ชีวิตที่พอเพียง 3566. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๓๓) ใช้สารสนเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ


บันทึกที่ ๑     บันทึกที่ ๒     บันทึกที่ ๓     บันทึกที่ ๔     บันทึกที่ ๕

บันทึกที่ ๖     บันทึกที่ ๗     บันทึกที่ ๘      บันทึกที่ ๙     บันทึกที่ ๑๐

บันทึกที่ ๑๑     บันทึกที่ ๑๒    บันทึกที่ ๑๓     บันทึกที่ ๑๔    บันทึกที่ ๑๕

บันทึกที่ ๑๖     บันทึกที่ ๑๗     บันทึกที่ ๑๘     บันทึกที่ ๑๙    บันทึกที่ ๒๐

บันทึกที่ ๒๑     ตอนที่ ๒๒     ตอนที่ ๒๓    ตอนที่ ๒๔     ตอนที่ ๒๕

ตอนที่ ๒๖     ตอนที่ ๒๗     ตอนที่ ๒๘     ตอนที่ ๒๙     ตอนที่ ๓๐

ตอนที่ ๓๑    บันทึกที่ ๓๒

บ่ายวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๒ ผมไปร่วมประชุมหารือการวางแผนโครงการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อใช้ในการทำงานของ กสศ. ที่โรงแรมอโนมา เป้าหมายสำคัญมีทั้งการคิดไปข้างหน้า และการแก้ปัญหาปัจจุบัน

การแก้ปัญหาปัจจุบันเป็นเรื่องของการเชื่อมต่อข้อมูล    ให้ข้อมูลจากระบบ  Q-Info ที่ดูแลโดย ดร. หนึ่งแห่ง มน. ไหลไปให้ทีม big data analytics ของมูลนิธิสดศรี ใช้หาความหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา     และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ในการประชุม คุณหมอสุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ.  เล่าความก้าวหน้าของประเทศเวียดนาม ที่เมื่อสิบปีก่อนคุณภาพการศึกษาด้อยกว่าไทย    แต่บัดนี้ทะยานขึ้นมาเป็นที่ ๗ ของโลก    ขึ้นหน้าไทยไปหลายช่วงตัว

ตกค่ำ ท่านก็ส่งลิ้งค์ของผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Education Development  เรื่อง A rising tide of primary school standards – The role of data systems in improving equitable access for all to quality education in Vietnam (1) มาให้    แวบแรกของความคิด คือ กสศ. ทำงานโดยใช้ข้อมูลความรู้ของทั้งโลก    กระทรวงศึกษาธิการทำงานแบบนี้แค่ไหน?    

ผมสงสัยว่า มีคนในกระทรวงศึกษาธิการกี่คนที่อ่านรายงานนี้    และมีการสรุปสาระสำคัญเชิงนโยบายเสนอผู้กำหนดนโยบายหรือไม่  

อ่านจากรายงานคร่าวๆ  ก็จับได้ว่า    กระบวนการทั้งหมดที่ทางการด้านการศึกษาเวียดนามทำ มีเป้าหมายที่การเรียนรู้ของเด็ก    เป็นหัวใจของการจัดการการศึกษาที่ระบบการศึกษาไทยไม่ได้ทำ   

ในช่วงเวลา ๒๐ ปี การศึกษาเวียดนามได้เคลื่อนจุดเน้นจาก access สู่ quality    และวิธีการที่ใช้พิสูจน์ชัดว่าได้ผล  จากผลการทดสอบ PISA   โดยที่เขาทำจริงจัง เห็นผลภายในเวลาไม่ถึง ๒๐ ปี    ในขณะที่การศึกษาไทยเราติดหล่ม    ยกระดับคุณภาพไม่ขึ้น    เพราะผู้เกี่ยวข้องมุ่งเป้าที่ผลประโยชน์ของตนเอง มากกว่าการเรียนรู้ของนักเรียน ตามรายงาน WDR 2018 (2)   

หลักการที่เวียดนามใช้ อยู่ในรูปที่ ๑ ของรายงาน    ผมฝันอยากเห็นไทยเราใช้โมเดลนี้อย่างจริงจัง    หลักการสำคัญคือ ทุกโรงเรียนต้องบรรลุมาตรฐานขั้นต่ำ (minimum quality standards)    ซึ่งหมายความว่าต้องมีระบบข้อมูลที่ดี   เพื่อการประเมินว่าโรงเรียนได้มาตรฐานขั้นต่ำหรือไม่   อยู่ตรงไหนของสเกลมาตรฐาน   และเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนรับรู้   

ข้อมูล นำไปสู่ means index, results index  และ context index    ซึ่งหมายความว่า ข้อมูลนำไปสู่ความเข้าใจสภาพความซับซ้อนของระบบการศึกษา    และช่วยให้จัดการสนับสนุนได้ตรงตามความจำเป็นเฉพาะโรงเรียน        

อ่านเอกสารนี้คร่าวๆ แล้ว ผมเกิดความรู้สึกว่า    ความรู้ และ “ตัวช่วย” สำหรับยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ มีให้ใช้มากมาย และดีด้วย    ดังตัวอย่างธนาคารโลกส่งเสริมการพัฒนา operational standards for schools  ตั้งแต่ปี 1998 คือตั้ง ๒๑ ปีมาแล้ว    รวมทั้งริเริ่ม FSQL (Fundamental School Quality Level)    ที่หากทางการไทยทำงานจริงจัง ศึกษาเรื่องนี้จริงจัง    ขอความร่วมมือจากธนาคารโลกได้อยู่แล้ว

ปัญหาจึงอยู่ที่ความเอาจริงเอาจังของคนในระบบการศึกษาของเราเอง       

วิจารณ์ พานิช  

๑๕ ต..ค. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 673158เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2019 18:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2019 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท