การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม : หัวใจอุดมศึกษา : ๑๔. The Libby Residential Academic program



บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ The Heart of Higher Education : A Call to Renewal เขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmer และ Arthur Zajonc ซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี “ พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit) หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน (Transformative Learning)

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้ ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษา เข้าสู่การศึกษากระแสหลัก เพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนาบูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ เป็นส่วนหนึ่งของ ทักษะชีวิต

การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ ๒ แบบ ว่า (๑) การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้ บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช (๒) เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรืองอกงาม ภายในตน ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบรับถ่ายทอดความรู้มาจากภายนอก

ผมได้ตีความเขียนบันทึกจากบทหลักในหนังสือจบแล้ว แต่ยังมีส่วนเพิ่มเติม เพื่อบอกวิธีปฏิบัติอีกหลายตอน ที่ผมคิดว่ามีประโยชน์ต่ออาจารย์ที่ต้องการจัดการเรียนรู้แบบ Integrative/Transformative Learning อย่างจริงจัง

บันทึกตอนที่ ๑๔ นี้ ตีความจากส่วนหนึ่งของ Appendix B : Beyond the Classroom เรื่อง Stirring Students’ Intellectual Passion : The Libby Residential Academic Program เขียนโดย Deborah J. Haynes, Professor and Former Chair of Art and Art History at the University of Colorado, Boulder เล่าเรื่องการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ นศ. ได้ Transformative Learning โดยการจัดการเรียนรู้ให้ นศ. ตั้งคำถาม และหาคำตอบจากการได้สัมผัสจริง

ศ. เฮนส์ เล่าว่า หลังจากมีประสบการณ์เป็นหัวหน้าภาควิชาใน ๒ มหาวิทยาลัย เป็นเวาล ๖ ปี ตนก็ได้รับการร้องขอจากคณบดีคณะศิลปวิทยาศาสตร์ (Faculty of Arts and Sciences) มหาวิทยาลัย โคโลราโด ณ โบลเดอร์ ให้จัดตั้งโปรแกรมใหม่ที่เป็นสหวิทยาการ ชื่อว่า LRAP หรือ Libby RAP (Libby Residential Academic Program) เพื่อจัดการศึกษาด้าน visual และ performing arts แก่ นศ. ชั้นปีที่ ๑ และ ๒ โปรดสังเกตว่า นศ. เหล่านี้เรียนวิชาเหล่านี้เพื่อเป็นพื้นฐานความเข้าใจศิลปะ และมีบางวิชาเป็นพื้นฐานที่ต้องเรียนหากจะเลือกเรียนวิชาหลักด้าน ศิลปะ ประวัติศาสตร์ศิลปะ theatre nad dance, และวิชา film studies โดยที่ นศ. ที่ต้องการเลือกวิชาเอกด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์ ก็เลือกเรียนได้

เป้าหมายของวิชา เพื่อให้ นศ. เพื่อให้ นศ. มีความชื่นชมศิลปะ และมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับศิลปะ ในการทำหน้าที่จัดการโปรแกรมนี้ ศ. เฮนส์ ต้องทำงานร่วมมือกับหัวหน้าภาควิชาศิลปะและประวัติศาสตร์ศิลปะ หัวหน้าภาควิชา Theatre and Dance, หัวหน้าภาควิชา Film Studies, และคณบดีของ College of Music ทำให้ ศ. เฮนส์ ได้เรียนรู้ประสบการณ์มาก

จริงๆ แล้วการจัดกระบวนการเรียนรู้มีเป้าหมายเข้าไปกระตุ้นพลังทางปัญญาของ นศ. ด้วยการตั้งคำถามและประสบการณ์ตรง ไม่เน้นประเด็นทางเทคนิค วัสดุ หรือจารีตของศิลปะ แต่เน้นตั้งคำถามต่อ นศ. “คุณมีความคิดเห็นอย่างไร คุณมีความหลงใหลเรื่องใด มีวิธีการใดที่จะช่วยให้คุณพัฒนาความคิดเห็นของคุณ”

กระบวนการฝึกใคร่ครวญ (contemplative practice) เป็นส่วนสำคัญของรายวิชานี้ โดยมีเป้าหมายฝึกให้มีสมาธิ ให้มีความเข้าใจที่ลึก ให้มีสติ และความรักหรือหลงใหลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยมีความเชื่อว่า กระบวนการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ จะช่วยให้ นศ. เรียนรู้ได้ลึกและเชื่อมโยงขึ้น ทั้งเมื่ออยู่ในมหาวิทยาลัย และในการดำรงชีวิตในภายหลัง

วิธีฝึกสมาธิที่ใช้ได้แก่ การโค้งคำนับ การนั่ง การกำหนดลมหายใจ การฝึกท่าโยคะ การเดินจงกรม และการเขียน ผู้เขียนเชื่อว่าทักษะการฝึกสมาธิเหล่านี้จำเป็นสำหรับสังคมยุคปัจจุบัน ที่ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว มีการแยกส่วน มีการทำหลายกิจกรรมในเวลาเดียวกัน และมีเรื่องเข้ามาขัดสมาธิเป็นระยะๆ

จำนวน นศ. ที่เข้าโปรแกรม เพิ่มขึ้นในแต่ละปี และจำนวนรายวิชาในโปรแกรมก็เพิ่มขึ้น สะท้อนความนิยมของ นศ.

นศ. ที่สมัครเรียนวิชานี้ต้องอยู่หอพัก คือ Libby Hall โปรแกรมนี้ใช้เงินมาก นอกจากได้จากค่าเล่าเรียนแล้วยังได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนภายนอกด้วย โดย นศ. จะได้ออกไปสัมผัสกิจกรรมด้านศิลปะที่หลากหลาย เช่น นิทรรศการ การแสดง พบศิลปิน ดูภาพยนตร์ ทั้งที่เป็นภาพยนตร์ปัจจุบันและภาพยนตร์คลาสสิค ทัศนศึกษาไปเยี่ยมชมองค์กรด้านศิลปะต่างๆ ไปชมงานที่จัดทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ที่จัดในนครเดนเว่อร์ เช่นไปชม Cirque du Soleil รวมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความใกล้ชิดสนิทสนมเป็นชุมชน เช่น จัดไปเล่นสกีและนอนค้างคืนที่ Colorado Rocky Mountains ไปเที่ยวสวนสนุกด้วยกัน ไปชมการแข่งขันบาสเก็ตบอลล์ด้วยกัน เมื่อจบแต่ละเทอมมีการจัดงานฉลอง Celebration of the Arts มีคนเข้าร่วมล้นหลาม

ผลงานที่เป็นรูปธรรมคือภาพฝาผนังที่ห้อง ล็อบบี้ ของ Libby Hall ซึ่งเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ มีคนผ่านมาก นศ. ของโครงการได้ร่วมกันวาดภาพฝาผนัง (โดยมีศิลปินใหญ่ให้คำแนะนำ) สร้างบรรยากาศที่มีสุนทรียภาพอย่างน่าชื่นชม



วิจารณ์ พานิช

๙ ก.พ. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 542619เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2013 09:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กรกฎาคม 2015 08:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท