การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม : หัวใจอุดมศึกษา : ๑๕. Service Learning (เรียนโดยบริการสังคม)



          บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ  The Heart of Higher Education : A Call to Renewalเขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmer และ Arthur Zajonc  ซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า  นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี “พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit)  หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน (Transformative Learning)

          แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา  แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ  รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต  และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

          ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้  ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษา เข้าสู่การศึกษากระแสหลัก  เพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนาบูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

          การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน  และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning  ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ ๒ แบบ ว่า (๑) การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน  คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้   บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช  (๒) เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรืองอกงาม ภายในตน  ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบรับถ่ายทอดความรู้มาจากภายนอก

          ผมได้ตีความเขียนบันทึกจากบทหลักในหนังสือจบแล้ว  แต่ยังมีส่วนเพิ่มเติม เพื่อบอกวิธีปฏิบัติอีกหลายตอน  ที่ผมคิดว่ามีประโยชน์ต่ออาจารย์ที่ต้องการจัดการเรียนรู้แบบ Integrative/Transformative Learning อย่างจริงจัง 

          บันทึกตอนที่ ๑๕ นี้ ตีความจากส่วนหนึ่งของ Appendix B : Beyond the Classroom  เรื่อง Service Learning : Inspired by a Student   เขียนโดย Marshall C. Eakin, Director of the Ingram Scholars Program, Professor of History, Vanderbilt University   เล่าเรื่องการเกิดรายวิชาเรียนที่บูรณาการการเรียนวิชากับการบริการชุมชน/สังคม เข้าด้วยกัน  โดยผู้มาจุดประกายเป็น นศ.  เหตุเกิดปี พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือ ๑๗ ปีมาแล้ว 

          นศ. หญิงผู้นี้ชื่อ Rachel McDonald เพิ่งไปเข้าค่ายพัฒนาชุมชนที่ประเทศเปรู  กับ ASB (Alternative Spring Braek)  และคิดว่ากิจกรรมค่ายพัฒนาน่าจะจัดร่วมกับวิชาเรียนได้  เช่นการไปเข้าค่ายพัฒนาประเทศในละตินอเมริกา น่าจะจัดร่วมกับการเรียนวิชาละตินอเมริกาได้  เธอไปปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาของเธอ ซึ่งรู้จัก ศ. เอกิ้น ว่าสอนวิชานี้  จึงแนะนำให้มาหา 

          ปะเหมาะกับช่วงเวลานั้น ศ. เอกิ้น ทำหน้าที่เป็นกรรมการประเมินการทำหน้าที่บริการวิชาการแก่สาธารณะและจิตอาสาในวิทยาเขต  ทำให้ได้พบอาจารย์และ นศ. ที่เอาจริงเอาจังด้านบริการสาธารณะหลายคน  โดยมีบางคนเป็นอาจารย์ที่ Peabody College ของมหาวิทยาลัย แวนเดอร์บิ๊ลท์  และที่นี่มีรายวิชา service-learning อยู่ด้วย   เป็นครั้งแรกที่ ศ. เอกิ้น ได้รู้จัก service learning หรือการเรียนแบบให้บริการไปพร้อมกัน 

          ศ. เอกิ้น กับราเชลจึงร่วมมือกันศึกษาลู่ทางจัดรายวิชา service learning ในประเทศละตินอเมริกา  ซึ่งในที่สุดก็เลือกประเทศชิลี  ในปี ๒๕๔๐ ราเชล ไปศึกษาเตรียมความพร้อมในพื้นที่ร่วมกับเพื่อน ที่เรียนวิชาเอก Latin American Studies   โดยราเชลได้รับ Ingram Scholarship  แล้วในปี ๒๕๔๑ ก็เกิดรายวิชา ๓ หน่วยกิต ชื่อ The Historical Roots of Contemporary Chilean Social Problems  สอนโดย ศ. เอกิ้น มีราเชลเป็น นศ. ผู้ช่วย  มี นศ. ลงทะเบียนเรียน ๑๒ คน   ในช่วงเวลา Maymester (เดือนพฤษภาคม)   ไปทำงานอาสาที่หมู่บ้านเล็กๆ ที่มีประชากร ๓๐๐ คน ในชิลี  โดยไปพักและทำงานร่วมกับโรงเรียนอาชีวศึกษาระดับมัธยมที่เป็นโรงเรียนกินนอน  ไปสร้างห้องซักผ้าให้  และสอนนักเรียน  พร้อมกับเรียนวิชาอย่างเข้มข้น  ใช้เวลา ๔ สัปดาห์ 

          ประสบการณ์นี้สร้างความกระตือรือร้นแก่ ศ. เอกิ้นมาก  และได้ร่วมมือกับอาจารย์ท่านอื่่นจัดรายวิชา service learning ขึ้นในชุมชน ฮิสปานิก ในเมืองแนชวิลล์ ที่มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิ๊ลท์ ตั้งอยู่

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิ๊ลท์ ตั้ง VIO (Vanderbilt International Offoce)  ศ. เอกิ้น ก็ได้มีส่วนผลักดันให้เกิด โปรแกรม VISAGE (Vanderbilt Initiative for Scholarship and Global Engagement)  ที่ นศ. ได้รับทุนเรียนวิชา ๓ หน่วยกิต โดยไปทำ service learning ในต่างประเทศ 

          อ่านเรื่องนี้แล้วผมนึกถึงประชาคมอาเซียน  สถาบันอุดมศึกษาไทยน่าจะร่วมมือกับ สกอ.  สมาคมประชาคมอาเซียน  และสำนักงานเลขาธิการอาเซียน  จัดหลักสูตร service learning ทำนองนี้  โดยก่อน นศ. ออกไปต่างประเทศ ควรได้เรียนภาคทฤษฎี และฝึกทักษะ AAR เพื่อเตรียมความพร้อมเสียก่อน

          ที่จริงในประเทศไทยมีอาจารย์ (และเป็นผู้บริหารด้วย คือเป็นรองอธิการบดี) คือ ผศ. ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มีประสบการณ์และความชำนาญมากในการจัดการเรียนรู้แบบ service learning  อ่านรายละเอียด ที่นี่  และ ที่นี่

          ผมมีความเห็นว่า การเรียนวิชาจากการทำงานบริการสังคมนี้  อาจได้ผลดี เกิดการเรียนรู้บูรณาการรอบด้าน และได้เรียนวิชาอย่างรู้จริง  (mastery learning) หรือไม่ก็ได้  ขึ้นอยู่กับทักษะของอาจารย์ ในการตั้งโจทย์การทำงานและโจทย์เพื่อการเรียนรู้ของ นศ.  ดังนั้นการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์จริง  และเวทีฝึกทักษะการทำหน้าที่ คุณอำนวยให้แก่อาจารย์ จึงมีความสำคัญยิ่ง  โดยเฉพาะทักษะการเป็น คุณอำนวยในกระบวนการ AAR หลังทำกิจกรรมเป็นระยะๆ  เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างรู้รอบและรู้จริง 


วิจารณ์ พานิช

๑๐ ก.พ. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 543466เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2013 12:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2013 12:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยครับ เรียนไปบูรณาการกับการบริการวิชาการสังคม โดยเฉพาะ วิชาชีพสุขภาพ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท