนธรรมที่เหมือนกันคือ เมื่อมีสมาชิกในชุมชนเสียชีวิต ประชาชนในหมู่บ้านจะทำการนาวัต(การเยี่ยมเยียนครอบครัวของผู้เสียชีวิต) และจะนำเงินสดหรือข้าวของไปบริจาคเพื่อใช้จ่ายในการจัดการศพ การตายอย่างกะทันหันของครอบครัวที่ไม่มีเงินสำรองเตรียมไว้จึงต้องไปพึ่งคนรวยในชุมชน โดยการนำที่ดินที่มีอยู่ไปขายหรือจำนองในราคาที่ถูกกว่าราคาปกติ ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาสุขภาวะด้านจิตใจของครอบครัวผู้เสียชีวิตที่ต้องเสียคนรักในครอบครัว และต้องมาคิดหนักในเรื่องของการหาเงินมาใช้จ่ายจัดการศพในเวลาเดียวกัน เพราะในศาสนาอิสลามส่งเสริมให้มีการจัดการทันทีที่มีการเสียชีวิต จากเหตุผลดังกล่าวจึงมีการคิดค้นเสนอจัดให้มีกองทุนสวัสดิการช่วยเหลือจัดการศพ (ซารีกัตมาตี) ขึ้นมา ประชาชนในหมู่บ้านทุกคนจะได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือครอบครัวที่เสียชีวิต โดยมีการเก็บเงินนาวัต (เงินช่วยเหลือเพื่อจัดการศพ) ที่เป็นระบบ และมีการมอบให้กับครอบครัวเพื่อใช้ในการจัดการศพที่จำเป็น การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน (ซารีกัตมาตี) ขึ้นมานั้นเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตบนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง การช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชน เป็นการบริหารจัดการ “นาวัต” ให้เป็นระบบมากขึ้น

วัตถุประสงค์

1. เพื่อศึกษาบริบทของกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีของแต่ละชุมชนในเขตตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส

2. เพื่อพัฒนาและจัดการกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีในชุมชนให้มีประสิทธิภาพ

วิธีการศึกษา

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยเลือกพื้นที่ในเขตตำบลจอเบาะ ทั้ง 9 หมู่บ้าน และจะเน้นในชุมชนที่มีกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตี กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย คณะกรรมการกองทุนฯ ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน และประชาชนในชุมชน วิธีการเก็บข้อมูลโดย การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การศึกษาดูงานกองทุนฯ ที่ประสบผลสำเร็จ เวทีนำเสนอผลการศึกษารูปแบบกองทุนทั้ง 4 กองทุน การนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ขยายผลต่อชุมชนอื่นต่อไปส่วนการวิเคราะห์ผลตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้โดยเทียบกับทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง และสรุปผลต่อไป

ผลการศึกษา

    บริบทของกองทุนสวัสดิการซารีกัตมาตีของแต่ละชุมชนในเขตตำบลจอเบาะ

หมายเลขบันทึก: 659386เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2019 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2019 16:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท