“มาแกแต” วิถีการแก้ปัญหาชุมชนของชาวมลายูมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้: กรณีศึกษาชุมชนกำปงบารู2 ตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส


“มาแกแต” วิถีการแก้ปัญหาชุมชนของชาวมลายูมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้: กรณีศึกษาชุมชนกำปงบารู2 ตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส


มะดาโอะ ปูเตะ1 ฮัสบุลเลาะ อาศิสสกุล2 สุบันโญ จีนารงค์3 สมชัย จูเปาะ4

1 M.Sc. (รัฐประศาสนศาสตร์), ผู้ช่วยศาสตราจารย์, อาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

2 M.A. (รัฐประศาสนศาสตร์), ผู้ช่วยศาสตราจารย์, อาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

3 M.PA. (รัฐประศาสนศาสตร์), อาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

4 M.PP. (รัฐประศาสนศาสตร์), อาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์  เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน และวิเคราะห์การใช้กระบวนการมาแกแตในการแก้ไขปัญหาของชุมชนกำปงบารู 2  ตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส และเพื่อนำเสนอแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาของชุมชนชาวมลายูมุสลิมจังหวัดชายแดนใต้ด้วยกระบวนการมาแกแต เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ การเก็บข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม และการสังเกตการณ์ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักเป็นผู้นำหรือผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อย่างน้อย 3 ปี และมีประสบการณ์ในการร่วมกระบวนการมาแกแตของมัสยิด จำนวน 20 คน วิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ โดยการวิเคราะห์แบบอุปนัย (analytic induction)

ผลการศึกษา พบว่า สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนกำปงบารู 2 ตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะทางการเงินในระดับปานกลางถึงยากจน ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง สังคมจะอยู่แบบกึ่งเมืองกึ่งชนบท ประชาชนจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เคร่งครัดในเรื่องศาสนา ใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและแก้ปัญหาชุมชน สภาพที่อยู่อาศัยค่อนข้างแออัด ประชาชนกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่บ้านเช่าหรือที่ดินเช่า ชุมชนมีจุดแข็งคือ ผู้นำศาสนา (อิหม่ามมัสยิด) มีวิสัยทัศน์ไกล ใช้ระบบชูรอ (การปรึกษาหารือ) ในการบริหารชุมชน  การใช้กระบวนการมาแกแตในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจของชุมชนไม่สามารถที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตครอบครัวที่ยากจนในระยะสั้นได้ ผู้นำศาสนาควรใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้สัปปุรุษมัสยิด (ผู้มาร่วมละหมาด) ร่วมกันบริจาคทาน (เศาะดาเกาะห์) และมีนโยบายให้จ่ายซะกาตและซะกาตฟิตเราะห์ (ทานบังคับ) โดยผ่านมัสยิด ส่วนแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาของชุมชนชาวมลายูมุสลิมจังหวัดชายแดนใต้ด้วยกระบวนการมาแกแต  ทางมัสยิดควรขยายเวลาในการจัดกิจกรรมให้มากขึ้น เปิดโอกาสให้กลุ่มสตรี (มุสลีมะห์) เข้าร่วมงานด้วย ตลอดจนควรศึกษารูปแบบการจัดมาแกแตมัสยิดที่ประสบผลสำเร็จในชุมชนอื่นด้วย

คำสำคัญ :มาแกแต  การแก้ปัญหาชุมชน มลายูมุสลิม ซะกาต ความยากจน

บทนำ

ปัญหาความยากจนถือเป็นปัญหาหนึ่งที่ต้องรีบดำเนินการแก้ไข จากการสำรวจการจัดลำดับจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 10 ลำดับแรก ในปี 2555 โดยเรียงลำดับจากสัดส่วนคนจนสูงสุด พบว่า จังหวัด แม่ฮ่องสอน ปัตตานี นราธิวาส กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ ตาก นครพนม สกลนคร บุรีรัมย์ และ มุกดาหาร เป็นจังหวัดที่ยากจนสูงสุดตามลำดับ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม, 2557) จากข้อมูลข้างต้น จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส จัดอยู่ในระดับต้นๆ ของประเทศ นอกจากนั้น ข้อมูลโครงการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงสถานการณ์เฉพาะหน้าทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และ บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ (2553) พบว่า ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อยาวนานตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันนั้น เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาในชุมชน เช่น ปัญหาการว่างงาน ปัญหายาเสพติด ปัญหาการก่อความไม่สงบ และปัญหาความยากจน ปัญหาข้างต้นสามารถหาทางแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเอง โดยเฉพาะชุมชนมุสลิมส่วนใหญ่จะใช้ “มัสยิด” เป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหาต่างๆ ของชุมชน จัดเป็นสถาบันหนึ่งที่มีอิทธิพลสำคัญต่อชีวิตของมุสลิม เป็นศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมอิสลาม เป็นเอกลักษณ์แห่งความเป็นเอกภาพของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เป็นศูนย์รวมของศรัทธาชน (ตายูดิน อุสมาน และคณะ, 2545, น. 7) ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจบริบทพื้นที่ ประเพณี วัฒนธรรม และหลักการศาสนาให้ละเอียดเสียก่อน เนื่องจากมีสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงปัจจัยขั้นพื้นฐานด้านอารยธรรม “มลายู” และ “อิสลาม” ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม (อิบราฮิม ซุกรีย์ อ้างถึงใน อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว, 2549, น. 229)

ชุมชนกำปงบารู 2 ตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส มีจำนวน 96 ครัวเรือน มีประชากรทั้งสิ้น 702 คน เป็นชุมชนหนึ่งที่ประสบปัญหาในเรื่องการว่างงาน ปัญหายาเสพติด และปัญหาความยากจน เนื่องจากประชาชนในชุมชนมีครอบครัวที่ยากจนจำนวน 49 ครัวเรือน ครอบครัวที่ด้อยโอกาสจำนวน 20 ครัวเรือน โดยส่วนหนึ่งจะอาศัยอยู่ในที่ดินเช่าประมาณ 20 ครัวเรือน (คณะกรรมการชุมชนกำปงบารู 2, 2559) การแก้ปัญหาความยากจนของชุมชนส่วนหนึ่งมีการจัดกิจกรรมมาแกแตยามเช้าที่มัสยิด โดยจัดขึ้นทุก เช้าวันศุกร์อย่างต่อเนื่อง มีการบูรณาการนำเงินบริจาคเพื่อมาช่วยเหลือคนยากจน จะเห็นได้ว่าในการแก้ไขปัญหาความยากจนของชุมชนหนึ่งๆ ต้องมีความพร้อมในเรื่องของงบประมาณหรือเงินทุนมาใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ช่วยเหลือและยกระดับชุมชน ซึ่งชุมชนกำปงบารู 2 ได้มีการจัดกิจกรรมมาแกแตเชิญชวนประชาชนมาร่วมรับประทานอาหารและบริจาคทานร่วมกัน เป็นการบูรณาการในกิจกรรมมาแกแตที่โดดเด่นในเรื่องวิถีการแก้ปัญหาชุมชน จัดการเองโดยชุมชน และเพื่อชุมชน

วัตถุประสงค์ของการศึกษา

1. เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนกำปงบารู 2 ตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

2. เพื่อวิเคราะห์การใช้กระบวนการมาแกแตในการแก้ไขปัญหาของชุมชนกำปงบารู 2 ตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

3. เพื่อนำเสนอแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาของชุมชนชาวมลายูมุสลิมจังหวัดชายแดนใต้ด้วยกระบวนการมาแกแต

หมายเลขบันทึก: 659385เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2019 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2019 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท