ชีวิตที่พอเพียง 3441. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๑๙) พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา


บันทึกที่ ๑       บันทึกที่ ๒      บันทึกที่ ๓       บันทึกที่ ๔      บันทึกที่ ๕

บันทึกที่ ๖      บันทึกที่ ๗      บันทึกที่ ๘       บันทึกที่ ๙       บันทึกที่ ๑๐

บันทึกที่ ๑๑      บันทึกที่ ๑๒      บันทึกที่ ๑๓       บันทึกที่ ๑๔        บันทึกที่ ๑๕

บันทึกที่ ๑๖      บันทึกที่ ๑๗      บันทึกที่ ๑๘



บ่ายวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๒ ผมไปร่วมการประชุม “บทบาทของ สกว. ในการสนับสนุนนโยบายปฏิรูปการศึกษา” ที่ สกว.    ในการประชุมมีการเสนอร่างผลงานวิจัยเรื่อง “การทบทวนเรียบเรียงข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ()  โดย อ. พิทักษ์ โสตถยาคม (ย้ำว่าเป็นร่างรายงาน ยังไม่ใช่รายงานฉบับจริง)    ทำให้ผมได้ความรู้มาก    ได้ทบทวนบทบาทของ “ภาคที่ไม่เป็นทางการ” (informal sector) ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาของประเทศ    และได้เห็นสภาพที่อาจมี resistance to change ของระบบการศึกษาของประเทศ    

ความสนใจของผมอยู่ที่ ที่มาและที่ไปของมาตรการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในการพลิกฟื้นคุณภาพการศึกษาไทย    ผ่านนวัตกรรมในการจัดการระดับโรงเรียน และระดับจังหวัด    ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการกระจายอำนาจการบริหารบ้านเมือง    ซึ่งในกรณีนี้คือการบริหารการศึกษา    ผมจ้องไปทำความเข้าใจว่า “กระบวนทัศน์รวมศูนย์” มันครอบงำคนในวงการศึกษา และวงการภาคที่ไม่เป็นทางการหรือไม่ อย่างไร   

ผมจ้องไปทำความเข้าใจว่า Theory of Change ของการจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาคืออะไร    และตอบว่า คือการทดลองมาตรการ sandbox สำหรับเป็นเครื่องมือปฏิรูปการศึกษาระดับจังหวัด    หวังว่าจะเป็นต้นแบบสู่การเปลี่ยนระบบใหญ่ของทั้งประเทศ    ผมจึงจ้องไปทำความเข้าใจว่า ระบบใหญ่ของทั้งประเทศเขาร่วมมือ และต่อต้านอย่างไร   

ผมจ้องไปทำความเข้าใจว่า มีเค้าว่า จะเกิดปรากฏการณ์เคลื่อนย้ายการบริหารแบบรวมศูนย์ จากระดับประเทศสู่ระดับจังหวัด หรือไม่    และจะต้องมียุทธศาสตร์อย่างไร ในการป้องกันผลแทรกซ้อนนี้    จะใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือ feedback อย่างไร   

สิ่งที่ขาดจากรายงานดังกล่าว ในสายตาของผม คือ   ยังขาดเป้าหมายทำให้โรงเรียนเป็นหน่วยงานที่มีการเรียนรู้และพัฒนาวิธีการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนอยู่ตลอดเวลา     ที่ในภาษาวิชาการเรียกว่า เป็น “องค์กรเรียนรู้” (learning organization)    ผมมีความเชื่อว่า เพราะโรงเรียนไม่เป็น learning organization นี่แหละ เป็นสาเหตุสำคัญของความอ่อนแอของระบบการศึกษาไทย    สมุฏฐานหรือ root cause ของความอ่อนแอนี้ซับซ้อนมาก   เชื่อมโยงไปยังทุกองค์ประกอบของระบบการศึกษาไทย    และยังเชื่อมโยงไปยังระบบการปกครองบ้านเมืองด้วย    ซึ่งก็คือระบบรวมศูนย์อำนาจนั่นเอง   

ระบบรวมศูนย์อำนาจ ทำให้กลไกการทำงานของโรงเรียน มุ่งทำตามคำสั่งของส่วนกลาง     และส่วนกลางก็คุ้นอยู่กับการสั่งแบบสำเร็จรูป    ทำให้ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาไม่ต้องคิด ทำให้คนเหล่านี้คิดไม่เป็น และไม่กล้าคิดพัฒนางานของตน    ที่ร้ายที่สุดคือ นำไปสู่สภาพที่ไม่มีใครรับผิดรับชอบ (accountability)     ผมจึงชื่นชมมากที่ TEP ที่เป็นกลไกผลักดันให้เกิดเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา    เน้นกลไกรับผิดรับชอบขึ้นในระบบการศึกษา     และจ้องทำความเข้าใจว่า จะมีมาตรการอะไร  

จากรายงาน ระบุว่า สกว. ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ๕ โครงการ    โดยมีเป้าหมายยกระดับความรู้ความสามารถของผู้เกี่ยวข้องครบถ้วนดีมาก    แต่ผมอ่านระหว่างบรรทัดว่า    ไม่มีวิธีคิดว่าด้วยวงจรเรียนรู้ต่อเนื่องของผู้เกี่ยวข้องเหล่านั้น    คือมองกระบวนการเรียนรู้เป็นเส้นตรง มีจุดเริ่มต้นและเป้าหมายสุดท้าย    ไม่มองเป็นวงจรหรือวัฏฏจักรของการเรียนรู้ ที่ต้องเป็นวัตรปฏิบัติในชีวิตประจำวันของคนในระบบการศึกษา   

ตามในรายงาน มีการเสนอประเด็นปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆ เข้าไปในคณะกรรมการอำนวยการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่พุ่งตรงไปยังผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน และความคล่องตัวของโรงเรียน    ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก  และข้อเสนอเหล่านั้น ตรงจุดมาก    แต่ผมมองว่า เป็น micro measures   คือเป็นประเด็นเล็กๆ    ผมอยากให้เพิ่มการจับประเด็นใหญ่ (macro issue)   คือการพัฒนา platform ใหม่ ของการบริหารโรงเรียน    ให้โรงเรียนเป็นองค์กรเรียนรู้    มีการนำเอากระบวนการทำงาน และผลงาน (เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน) มาเรียนรู้ร่วมกัน    เพื่อร่วมกันคิดหาวิธีการที่ดีกว่าเดิม    นำไปดำเนินการ และหมุนวงจรเรียนรู้ต่อเนื่องเรื่อยไป     

ข้อที่น่าใจชื้นคือ รมต. ศึกษาฯ ได้ตั้งคณะทำงานจัดทำแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มี ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นประธาน    เกิดการปรึกษาหารือ และมีข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมดีมาก    

แต่อย่างไรเสียก็หนีปัจจัยด้าน ระบบราชการไม่พ้น    เพราะ ร่าง พรบ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. ... มาตรา ๑๘ ระบุให้จัดตั้ง “สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ขึ้นใน สพฐ.   และมาตรา ๒๔ ระบุว่า “ให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทำหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการขับเคลื่อน ...” (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/056/T_0102.PDF)     นี่คือชีวิตจริงของการทำงานสาธารณะเพื่อบ้านเมือง        

ข้างบนนั้น ผมเขียนก่อนการประชุม    ในการประชุมผู้เข้าร่วมประชุมสนุกมาก    อ. พิทักษ์ เสนอเรื่อง พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ต่อที่ประชุมด้วยแผ่นพับอินโฟกราฟิกขนาดกะทัดรัดสวยงาม     และผมถ่ายรูปมาให้ดูด้วยแล้ว    เห็นได้ชัดเจนว่า เป็นการเลือกพื้นที่ ๖ พื้นที่ (๘ จังหวัด) เป็นสนามปฏิบัติการเพื่อสร้างนวัตกรรมการศึกษาของประเทศ     เพื่อในที่สุด ขยายผลสู่ทั่วประเทศ    เป็นเหตุผลให้ ร่าง พรบ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒  ระบุให้กิจกรรมนี้มีอายุเพียง ๗ ปี    และหากได้ผลดีแต่จำเป็นต้องมีเวลาดำเนินการระยะยาว ก็ขยายเวลาต่อได้อีกเพียง ๗ ปี

โปรดสังเกตเป้าหมายสำคัญ ๔ ด้าน (ในภาพที่ ๒) ของพื้นที่นวัตการศึกษา  ว่ามีเรื่องลดความเหลื่อมล้ำด้วย   

อ. พิทักษ์ ชี้ให้เห็นว่า โครงการนี้ดำเนินการร่วมกัน ๓ ฝ่าย คือ สพฐ., สป. กระทรวงศีกษาฯ และ TEP (Thailand Education Partnership)    จึงเป็นความท้าทายที่สามฝ่ายที่มีวัฒนธรรมต่างกันมาร่วมกันทำงาน จะเกิดผลสำเร็จได้อย่างไร   

รศ. ดร. ดารณี อุทัยรัตนกิจ ผู้รู้เรื่องนี้ดีเพราะท่านเป็นกรรมการในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.)     ชี้ให้เห็นหลักการให้พื้นที่มีอิสระ    ลดภาระจากการถูกสั่งการจากส่วนกลาง ทำให้ไม่มีเวลาเอาใจใส่นักเรียน    และทำให้เกิดการทำงานแบบแยกส่วน    เปลี่ยนไปเป็น ทำงานแบบบูรณาการในพื้นที่ 

รศ. ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล รอง ผอ. สกว. ชี้ว่า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีเป้าหมายสร้างการเปลี่ยนแปลง ๓ ระดับ     คือระดับโรงเรียน  ระดับจังหวัด  และส่วนกลาง    เป้าหมายของ สกว. (ซึ่งต่อไปจะกลายเป็น สกสว. เปลี่ยนหน้าที่เป็น จัดสรรงบประมาณวิจัยในภาพใหญ่) ที่เอาเรื่องนี้มาหารือคือ โจทย์วิจัยเพื่อสนับสนุนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาคืออะไร    ฟังการอภิปรายในที่ประชุมแล้ว  ผมสรุปกับตนเองว่า เป็นโจทย์พัฒนามากกว่าโจทย์วิจัย    เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลสำหรับใช้หมุนวงจรการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง    ที่หมุนรอบการบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ของนักเรียน (และของครู และบุคลากรทางการศึกษา)    ซึ่งก็ต้องหนุนการพัฒนาระบบ M&E    ซึ่งในมุมมองของผม ก็คือหนุนการสร้างระบบการเรียนรู้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา    สำหรับใช้ความรู้นั้นสื่อสารสังคม  เพื่อการขยายผลสู่ทั่วประเทศ   

โจทย์วิจัยสำคัญ จึงน่าจะอยู่ที่เป้าหมายสำคัญ ๔ ด้านของพื้นที่นวัตกรรมฯ

เอาใหม่ ตีความใหม่    ผมมองว่า บทบาทของ สกสว. ในการกำหนด ประเด็นวิจัยภาพใหญ่เพื่อสนับสนุนความสำเร็จของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา   ต้องเน้นใช้ยุทธศาสตร์ สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา   ของ ศ. นพ. ประเวศ วะสี   คือต้องสร้างความรู้เอามาสื่อสารสังคม  เน้นใช้พลังสังคมในการบอกความต้องการต่อฝ่ายที่ถืออำนาจรัฐ    เพื่อขับเคลื่อนนโยบายภาพใหญ่ของสังคม

มองโลกแง่ดี  โจทย์วิจัยที่จะช่วยมากคือโจทย์ที่ช่วยให้ สพฐ.  และ สป. เปลี่ยนแปลงตนเองได้อย่างราบรื่น           

วิจารณ์ พานิช

๑๙ เม.ย. ๖๒



Innovation e du from Pattie KB

1

2

3

4

หมายเลขบันทึก: 661827เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2019 22:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2019 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท