บันทึกอาจารย์ประเสริฐ


        วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๒ เวลา ๓ ทุ่มตรง  

            ดวงจันทร์ในวันหลังออกพรรษา ๑ วันยังคงกลมสนิทไร้ร่องรอยเบี้ยวบูด แสงจันทร์ทาบทาท้องฟ้าสว่างไสว กลิ่นดอกไม้อะไรสักอย่างหอมโชยมา เสียงแตรจากค่ายทหารดังแว่วขึ้นมาพอดี ผมยืนสงบนิ่งนิดหนึ่งก่อนที่จะขับรถไปยังโรงพยาบาล

ในช่วงเวลาก่อน ๓ ทุ่มเพียงเล็กน้อย ผมได้เห็นว่ามีข้อความที่ยังไม่ได้เปิดอ่านค้างอยู่ มันถูกส่งมาก่อนหน้านั้นราวชั่วโมงเศษ

            “อาจารย์ประเสริฐ HR ช้าแล้วนะคะ อยู่ SICU” นั่นคือข้อความจากน้องพยาบาลที่สนิทกัน เธอทำงานอยู่ที่นั่น

            “ขอบคุณครับน้อง” ผมตอบไป แล้วรีบโทรศัพท์หาหมอเอก เพื่อนร่วมรุ่นที่เป็นหมอผ่าตัดหัวใจ คนนี้เป็นเสมือนลูกชายอีกคนของอาจารย์ และเขาดูแลอาจารย์ขณะที่เจ็บป่วยในช่วงนี้ตลอดเวลา

            “อาจารย์เสียชีวิตแล้วนะแป๊ะ” เป็นคำตอบสั้น ๆ ที่มาจากเอก 

            “เบาโหวง” คงอธิบายได้ถึงความรู้สึกที่ผมมีในห้วงเวลานั้น ใจหนึ่งก็เข้าใจ เพราะอาจารย์ป่วยหนักมาระยะหนึ่งแล้ว มันก็คงถึงเวลาท่านจะได้พักจริง ๆ สักที แต่อีกใจหนึ่งก็อดใจหายไม่ได้ เพราะนี่คือการสูญเสียอาจารย์อันเป็นที่รักของพวกเราหลายคน เราไม่ได้สูญเสียอาจารย์ธรรมดา แต่เราเพิ่งสูญเสีย “อาจารย์แพทย์ผู้ยิ่งใหญ่” ไป

            ร่างของอาจารย์ได้รับการดูแลอย่างดี เอก พี่อ๊อด และพี่จ้อม (นพ.กิตติศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี) ศิษย์รักคู่ใจอาจารย์ได้เข้าไปปลดสายต่าง ๆ ออกจากร่างกายอาจารย์ เย็บแผลในจุดที่เป็นรอยแยกของผิวหนังจากการใส่สายทุกชนิด ทีมพยาบาล นำโดยพี่จุด น้อง ๆ พยาบาลของหอผู้ป่วย SICU ช่วยกันทำความสะอาดร่างกาย และสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ที่ดูเหมาะสมกับอาจารย์เป็นที่สุดให้ท่าน 

...................................................................................................................

“แป๊ะคะ นี่เป็นสมุดบันทึกสุดท้ายของอาจารย์ประเสริฐค่ะ” อาจารย์มยุรียื่นสมุดปึ๊งหนึ่งมาให้ผม มันคือบันทึกที่ผมเคยบอกกับอาจารย์ไว้ว่า “อยากอ่าน” มันคือบันทึกที่อาจารย์ได้พยายามเขียนในช่วงเวลาที่ท่านกำลังมีความทรมานจากโรคมะเร็งที่กัดกิน มันคือบันทึกที่ท่านใช้สื่อสารกับผู้คนรอบข้าง และมันคือบันทึกที่มีคุณค่ามาก

ทั้งหมดมี ๗ เล่ม นี่ผมนับรวมเล่มที่ ๑ ซึ่งเป็นกระดาษหลาย ๆ แผ่นมารวบรวมกันเข้าไปด้วย เพราะในคราวเริ่มเขียนนั้น ท่านคงยังไม่ได้คิดว่า การบันทึกจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไปจนถึงสองสามวันสุดท้ายของชีวิต

“แป๊ะจะพยายามรีบอ่านนะครับอาจารย์ อยากให้คนอื่นได้รับรู้เรื่องที่อาจารย์อยากสื่อสารด้วย” แล้วผมก็รับสมุดบันทึกทั้ง ๖ เล่ม รวมถึงชุดกระดาษกลุ่มแรกของการเริ่มบันทึกนั้นมาด้วย

อ่านสิครับ ค่อนคืนกับค่อนวัน มันคือการอ่านที่เร้าใจและเหนื่อยมาก

ที่ว่าเร้าใจ นั่นเพราะว่ามันคือลายมือของศัลยแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ ท่านกำลังสื่อสารกับผู้คนรอบข้าง ผมหลับตานึกไปถึงบันทึกการผ่าตัดในสมัยที่พวกเรายังต้องเขียนทุกอย่างลงในแผ่นกระดาษ ศัลยแพทย์สมัยนั้นต้องวาดรูป ชี้และโยงเพื่อแสดงให้เห็น คนอ่านได้เข้าใจ จากนั้นก็คือการบรรยายสิ่งที่พบและลักษณะการผ่าตัด รวมถึงผลของการผ่าตัดว่าเป็นอย่างไร มันจึงเร้าใจและเรียกความรู้สึกโหยหาถึงความหลังให้ย้อนกลับมาได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่า ในบันทึกทั้ง ๗ ชุดที่ผมได้เปิดอ่านอย่างเร้าใจนั้น มันจึงมีรูปวาดลักษณะรอยโรคที่อาจารย์เป็นอยู่ มะเร็งที่เกิดขึ้นมาในครั้งหลังนี้มันอยู่ที่หลอดอาหารส่วนต้น ใต้จากมะเร็งที่โคนลิ้นซึ่งถูกฉายแสงไปก่อนหน้านี้เมื่อราว ๗ ปีที่ผ่านมา อาจารย์ได้วาดภาพแสดงให้เห็นว่ารอยโรคนั้นมันทำให้เกิดปัญหาทางเดินหายใจอุดกั้นจนท่านต้องถูกเจาะคอเพื่อสอดท่อช่วยหายใจที่เรียกว่า“tracheostomytube”นอกจากนี้ยังมีรูปวาดลักษณะของท่อแบบต่าง ๆ รวมถึงการผ่าตัดในกรณีที่จะช่วยทำให้ลดภาวะแทรกซ้อนจากการเกิดการไหลย้อนของอาหาร และที่ผมชอบที่สุดถึงอารมณ์ขันของอาจารย์ก็คือ ท่านวาดภาพออกแบบท่อสายอาหารที่มีช่องในการใส่สารอาหารที่จำเพาะ ที่ว่าจำเพาะก็คือท่อหนึ่งไว้สำหรับใส่วิสกี้ อีกท่อที่ใช้ผสมโซดา และกับแกล้ม

เร้าใจจริง ๆ นะครับ ผมรู้สึกว่าโชคดีที่ได้อ่านและดูรูปวาดเหล่านั้น แต่มันคงเทียบไม่ได้กับบันทึกการผ่าตัดจริง ๆ ของเหล่าบรรดาคนไข้อีกนับพันนับหมื่นคนตลอดชีวิตการเป็นศัลยแพทย์ของท่าน อดนึกไม่ได้ ว่ามันสูญหายไปเสียเท่าไหร่

ส่วนการอ่านที่ทำให้ผมรู้สึกเหนื่อยมาก นั่นเป็นเพราะ ผมแกะลายมือของอาจารย์ออกบ้าง ไม่ออกบ้าง

อันที่จริงนั้น อาจารย์เป็นคนเขียนหนังสือตัวใหญ่ มองเห็นได้ชัดเจน แต่ด้วยภาวะที่ท่านกำลังเจ็บป่วย บางครั้งก็เขียนในขณะที่มีอาการปวดอย่างรุนแรง บางครั้งท่านกำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้า และที่น่าจะเป็นอุปสรรคมากที่สุดก็คือในช่วงที่กำลังเกิดอาการวิกฤติ นั่นคือ เริ่มมีการอุดกั้นของทางเดินหายใจจากเสมหะ จากการบวมของเนื้อเยื่อบริเวณท่อที่สอดอยู่ที่คอ จากการสำลักน้ำ น้ำลาย หรืออาหารเหลวที่ไหลท้นขึ้นมายังหลอดอาหารส่วนต้นที่เป็นโรคอยู่ และที่สำคัญ ท่านกำลังขาดอากาศหายใจ จึงทำให้ลายมือของอาจารย์มันดูแย่มาก (ลักษณะเช่นนี้ เกิดกับคนไข้หลายคนที่ใส่ท่อช่วยหายใจ ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะอ่อนล้า และส่วนหนึ่งก็น่าจะเกิดจากการหายใจเหนื่อย กำลังจะขาดออกซิเจน เป็นต้น) นี่จึงเป็นเหตุให้การอ่านบันทึกของอาจารย์ตลอดหนึ่งวันนี้ ทำให้ผมเกิดอาการเครียดและอ่อนล้า

แต่เอาเถิด ไหน ๆ ก็อ่านจนครบแล้ว รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง เข้าใจบ้าง งงบ้าง มันก็ทำให้ผมได้สาระมามากมาย จึงอยากจะสรุปสาระสำคัญจากสิ่งที่ศัลยแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกท่านนี้บันทึกไว้ตั้งแต่วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิตให้ทุกท่านได้ร่วมรับรู้ไปพร้อม ๆ กันนะครับ

เล่มที่ ๑(มันคือกระดาษหลาย ๆ แผ่นนำมารวมกัน)

ต้องขอเท้าความไปสักนิดว่า หลังจากที่อาจารย์ได้รักษาตัวจากการเป็นมะเร็งที่โคนลิ้นไปเมื่อ ๗ ปีก่อนจนดูเหมือนว่ามันหายดีแล้วนั้น ท่านได้กลับมาทำงานต่อตามปกติ ผ่าตัด (โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลห้วยยอด) ตรวจคนไข้ สอนหนังสือ ไปเยี่ยมลูกศิษย์ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เรียกได้ว่า อัตราเร่งของการทำงานของอาจารย์นั้นดูเหมือนจะสวนทางกับสังขารที่เสื่อมไปตามวัยที่ล่วงเข้ามาจนถึงเลข ๗๐ และการเจ็บป่วยที่ท่านเป็นอยู่

ผมทราบมาว่า อาจารย์เป็นโรคมะเร็งชนิดที่ ๒ ในช่วงเกือบปีที่ผ่านมา และรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าอาจารย์น่าจะเกิดภาวะซึมเศร้าหรืออาจจะเป็นเพราะท่านเริ่มมีปัญหาการกลืนลำบาก (อันนี้ผมวินิจฉัยเองนะครับ) แล้วท่านก็คิดว่าจะจบชีวิตของท่านด้วยการไม่ยอมกินอะไรเลยเป็นเวลาเกือบสัปดาห์ ไม่ยอมรับการรักษาอะไรอีกต่อไป จนท้ายที่สุด ช่วงที่กำลังจะต้องจบชีวิตลงนั้น จู่ ๆ ท่านก็ยอมให้พามาโรงพยาบาล ยอมรับการผ่าตัดใส่สายให้อาหารทางหน้าท้องที่เรียกว่าPEG (percutaneous endoscopic gastrostomy) และชีวิตของท่านก็กลับมา

“วินาทีนั้น กูกลัวตาย” อาจารย์ประเสริฐเล่าให้ฟังอย่างสนุกสนานในวันที่ผมไปเยี่ยมท่าน วันนั้น “พี่โอ” ลูกศิษย์คู่ใจมาเยี่ยมท่านอยู่ด้วย แล้วอาจารย์ก็อรรถาธิบายถึงการเป็นมะเร็งของหลอดอาหารส่วนต้นที่ท่านกำลังเป็นอยู่ให้พวกเราฟัง

“เรื่องโรคนี้ผมเก่งที่สุด ผมเป็นหมอที่รักษาคนไข้ที่เป็นโรคนี้มามาก ลักษณะของ anatomyของรอยโรคที่เป็นนั้น มันทำให้ prognosis ของมันแย่มาก ๆ โอกาสอยู่รอดเกิน ๒-๓ ปีก็มีน้อยมาก หากยังอยู่ได้ถึงวันนั้น มันก็ไปเกิดที่อื่นได้อีก” อาจารย์พูดเหมือนกำลังราวนด์ข้างเตียงคนไข้ตามปกติ ต่างตรงที่ว่า คนไข้ที่กำลังราวนด์อยู่นั้นชื่อนายแพทย์ประเสริฐนั่นเอง

ท่านทราบดี ว่าบั้นปลายชีวิตของท่านจะเป็นไปอย่างไร 

แล้วข่าวคราวของท่านก็เงียบหายไปช่วงหนึ่ง การติดตามห่าง ๆ ก็พอทราบได้ว่า อาการของอาจารย์ดูทรง ๆ 

การบันทึกในเล่มนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ท่านกำลังพักผ่อนอยู่ที่บ้านแล้วจู่ ๆ ก็เกิดอาการทางเดินหายใจอุดกั้น กำลังจะขาดอากาศหายใจ สภาวะของร่างกายกำลังอยู่ในช่วงวิกฤติ ท่านกำลังจะเสียชีวิต จากนั้นลูกศิษย์ของท่านได้รีบไปรับท่านมาจากที่บ้าน แล้วจัดการช่วยเปิดทางเดินหายใจให้โดยการเจาะคอ (tracheostomy)  

เฮือกนั้น จึงถูกต่อชีวิตออกไป

ทันทีที่ท่านรู้สึกตัวและเริ่มมีแรง รอยขีดเขียนในบันทึกหน้าแรกจึงมีว่า

17กค.62เขียนที่ ICU หลังกลับจากห้องผ่าตัด

ขอบคุณทุกคน ที่ทำให้ผมทรมานต่อไปในโลกนี้ ผมไม่อยากมีชีวิตอยู่แบบกินไม่ได้ พูดไม่ได้ ชีวิตผมไม่มีคุณภาพ ผมไม่เหมือนคนอื่นในโลก

ผมขอโอกาสขอบคุณ และขอให้ทุกคนช่วยกันทำหน้าที่ต่อไป

รักทุกคน

ประเสริฐ

“ตี 2เมื่อคืน กูคิดว่า กูคงตายแน่ เพราะ airway obstruction มี stridor และเหนื่อยชัดเจน sat 90 นอนไม่ได้ เลยตัดสินใจ TRACH

ผมคือคนพิการตลอดชีวิต ผมต้องอยู่ต่อไปทำไม ?​?​?”

ในกระดาษอีกหลายแผ่นที่อาจารย์บันทึกไว้ในช่วงแรก ๆ นั้นจะมีลักษณะของการตัดพ้อ การช่วยชีวิตของท่านให้พ้นจากวิกฤติคราวนั้นถูกมองว่าเป็นการทำให้ท่านต้องตื่นมาพบกับความทรมานต่อไป

“ถึงเวลานั้น คิดอะไรกันไม่ทันหรอกแป๊ะ นายจะให้ผมยืนมองอาจารย์ขาดอากาศเสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตาได้อย่างไร” หมอเอกพูดกับผมในวันที่อาจารย์เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติที่ต้องหายใจทางท่อที่เจาะผ่านคอ เหตุการณ์ทุกอย่างมันเกิดเร็วมาก การสั่งเสียไม่ได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น การรักษาอย่างฉุกเฉินจึงต้องเป็นไปอย่างที่มันได้เกิดขึ้น

และหลังจากที่อาจารย์ประเสริฐเริ่มรู้ตัวและเริ่มมีกำลังเพิ่มขึ้น การบันทึกในวันต่อมาจึงเป็นลักษณะของครูสอนศิษย์อีกเช่นเคย

ระวังเรื่องน้ำเกิน ผมมี coronary เพราะเกิด PND ง่าย

         กินนมไม่ได้เพราะท้องจะเสีย

         พ่อเป็นหมอเจ้าของไข้ด้วยตัวเอง ต้องวินิจฉัย วางแนวทางรักษาเอง ยืมมือคนอื่น

         มันทำให้งานวิจัยเรื่องimmunotherapy ของ case ผม studyได้ดีขึ้น มีเรื่องที่ศรีลาเขียนได้เยอะ ผมมีบันทึกรายละเอียดไว้มาก

         มันจะมีเรื่องความรู้แรก ๆ ของโลกที่เรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับโรคนี้ วิธีการรักษา prognosisการเปลี่ยนแปลงของโรคนี้ที่เกิดขึ้นกับ surgeonกับspecialist และแนวทางการรักษา

         รับรองว่าเป็นเรื่องเดียวในโลก เพราะไม่มีใครซวยเท่าผมที่ได้มีโอกาสเขียน

ถ้ามันบวมเพราะคิดว่าชิดtumor ก็แสดงว่า tumor ยังคงมีอยู่ข้างล่าง ยังไม่หาย คอยวันมันโตขึ้น

ผมรู้สึกว่า อาจารย์ได้ทราบและตระหนักดีว่า การเจ็บป่วยด้วยมะเร็งในครั้งที่ ๒ นี้ ท่านได้ประสบความทรมานจากทั้งการเป็นมะเร็งเองและผลกระทบจากการถูกฉายแสง นั่นคือการบวม การอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ รวมถึงความเสียหายของระบบน้ำเหลือง

มี pharyngeal stenosis แล้วหรือยัง น่าจะเป็น OK เห็นด้วย เป็นตลอดชีวิต never stop, This pathology will go on until life due to radiotherapy.

ตั้งแต่3-4 เดือนมาแล้ว คนทั่วไปดูพ่อว่าอ้วน ดูดีขึ้น หารู้ไม่ว่าเป็น lymphoedema of face ไม่ต้องฉีด BOTOX

This pathology will be a lifelong pharynx. This is the effect of good result of living and surviving following good treatment. จะเกิดตลอดชีวิตชั่วกัลปาวสาน ไม่มีสุด

นี่แหละ หมอทุกคนต้องคิดถึง quality of life after good and adequate treatment ควรรักษาโรคทุกโรคให้หายหรือเปล่า แล้ว quality of life ของเขาจะเป็นแบบนี้ ทรมานหรือเปล่า “Murphy Law”

อาการไอจะเป็นตลอดชีวิต เพราะผลของ radiation tracheolaryngitis ซึ่งจะไม่มีวันหยุดจนกระทั่งตาย เป็น chapter แรก ๆ ที่เขียนไว้ใน Textbook of Pathophysiology ของ radiation effect of treatment of HNSQC of upper digestive tract ไม่มีวันหยุด ทุกคนที่รอดชีวิตจาก RTต้องเกิด ไม่ต้องรักษา เพราะรักษาก็ไม่หาย

ปัญหาหลัก เหมือนมีเสมหะติดที่โคนลิ้นตลอดเวลา

ตรงคอ+ upper head and neck ทั้งหมดเป็น second effect of RT ครั้งแรก และครั้งที่ 2 ซึ่งผลยังไม่หยุด จะ last long ตลอดชีวิตผม บวมไปเรื่อย ๆ เนื่องจาก lymphaticมี fibrosis เกิด facial edema และ SVC obstruction

            บางครั้ง เวลาที่น้องฟ้า (อาจารย์ศรีลา) ซึ่งเป็นแพทย์เจ้าของไข้มาเยี่ยมอาจารย์ ท่านก็จะเขียนคำถามประเด็นสำคัญที่อยากจะทราบเป็นข้อ ๆ

1มีตรงไหนบ้างที่ว่า tumor recurrent

2 ควรใช้ Immunotherapyต่อหรือเปล่า เพราะ side effect ของมัน ปวดกล้ามเนื้อและกระดูกมาก ไม่แน่ใจเรื่อง benefit

3 ผลbiopsyทุกอย่าง บอกผมตามตรง สำคัญ

แสดงว่าต่อไปผมยังมีโอกาสกินได้ใช่หรือไม่ เพราะ esophagus ตรงอื่นยังดีอยู่?? ส่องกล้องถึง GE junction หรือเปล่า

เล่มที่ ๒

            

            บันทึกในหน้าแรกของท่านคือ

สถิติใหม่ เข้า ICU 3 ครั้งใน 2 เดือน 

ผมเตรียมงานศพแล้ว

เจาะคอวันนี้ สรุปจริง ๆ 

1ผมดีขึ้นมาก

2 bone pain น้อยลง

3ผมได้ใช้วิกฤติเป็นโอกาส

4 อนาคตคืออนาคต ทุกลมหายใจเข้าออก

ขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วงใยและช่วยดูแลผม ผมปลงทุกอย่างในชีวิต จบมานานแล้ว ผมสำเร็จในชีวิตมากกว่า EINSTEINผมคิดเอง

                                           ประเสริฐ 

ในเล่มที่ ๒ นี้ ผมคาดเดาว่าเป็นการเขียนต่อเนื่องมาจากชุดแรกเพียงไม่น่าจะเกิน ๑ วัน เพราะในช่วงเวลานั้นเชื่อได้ว่าอาจารย์กำลังอยู่ในภาวะปรับตัวกับวิถีชีวิตใหม่ นั่นคือการต้องหายใจผ่าน tracheostomy tube และท่านได้ประสบปัญหาจากการใช้ท่อดังกล่าวมากพอสมควร การบันทึกจึงมีทั้งการบ่นถึงความเจ็บป่วย การไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ การซักถามถึงสิ่งที่ท่านสงสัย ไม่ว่าจะเป็นผลการส่องกล้อง ผลของการไปถ่ายเอกซเรย์ปอด ผลเลือดต่าง ๆ การจัดการเรื่องตารางการให้ยา การให้อาการทางสายยาง การปรับท่านอน และอีกมากมายหลายเรื่อง

            

พ่อรู้ว่าพ่อต้องตายจากทางเดินหายใจอุดตันจากโรคนี้ เลี่ยงไม่ได้

มันเป็นสิ่งที่พ่อจะเลี่ยงอย่างไรก็ไม่พ้น หายต้องหายใจได้ ไม่ตายจากหายใจอุดตันตรงนี้ ถูกต้อง

1 พ่อแก่ตาย

2 อวัยวะทุกอย่างเสื่อม

3 เป็นโรคอื่นแทรก โรคหัวใจ ไต ตับ ติดเชื้อ ทั่ว ๆ ไป

มันต้องตาย

แต่ตอนนี้ ใช้วิกฤตเป็นโอกาส กินน้ำได้ โอกาสสำลักน้อยลงมาก ไม่รู้กี่ %  โดยสรีรวิทยาที่พ่อรู้ ได้โอกาสอีก 3 wk พ่อจิบเหล้าได้ คอยแผลหาย ตามหลักสรีระ  กลืนได้ดีขึ้นเพราะบวมน้อยลง

1 ไม่ต้องพูดมาก 

2 กินเหล้าได้เล็กน้อย มีความสุข พ่อยังอยากกิน แม้กระทั่งสูบ pipeช่างมัน ขออยู่แบบมีความสุข

ผมอ่านถึงบรรทัดนี้แล้วมีความสุขกับอาจารย์ไปด้วย เนื้อหาอาจจะดูเหมือนตัดพ้อ แต่ผมกลับมองเห็นภาพอาจารย์สมัยที่ท่านยังแข็งแรงและผมยังคงเป็นนักเรียนแพทย์ชั้นปีที่ ๔ ภาพอาจารย์แพทย์ร่างผอมบาง ตัวเล็ก ๆ เดินนำฝูงแพทย์ใช้ทุน แพทย์ประจำบ้าน และเหล่านักเรียนแพทย์อีกหลายชีวิตไปราวนด์ยังหอผู้ป่วยต่าง ๆ และแน่นอนว่า ผมเห็นอาจารย์เดินคาบ pipe ไปด้วย

ในช่วงนี้ คงเริ่มมีคนทราบว่าอาจารย์นอนรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วย SICU จึงทยอยกันมาเยี่ยม ท่านได้เขียนบอกคนที่มาเยี่ยมว่า

วันหลังเวลาซื้อของกินมาฝากผม ให้ซื้อของฝากพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่จะดีกว่า ซื้อเป็นห่อเล็ก ๆ  แจกได้ทุกคน เช่น 20-30ชิ้น 1 อย่างหรือ 2 อย่างก็พอ ไม่ต้องซื้อตลอด

ผมเชื่อว่า คนที่รู้จักอาจารย์ดี น่าจะเข้าใจ

ในบางช่วงบางตอน อาจารย์ได้เขียนสรุปถึงการทำงานในช่วงเวลาที่ท่านเริ่มป่วย

ใน 1 ปีที่ผ่านมา ตอนเริ่มไม่สบาย ผมทำงานหนักมาก ๆ ที่สุดในชีวิต

ดูแล รพ.ม.อ.

ดูแลโครงการผลิตแพทย์UNESCO

ดูแล รพ.ตรัง รพ.ห้วยยอด บ้านเกิด

ดูแลconsultant รพ. 14 โรงในภาคใต้ เรื่องทั่วไป trauma + accident emergency

รพ.กรุงเทพ หาดใหญ่

รพ.กรุงเทพ สมุย, กรุงเทพ สุราษฎร์ฯ

7 วันต่อสัปดาห์ ไม่มีวันหยุด

อ่านเพลินครับ ส่วนมากก็เป็นการสื่อสารกับหมอและพยาบาลที่เข้ามาดูแลท่านเอง บางครั้งท่านแนะนำเรื่องการทำความสะอาดแผล บางครั้งท่านจะบอกว่า “เจ็บไป” ผมเห็นท่านแนะนำวิธี clamp สายบางชนิดที่ติดตัวท่านอยู่ หรือกระทั่งการมาดูดสารคัดหลั่งจากท่อหายใจที่เจาะผ่านคอ น่าจะเป็นการแนะนำน้องพยาบาล 

อย่าดูดนานเกิน30 sec เพราะคุณจะดูดเอา functional residual ออก ทำให้ผู้ป่วย atelectasis มากขึ้น

มาสะดุดอยู่ที่หน้าหนึ่ง

ต้องใช้ชีวิตแบบผม อยู่ที่เดียว ม.อ. มากที่สุดในชีวิต เพราะผมมาช่วยตอกเสาเข็ม

จะไม่มีใครเห็นอิฐก้อนแรกนอกจากจะอายุมากกว่า100 ปี

            ใช่ครับ อาจารย์กลับมาจากอเมริกาเพื่อมาทำงานที่สงขลานครินทร์ ท่านมาถึงที่นี่ทั้ง ๆ ที่โรงพยาบาลยังสร้างไม่เสร็จ ดังนั้นการกล่าวอ้างว่า “มาช่วยตอกเสาเข็ม” นั้น ไม่ต่างจากความเป็นจริงเลยสักนิด

            ทุกคนคือ heroในใจผม ส่วน super hero 

         1 เมีย

         2อ.ทองจันทร์

         3 อติเรก

         4เจ้าหน้าที่ + เพื่อน +อาจารย์ทุกคน เราคือ hero ที่นี่

         ผมดีใจที่มาอยู่ ม.อ. ขอบคุณ​ ๆ

เล่มที่ ๓

            หน้าแรกของบันทึกในเล่มที่ ๓ น่าจะยังคงเป็นการเขียนต่อเนื่องไม่น่าจะเกิน ๑-๓ วันหลังจากที่อาจารย์ถูกเจาะคอ อาจารย์เขียนไว้ว่า

            ทำไมเขียนออกมาได้แบบนี้

         1 Environment

         2 Senile change ของผม

         3 ประสบการณ์จากอดีตที่เคยเป็น

         4เป็นอารมณ์จิตใจ

         5 พันธุกรรม

         6 เป็นผู้ชายเกือบ 100%

         7Hypoxia หรือ hypercarbia

         8 Metabolic of brain change following trauma and surgery

         9 จากใจจริง ๆ

         “พ่อรักแม่มากที่สุด”

ประเสริฐ

18 กค. 62

ในบันทึกช่วงแรก ๆ ของเล่มนี้ ผมรู้สึกได้ว่า อาจารย์ประเสริฐประสบปัญหากับการหายใจโดยใช้ท่อ tracheostomy tube ซึ่งลักษณะท่อเป็นแบบ double lumen ท่านมักจะบ่นว่า รูของท่อเล็กเกินไป เสมหะอุดตันง่าย บางครั้งการหายใจจะรู้สึกได้ว่ามีก้อนบางอย่างเข้ามาขวางทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังมีปัญหาสารคัดหลั่งออกมาอุดท่ออยู่เนือง ๆ 

อย่าลึกมากsuct เร็ว ๆ อย่านาน

มันอยู่ข้างนอก ตรงปลาย ๆ

ดีแล้ว อย่าลึก พอก่อน

หายใจคล่องแล้ว ไม่มีเสียงอะไรผิด ดีแล้ว หิวแล้ว ไม่แน่นท้อง

ท่านได้เตรียมการสำหรับการกลับไปอยู่ที่บ้านหากอาการโดยรวมดีขึ้น

1 เครื่อง trach suction ต้องอยู่ใกล้ตัวตลอดเวลา

2ลูกยางแดงดูดเสมหะ ต้องหาซื้อมาเตรียมไว้

3 ต้องซื้อเครื่อง suctionส่วนตัวตลอดชีวิต

4 นอนกลางคืนต้องมีคนเฝ้า คอยดูตลอดเรื่องการหายใจ

5 กระจกเงาส่องหา trach

นั่นคือdisadvantage ว่า ทำไมไม่ควร trach ตลอดชีวิต

หลังจากนั้นไม่นาน ผมพบว่าอาจารย์พบว่าเริ่มมีภาวะเลือดออกที่ผิดปกติจากรอยแผลที่มีการผ่าตัด หรืออาจจะออกจากเนื้องอก (อันนี้ผมคาดเดาเอาเองนะครับ เพราะช่วงนั้นไม่ได้ไปเยี่ยมท่านเลย)

Bleed 2 แห่งพร้อมกัน แสดงว่าเป็น mild coagulopathy

ใช้ cold pressure dressing ก็พอก่อน ไม่จำเป็นต้องใช้ platelet หรือ FFP ในตอนนี้

พยาบาล ไม่ต้องตาม ENT ใครอยู่เวรก็ได้

1เตรียม cold pack

2 set cutdown หรือchest tube แต่รับรองว่าไม่ใช้แน่นอน เตรียมไว้

3 บอก Worawitอย่าจับเด็ดขาด (ประโยคนี้มีการกล่าวถึง เอก แต่ผมไม่แน่ใจนักว่าอาจารย์เขียนว่า อย่าจับ จริงหรือไม่) เตรียม xylocaineมีหรือไม่มีก็ได้ cold pack แค่นี้ก็​ok หามาเพิ่มอีก 1-2 อัน เผื่อแช่ไว้

ห้ามresuture หรือ re op ใช้ cold pack อย่างเดียว Worawit คนเดียวก็พอ

ต้องยุติbleed อันนี้ เพราะมิฉะนั้นจะเกิด consumptive coagulopathy ทั่วตัว ใน brainได้ เหมือนกับที่เกิดกับ อ.ธาดา

เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการหายใจผ่านท่อ การอุดกั้นของท่อหายใจเป็นช่วง ๆ การมีเลือดออกผิดปกติ น่าจะเกิดขึ้นในช่วงวันเดียวนี้เอง (ผมเดาจริง ๆ นะครับ) ซึ่งคนที่มาเฝ้าดูแลอาจารย์อยู่คือลูกชายคนโตที่ชื่อ “หนึ่ง” 

อาจารย์คงเห็นว่าลูกเหนื่อยในการช่วยดูแลจึงเขียนบอกลูกชายว่า

หนึ่งนอนก่อน ตอนนี้เลย พ่อค่อยนอนตอนตี 3 หรือ 4 ดีกว่า ถ้าพ่อไม่ปลุกไม่ต้องตื่น พ่ออดทนนอนได้ดีกว่าหนึ่ง เพราะ

1 พ่อแก่แล้ว

2 อีกหน่อยพ่อจะได้นอนยาว ๆ พ่อขอไปก่อน

ได้อ่านประโยคนี้แล้ว ผมน้ำตาซึม

น่าจะเช้าแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าอาจารย์จะได้นอนพักบ้างหรือไม่ แต่มีร่องรอยการบันทึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้น

สรุป ผม observe ดู P.O. bleeding

1 ทุกจุดที่มีเข็ม แขน แผล

2puncture siteเข็ม

3other sources

         ไม่มีมาก มีเพียง 1-2 แห่ง แต่ไม่มี systemic หรือ overall complication ดังนั้น มี partial coagulopathy แน่นอน

         Conclusionแนวทางการรักษา

         1 observe

         2 conservatives

 อย่าร้องไห้ จงดีใจที่ผมเห็นคุณสอน นศพ. และ พชท. วันนี้ ผมภูมิใจในตัวคุณมาก ๆ 

ประเสริฐ

ผมตั้งคำถามให้ นศพ.คิดว่า ถ้าไม่รักษาจะเกิดอะไรขึ้น อยากให้เขานึกถึง consumptive coagulopathy จนถึง systemic DIC แล้ว deadจาก general whole body bleed รวมทั้งในสมอง kidney, adrenal gland

ขอบคุณ เช้านี้จงประสบความสำเร็จ

เล่มที่ ๔

            เล่มที่ ๔ นี้อาจารย์ได้ใช้สมุดปกแข็ง ผมคาดเดาว่าท่านน่าจะเริ่มเขียนในวันที่ ๒๐ กค.​๖๒ เริ่มต้นด้วยการวาดภาพ MRI sagittal view แสดงรอยโรคที่อาจารย์เป็นอยู่ เห็นร่องรอยของการบวมของเนื้อเยื่อ ที่อาจจะเกิดจากผลกระทบของการที่เคยถูกฉายแสงและเกิดจากเนื้อมะเร็งอยู่บริเวณโคนลิ้น คอหอยและหลอดอาหารส่วนต้น ภาพของ tracheostomy tube ที่สอดให้อาจารย์ได้หายใจอยู่

            เห็นภาพนี้แล้ว ผมพอจะนึกออก (แม้จะไม่ได้อินด้วย) ว่าทำไมอาจารย์จึงเกิดอาการทางเดินหายใจส่วนต้นอุดกั้นจนต้องถูกเจาะคอ รวมถึงอาการทรมานจากการสำลักง่าย การกลืนไม่ได้ และอาการเจ็บปวดบริเวณต้นคอ

            ในเล่มนี้ ส่วนหนึ่งได้เล่าถึงความขัดแย้งเรื่องการสร้างโรงพยาบาลในช่วงแรก ซึ่งผมเองก็ไม่เคยทราบมาก่อน

มหาวิทยาลัยมีคณะต่าง ๆ เช่น วิศวะ พยาบาล วจก. และคณะอื่น ๆ อีก 2-3 คณะ เปิดเวที hyde park ที่โรงช้าง พ.ศ. 2523เพื่อให้ยุติการสร้าง รพ.แค่ชั้น 4  

แต่ผมขึ้นอภิปรายถึงความจำเป็นต้องให้สร้าง รพ.สงขลานครินทร์ต่อไป เพราะเหตุผลหลายอย่าง ได้ทำหนังสือถึงป๋าเปรม เป็นนายก ท่านเปลี่ยนมติครม.ให้ทำให้เสร็จ ส่งจดหมายถึงผมว่า อนุญาตให้ทำโรงพยาบาลต่อจนเสร็จเป็น 400 เตียงเปิดเมื่อ ก.พ. 2525จดหมายจ่าหน้าถึงผมคนเดียว ศ.นพ.อติเรก เป็นลูกพี่ผม พี่ชายเขาเป็นเลขาป๋าเปรม ไม่มีใครรู้เรื่องนี้หรอก

                                                                        ประเสริฐ

            ที่จริง ลูกศิษย์ ม.อ.รุ่นหมอสมชาย ทั้งไพศาล รุ่น 2-3-4 น่าจะมีคนรู้เรื่องละเอียดหลายคน โดยเฉพาะหมอตาที่ชื่อเล่นว่า “เตี้ย” อยู่แถวจันทบุรี “ฐาปนวงษ์”

         เตี้ยเป็นคนแบกเครื่องพิมพ์ดีดจากภาคศัลย์ชั้น5 ไปที่หมู่บ้านพักแพทย์ตรงข้ามบ้านอธิการบดีเก่า แล้วพ่อเป็นคนพิมพ์จดหมายเพื่อเอาไปยื่นให้กับพี่ชายครูเหรก เพื่อส่งต่อให้ป๋าเปรม

         เตี้ยเป็นคนเรี่ยไรเงินโดยพ่อออก500 บาท เป็นค่าเดินทางเอาจดหมายไปกรุงเทพ สร้างรพ.ต่อจนเสร็จ

ประเสริฐ

         ผมเซ็นชื่อในจดหมายร้องเรียนเป็นคนแรก เพราะคนอื่นไม่กล้าเซ็น เพราะไม่รู้ว่ากลัวอะไร ดังนั้นเวลาสำนักนายกตอบจดหมายกลับมา เขาเลยตอบกลับมาเฉพาะชื่อพ่อเป็นคนเดียว เพราะเป็นชื่อแรกในจดหมาย จึงส่งมาเป็นจดหมายส่วนตัว

         ที่เราถ่ายเอกสารไว้ ส่วนตัวจริงมอบให้ทางโรงพยาบาลไปเมื่อวันผมปลดเกษียณ อ.กิตติ ทราบเรื่องนี้ดี

ประเสริฐ

ที่จริงแล้ว ก่อนโรงพยาบาลม.อ.จะเปิดบริการเมื่อ กพ. 2525 ได้มีการเตรียมการดูงาน “ว่าเราจะให้บริการในลักษณะใด”ผู้บริหารคณะขณะนั้น อ.ทองจันทร์ อ.อติเรก คณบดีเภสัช อ.สุดาลินี (ชื่อนี้ผมที่ค่อยแน่ใจนะครับ ขออภัยหากผิดพลาด)และรักษาการหัวหน้าพยาบาล ได้ไปดูงานโรงพยาบาลต่าง ๆ จุฬา รามา ศิริราช ขอนแก่น เชียงใหม่ เรื่องนี้สำคัญมาก ต้องเล่าให้ละเอียด เพราะเป็นจุดการตัดสินใจของผู้บริหารสมัยนั้น เพราะการเริ่มต้นที่ดี ทุกอย่างจะดีไปตลอด

เราเอาทุกอย่างที่เป็นข้อดี ข้อเสียการบริการ “โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย”วิธีการต่าง ๆ ไม่เหมือนกันเลย ข้อจำกัด ความเหมาะสม ทุกประเด็น

เหตุผลที่เรื่องนี้ต้องเขียนละเอียด และดีใจที่ได้เขียนและถามมา ไม่ค่อยมีโอกาสเล่าให้ใครฟัง

โรงพยาบาลเราดีทุกอย่างในปัจจุบันเพราะการเริ่มต้นที่ดีเมื่อ กพ. 2525 เราเริ่มต้นไม่เหมือนที่ไหนเลย ทำให้เราบริหารแบบเสมอภาคแห่งเดียวที่มี power sharing ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยทุกคนมีอำนาจเท่ากัน แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วย etc. ศักดิ์ศรีเท่ากัน

ประเสริฐ

         อาจารย์ประเสริฐเป็นคนสุนทรี ท่านรักเสียงเพลง ท่านชอบร้องเพลง ผมเชื่อว่าลูกศิษย์ของท่านหลายคนน่าจะนึกภาพนั้นออก ผมเคยได้ยินเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับปาร์ตี้ที่บ้านพักของอาจารย์มานานมากแล้ว 

            การถูกเจาะคอเพื่อสอดท่อช่วยหายใจนั้นทำให้ท่านกลายเป็นคนที่ไม่มีเสียง อาจารย์ได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า

ชีวิตนี้อาจพูดไม่ได้อีกแล้ว

karaoke ไม่ได้แล้ว

lecture ไม่ได้ เสียดายมาก ต้องกลับไปหา Videoที่แพทยศาสตร์ถ่าย copyไว้

อยากฟังเสียงตัวเอง

มนต์เมืองเหนือ เชียงรายรำลึก แต่ปางก่อน อีกเพลงคือ “ตารางดวงใจ”

“ดวงใจอาดูร สูญความรักไปแล้วเอย ผ่านไปเหมือนดังลมรำเพย ชิดเชยแล้วจากดังกรรมบันดาล” ผู้ชายร้อง แสดงโดยสุรสิทธิ์ สัตยวงษ์ และสวลี ผกาพรรณ ที่จังหวัดตรัง พ.ศ.2500??

อ่านมาถึงตรงนี้ ผมถึงกับต้องไปหาเพลง “ตารางดวงใจ” ฟังจากใน youtube

เพลงฝรั่งที่ฮิตคือGive me one moment on time

ความหมายดีมาก ๆ เพราะ “ขอเวลาที่เหมาะสมให้ผมสักครั้ง” ขอเหมาะสม in time เพราะถ้าให้ช้าไปจะไม่มีประโยชน์ สายไปแล้ว

เทียบได้กับBridge over trouble water ความหมายดีทั้งคู่ 

เพลงสอนอะไรในชีวิตเรามาก

สอนว่าเวลามีอุปสรรคอะไรจะมีโอกาส ผ่านไปได้ เมื่อน้ำไม่ท่วม สะพานจะสงบ

เวลาผมไปตรัง หรือแม้กระทั่งเชียงราย ผมจะรู้จักนัก piano คอยเล่นให้ผมร้องตลอด ได้ทั้ง 2แห่ง ผมเคยร้องเพลงเชียงรายรำลึก จนคนแปลกว่า คนใต้มาได้อย่างไร

An other favorite song is “Lara’s theme” Dr.Zhivago 

Dr.Zhivago เป็น surgeonสมัยสงครามกลางเมืองรัสเซีย หลงรักผู้หญิงชื่อ Lara พระเอกตายตอนจบ วิ่งไล่ตอนเห็นผู้หญิงขึ้นรถเมล์ในเมืองMoscow ผู้ชายโดน heart attack ดูหนังมาแล้ว  40 กว่าปี

            สำหรับอาจารย์ประเสริฐแล้ว อะไรที่ประเสริฐไปกว่าการดูแลคนไข้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์และนำมาสอนลูกศิษย์ แม้กระทั่งยามเจ็บป่วย ท่านยังคงสอนพวกเราตลอดเวลา

ผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับแพทย์ทั่วโลก5-6 เล่ม ก่อนจบ ม. 6 มาเรียนเตรียมอุดม

1. CITADEL

2. DR. ZHIVAGO

3. DR. SCHWEIZER

4. MAYO CLINIC

5. THE SIX PHYSICIANS?

6. THE SIX PHYSICISTS?

อ่านเล่น ๆ ผมสนใจ ผมไม่เคยอ่านการ์ตูนหรือกำลังภายใน ดูหนังการ์ตูนไม่เป็น

ผมยังไม่แน่ใจว่าพ่อผมอ่านหรือเขียนหนังสือไทยออกหรือเปล่า แม่ผมจบ ป. 3พ่อผมชาวสวน กรีดยาง กรรมกร เลี้ยงวัวควาย รับจ้างทำความสะอาดของเทศบาลห้วยยอด แม่ขายขนมจีน ข้าวแกง ไม่มีปัญญาซื้ออ่าน 

ผมทำkidney transplant รายแรกของประเทศไทย ทำเปลี่ยนหัวใจคนแรกของเอเชียใน USA เปลี่ยนตับครั้งแรกใน USAครั้งสุดท้ายทำ tracheostomy and Lt lobectomy ที่ รพ.กรุงเทพ หาดใหญ่

แยกเด็กแฝดตัวติดกัน2 คู่ รพ.ม.อ. รอด 1 คู่

ทำ vaginaเทียมครั้งแรก

ทำ tuboplastyให้ผู้ป่วยท้องได้ของ ม.อ.ครั้งแรก

TE fistula in esophageal in conjoined twin ครั้งแรกใน ม.อ.

ทุกอย่างเป็นบังเอิญ เราโชคดี

คราวนี้ผมโชคร้าย

ตอนนี้คนไข้ยังอยู่ดี สบายกว่าผม

ไม่อยากพักถ้ามีเวลาแบบนี้ เพราะเวลาอาจไม่หวนกลับมาแล้ว อย่าคอยนาน river of no return, give me one moment in time

“Do mani et tro po ta ti” ภาษาอิตาเลี่ยน แปลว่า “tomorrow will be to late” It’s now or never

ทำงานทุกอย่างซึ่งเขียนอย่างไรก็ไม่หมด แต่จากประสบการณ์ในเวลา 50 ปีที่ผ่านมา เทียบกับสิ่งที่เห็นจากคนไข้หนักหรือใกล้ตาย หรือคนไข้ที่อายุน้อยหรือรอดตาย พบว่ามีอะไรหลายอย่างที่ text book ในโลกนี้ หรือ Google’s ไม่มี เช่น

ตัวชี้วัดการตายว่าผู้ป่วยเจ็บป่วยหรือเข้า ICU มีโอกาสรอดตายได้กี่เปอร์เซ็นต์ โดยอาศัยหลักของ 10% เป็นหลัก (ข้อสังเกตผมเอง แต่อยากเขียนไว้เผื่อให้ใครทำวิจัยต่อง่าย ๆ) เช่น

ปัจจัยใช้วัด Factors and indicators of death

1ผู้ใช้อวัยวะปลอมทุกคน ตั้งแต่ฟันปลอม แว่นตา ไม้เท้า เครื่องพยุง ค้ำยัน คนพิการ ทุกคนจะมีจุดอัตราตายเริ่มเป็น 10%ทุกคน เช่น สำลักอาหาร ฟันปลอมติดคอ อาหารเคี้ยวไม่ละเอียด etc. ทำให้ respiratory system แย่ลง

2พวกใช้ organ support เช่นมีสายFoley’s, chest tube, tube feeding, colostomy, Foley for I/O, respirator, dialysis ชนิดต่าง ๆ, tracheostomy พวกนี้ การใช้ทุกท่อ ทุก tube ทุกเครื่อง มีอัตราตายท่อละ 10%บวกรวมกันทุก ๆ ท่อ drain คนไข้ในข้อนี้ ไม่มีทางกลับบ้านเลย

3 chronic medical diseases: DM, HT, CAD, RF

4มี joke อีกหลายอย่างในทางการแพทย์และการดูแลผู้ป่วยในICU เราเพียงชะโงกหน้าเปิดประตู ICU โดยไม่ต้องถามพยาบาล หรือดูจอ CPT อะไรเลย ไม่ต้องคุยกับใครเลย เราสามารถบอกได้ถึง prognosis ผู้ป่วยได้เลย เช่น ไม่ต้องไปแตะผู้ป่วย โดยสังเกต sign 3ชนิด ตามที่ Prof.Warren เคยสอนผมคือ

1 O’ sign อ่านว่า O-sign คือการที่คนไข้นอนอ้าปากหายใจเพราะลดairway resistant แสดงว่าคนไข้เหนื่อยและขาด oxygenMR ประมาณ 10-25%สาเหตุคือ weakness, malnutrition หรือมีปัญหา airway

2 Q’ sign อ่านว่า คิวไซน์ คนไข้นอนอ้าปากลิ้นห้อย หรือมี endotracheal tube ใส่ไว้ หรือ mouth gagพวกนี้มี mortality 50-75% เพราะ masseter and genioglossus muscle power ของโคนลิ้นหย่อน ลด airway resistant เพราะไม่นั้นตายแน่

3 sign สุดท้ายคือ Q - plus three เป็นผู้ป่วยที่นอนอ้าปาก มี endotracheal tube และมีลิ้นห้อยออกมา คำว่า Q plus 3แปลว่าคนไข้ตายแล้วแหงแก๋ ถ้ามีแมลงวันตอม 1ตัว ไม่ตาย ญาติก็จะปัดแมลงวัน แต่ถ้าปล่อยให้แมลงวันตอม 2-3ตัว แล้วยังไม่มีคนปัดออก แสดงว่าญาติไม่เฝ้าแล้ว และผู้ป่วยตายแล้ว

เท่าที่สังเกตมา 50 ปี พ่อถูกต้อง 100% เอามา applyกับพ่อขณะนี้ ทำใจได้ว่าจะจัดงานกี่วันจึงเสร็จ

มีโจ๊กตลกในแง่ดี เราเป็นแพทย์ พยาบาล เปิดประตูเข้าไปตอนเช้า เราไม่ต้องถามเลยว่า ผู้ป่วยครับ คุณครับ คุณอยากกลับบ้านแล้วหรือยัง เราสังเกตได้ง่าย ๆ ดังนี้

1คนไข้ผู้หญิง ตื่นเช้าจะลุกนั่ง เดิน แต่งหน้าหวีผม ดูกระจกหรือดูแลความสวยความงาม ทาปากทาแป้ง แสดงว่าจิตใจเขาพร้อมจะดูแลและกลับบ้านแล้ว

2 คนไข้ชายดูง่าย ๆ หยิบหนังสือพิมพ์รายวันที่โรงพยาบาลแจกมา หรือดูข่าว TV วิทยุ มีข่าวกีฬา เศรษฐกิจ สังคม หรือถ้าเป็นวัยรุ่นหรือหนุ่ม ๆ จะเปิดหนังสือพิมพ์ดูหน้ารายการ TV รายการประกวดนางงาม ตลาดหุ้น หรือธุรกิจ

สิ่งเหล่านี้เราต้องสังเกตแล้วลองobserve ดูกับผู้ป่วย มี accuracy มากกว่า 50%ผมเคยใช้มาตลอดชีวิต  อยากเก็บไว้ให้ พชท. และ resident หรือบุคลากรในการดูแลได้ใช้เป็นเครื่องประกอบความเพลิดเพลินและคลายเครียดในการทำงานของชีวิตของพวกเราที่ต้องสนุกจากการทำงาน

แค่นี้ก่อน จะเขียนอีก

ประเสริฐ

20 กค. 62

03.00น.

ผมคิดว่าในช่วงเวลาของวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒ นั้น อาจารย์น่าจะรู้สึกตัวได้ดีขึ้นมาก จึงสามารถเขียนเรื่องราวไว้ได้อย่างมากมายพอสมควร แต่อันที่จริงแล้ว ท่านยังคงมีความทรมานและหงุดหงิดใจจากการหายใจจากท่อ tracheostomyพอสมควร ผมสังเกตเห็นหลายช่วงหลายตอน โดยเฉพาะรุ่นที่ท่านใช้นั้น มันมีท่อนอกและท่อด้านใน

เกี่ยวกับtrach tube โดยเฉพาะปัญหาของ inner tube

1 Shirely tube wall หนาทั้งนอกและใน ไม่ค่อย irritate ผู้ป่วย มี cuff กัน aspirateแต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ข้อเสีย inner tubeทำให้ lumen ของ endotracheal เล็กลง secretionอุดง่าย หายใจยาก ควรใช้ Shirely tubeขนาดใหญ่กว่าเดิมก่อน

2 เมื่อเปลี่ยนเป็น metallic tube lumen ใหญ่กว่า inner tube ก็โตกว่า การหายใจสะดวก แต่ควรเปลี่ยนตอนหลังเมื่อ trach ดีและยุบบวม หรือไม่ต้องใช้ cuff effect ข้อดีของ metallic tube ทนทาน lumen ใหญ่กว่า ญาติดูแลสะดวกกว่า แต่ข้อเสีย อาจพูดได้ไม่ดีเท่า ๆ กับ Shirely tube รุ่นใหม่ที่ไม่เคยเห็น

แนะนำว่าoriginal ควรใช้ Shirely ที่ใหญ่ที่สุดในตอนแรกเพื่อได้inner tubeที่ใหญ่กว่าและดีขึ้น

คำถามว่า

1ทำไมบริษัทต้องออกแบบมี inner tube เพราะจริงแล้วทำให้ true lumen เล็กลง ไม่จำเป็นต้องมี??

2 เขาออกแบบเพราะกลัวว่า ถ้า tube นอก accident หลุด รู trachจะอุดตัน ผู้ป่วยตายได้ ผมเองใช้ trach ยี่ห้อJackson กับผู้ป่วยมามากกว่า 50 ปี ไม่เคยเจอปัญหาเหมือนอันนี้

3 ข้อดีของ Shirelyคือมี balloon กัน aspirate แต่ไม่ช่วยป้องกัน 100% ตอนหลังเปลี่ยนเป็น Jacksonดีกว่า อีก 3-4 วัน

นี่ไงครับ ผมจึงบอกว่าบันทึกของอาจารย์ที่ท่านเคยบอกเสมอว่า “ใส่รองเท้าคนไข้” นั้น มันคือแบบนี้ การได้ถูกรักษา การได้รับผลข้างเคียงต่าง ๆ คนไข้ทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจ และพยายามทนเอา แต่อาจารย์คือคนไข้ที่ยังคงเป็นครู ดังนั้น บันทึกประสบการณ์และคำแนะนำจึงพรั่งพรู แต่อย่างไรก็ตามในความเป็นคนไข้ธรรมดาคนหนึ่ง หลายต่อหลายครั้งที่ท่านอาจจะเกิดความหงุดหงิด ผมก็จะเห็นคำขอโทษจากท่านอยู่บ่อย ๆ หรือกระทั่งการเขียนในเชิงพรรณนาที่ทำให้รู้สึกว่าท่านกำลังท้อแท้

ไม่ต้องห่วงพ่อเรื่องนอน คนอื่นนอนเถอะ เพราะเวลานอนยาว ๆ ตลอดของพ่อใกล้มาถึงแล้ว คงจาก pneumoniaคราวนี้แน่นอน 

Good night ทุกคน

อยากนอนหลับจากวินาทีนี้และไม่ตื่นอีกเลย ถ้าเป็นไปได้ ผมจบแล้วสำหรับการมีชีวิตอยู่

ประเสริฐ

22 กค. 62

ผมทำให้คนในโลกนี้หลายคนเป็นทุกข์ ทรมาน ความเจ็บป่วยอดหลับอดนอน ทำให้ผมมีบาปมากขึ้น เวลาในชีวิตผมเหลือน้อยมากในการทำบุญกุศล ยิ่งตายเร็ว ผมจะยิ่งบาปน้อยลง ไม่มีหนี้บาปในชาติหน้าอีก

ประเสริฐ

ในขณะที่อาจารย์นอนพักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยSICU นั้น ที่ปลายเท้าของท่านเป็นกระจกใสที่สามารถมองเห็นคนไข้คนอื่น ๆ ในห้องรวมได้ค่อนข้างจะชัดเจน ท่านได้สังเกตการทำงานของหมอและพยาบาลอยู่ตลอดเวลา

21 กค. 62 8.32 น.

         เห็นพวกลูกศิษย์หมอมาเยี่ยมแล้ว ดีใจมาก มีกำลังใจขึ้น วันนี้ดีกว่าเมื่อวาน 2-3 คืนแล้ว หลับสบาย เมื่อคืนแทบไม่ได้ suction เลย เพราะไม่มีเสมหะและไม่มี inner tube

คอยสังเกตดูเวลาstaff ใหม่ ๆ พานศพ.มา round ผู้ป่วย เกือบทุกครั้งในโรงพยาบาลหรือ ICU ของเรา

ร้อยละ90+ จะไม่ดูผู้ป่วย แต่จะจับกลุ่มกันยืนคุยหน้าเตียง ดูจอ CPTแต่ไม่มีใครหันไปสนใจ หรือจับกุมมือผู้ป่วยไว้เลย

อย่างน้อยเวลาdiscuss กัน เอามือของเราจับชีพจร หรือกุมมือผู้ป่วยไว้ ผู้ป่วยคงจะดีใจและ happy มากกว่านี้

ขาดจิตวิทยาและมนุษยสัมพันธ์ ขาดความสนใจจนผู้ป่วยมีความรู้สึกว่า หมอไม่ได้มาดูแลเขาเลย คุยกันเรื่องอะไรก็ไม่รู้ ผู้ป่วยจะไม่ประทับใจเลย และรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนเกิน

ช่วงกลาง ๆ ของสมุดบันทึก มีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมาก เพราะมันเป็นบันทึกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยของอาจารย์ ผมคาดเดาว่า น่าจะเป็นการสนทนาอยู่กับลูกศิษย์คนใดคนหนึ่งอยู่

ประเด็น

1 งูตัวนี้ไม่ใช่งูเห่าแท้ เป็นพันธุ์ผสมระหว่างกะปะ+งูเห่า เพราะงูกะปะกัดแล้วมี thrombosis, hemolysis -> necrosis

งูเห่าneurotoxin

2 แผล infect จาก bacteriaที่เกิดที่เขี้ยวงู ไม่ใช่จากพิษงูเห่า

3 การรักษาผิด เพราะ

         1observe ไม่ดี

         2ควรอธิบายญาติให้ละเอียดตอนแรก

ตามทฤษฎี ผิดเพราะควรให้ป้องกัน

ผมไปผ่าตัด รพ.ห้วยยอดมาเป็น 2-3 ปี 1,000 รายแล้ว เครื่องมือส่วนตัว 4-5 แสนบาท ที่ห้วยยอดบ้านเกิดผม

หลัง ๆ เจอบ่อย งูผสมข้ามสายพันธุ์บ่อยกว่าที่เราคิด ที่ ม.อ.เจอบ่อย

ทุกอย่างถูกต้องแล้ว ต้องการคำอธิบายที่ละเอียด ถ้าคนไม่เคยเห็นจะไม่เชื่อว่า ดูตัวงูก็ไม่รู้ ต้องศึกษา DNA ของงูแต่ละตัว

การรักษาเริ่มแรก ดูอาการ รายนี้ 4 วันแล้ว ยังไม่มีอาการ neurotoxin ซึ่งแสดงว่าตัวพิษไม่ใช่ของงูเห่า แต่ผลของพิษเหมือนกะปะ เพราะ necrosis 3-4 วัน VCT ช่วย prolongถ้ากะปะ ต้อง debridement

บางคนเอางูมา

เอางูมาเวลาไหน งูพิษมากหรือน้อย เช้ามืด หัวค่ำ ดึก ๆ ต่างกันไหม

งูนอนไม่กินอะไร-> สร้างพิษ -> ตื่น ->กินเหยื่อ (พิษหมด) -> กัดคน พิษน้อย

งูหิว->กัด -> พิษมาก ยังไม่ทันกินอะไร

นอนหลังกิน เพราะฉะนั้น งูกัดตอนเช้า พิษจะมากกว่ากลางคืน

แมน (นี่คือชื่อของคนที่กำลังคุยอยู่กับอาจารย์)

ศึกษาเรื่องพันธุกรรมงูอย่างเดียวที่กัดคนใน อ.ห้วยยอดก็พอทำ PhD ได้ ไม่มีใครรู้ 

ศึกษาง่าย ๆ ว่าใบตองจากกล้วยชนิดต่าง ๆ มีคุณสมบัติในการรักษาคุณค่าของอาหารไทยได้อย่างไร แต่ละอย่างไม่เหมือนกัน ใบกล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า กล้วยตานี ดีกว่าพลาสติกหรือโฟมตรงไหน

แมนไปซื้อหนังสือ2-3 เล่ม มาอ่านให้ได้

1 The CITADEL ของ A.J. CRONIN

2 Dr. Albert Schweizer

3 The six physician

4 Dr. Zhivago

5 William Osler

6 ประวัติการแพทย์ไทย

เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับcommunity med ที่หมอจบใหม่ไปอยู่ชนบททำการศึกษาโรคในชุมชน ทำเป็นงานวิจัยได้ปริญญาเอกครั้งแรก ๆ โดยอาศัยการทำงานประจำวันมาเป็นผลงานวิจัย

ดีมากสำหรับไทยในอนาคต

สิ่งหนึ่งที่ทำให้อาจารย์ประเสริฐมีความสุขมากระหว่างที่นอนรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล คือการได้ออกมาจากหอผู้ป่วยแล้วนั่งรถเข็นมาสูดอากาศภายนอก โดยเฉพาะบริเวณชั้น ๓ ตรงทางเชื่อมระหว่างอาคารเฉลิมพระบารมีกับตึกเก่า และนั่งมองไปยังวิหารหลวงปู่ทวด

22 กค. 62 18.15น.

อาคารหลวงปู่ทวด ออกแบบโดย อ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี เคยออกแบบไว้เมื่อหลายปีก่อน แต่คณะไม่มีเงินสร้างจนล่มไปแล้วสมัย อ.อติเรก

สมัย อ.พันธ์ทิพย์เป็นคณบดี คิดรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่โดยอ.สุธรรม โดยขอให้พ่อไปขอร้องพี่ภิญโญมาช่วยแก้ไขและเพิ่มเติมแบบใหม่จนได้สร้างสำเร็จ

พ่อต้องหาวิธีไปหาพี่ภิญโญที่บ้านที่ กทม. ซื้อลูกโหนด ทำปลากระบอกแดดเดียว น้ำบูดู ใส่รถตู้คณะแพทย์ โดย อ.สุธรรม อนุมัติให้ไปอวยพรวันเกิดและเป็นของขวัญให้พี่ภิญโญ เพื่อขอกราบให้มาเขียนแบบหลวงพ่อทวดจนสร้างสำเร็จ

พี่นพขับรถไปกับชำนาญ ในรถมีลูกโหนด น้ำบูดู น้ำตาลโตนด และปลากระบอกแดดเดียว อ.สุธรรมจำเรื่องนี้ได้

พี่ภิญโญเป็นพี่ชายของ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นคนดี มีความจริงใจ น่าเคารพนับถือ นับว่าเป็นบุคลากรของชาติ เป็นศิลปินดีเด่นแห่งชาติ ตีขิมและดนตรีไทย ออกแบบสถาปัตยกรรมไทย เป็นสถาปนิกที่ออกแบบวัดไทยในต่างประเทศส่วนใหญ่

พ่อรู้จักกับพี่ภิญโญผ่านทาง อ.อติเรก พี่อภินันท์ ณ​ นคร พี่ธรรมนูญ

พี่ภิญโญเป็นเจ้าภาพฝ่ายชายไปสู่ขอลูกสาวอธิบดีกรมป่าไม้ พ่อตาพี่เติมกับพ่อเอง

เป็นผู้มีบุญคุณกับครอบครัวเรา เป็นปูชนียบุคคลระดับชาติที่ควรยกย่องสรรเสริญ พ่อเคารพพี่ภิญโญมากมาย พี่ภิญโญจะเรียกพ่อว่า “น้องเสริฐ” ทุกครั้ง

ประเสริฐ

เล่มที่ ๕

เล่มที่ ๕ เปิดมาหน้าแรกก็ตกใจ

จริง ๆ แล้ว ผมสร้างขื่อเสียงตัวผมจาก CA esophagus และจบด้วยเรื่อง CA esophagus เป็นเรื่องแปลกแต่จริง หมองูตายเพราะงู

ประเสริฐ

ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนั้น อาจารย์ยังคงประสบปัญหาเรื่องของการติดเชื้อจากการสำลักอาหารอยู่

ให้อาหารออกจากกระเพาะให้หมด ต้องฝึก สิ่งแรกที่ต้องทำคือ

1งดอาหารหลัง 4ทุ่ม ทำทุกอย่างให้พร้อมก่อน เอนตัวลงนอนหลัง 5ทุ่ม

2นอนหัวสูงตลอด เพราะหูรูดโครงสร้างกระเพาะของพ่อโดนการฉายรังสีและอายุมาก กายภาพไม่ได้ (ผมย้อนไปเปิดดูในบันทึกเล่มที่ ๔ อาจารย์วาดภาพวิธีการแก้ไขปัญหานี้คือการผ่าตัดเย็บปิดหลอดอาหารเลย และมันเป็นเพียงความคิดและสื่อออกมาทางรูปภาพเท่านั้น)

มีอีกวิธีคือต้องเปลี่ยนที่ให้สายอาหารให้ลงที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ต้องผ่าตัดใหม่

อาหารที่ให้ทางเดินอาหารมีประโยชน์กว่าการให้ทางน้ำเกลือ การให้ทางเลือดเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดง่าย เสียชีวิตง่าย

การให้ทางลำไส้เล็กต้องปรับปรุงส่วนประกอบของอาหารใหม่ อาจต้องมีการทำเฉพาะ ทำได้ พ่ออาจอยู่นานขึ้นแค่เป็นเดือน เพราะพ่อแก่แล้ว ไม่ควรเสี่ยง

พ่ออยู่ต่ออีกก็ทำประโยชน์อะไรมากกว่านี้ไม่ได้อีกอยู่แล้ว เป็นภาระกับผู้อื่น โดยเฉพาะครอบครัวและสังคม

ลดการติดเชื้อทางเดินหายใจ ตายช้าลงเท่านั้น ไม่ลดแต่ตายช้าลง อาจเป็นวันหรือเดือนเท่านั้น

อาจวินิจฉัยผิดพลาดได้

ของพ่อไม่ผิดแน่

ตัวปัญหาตัวเดียวที่เราไม่รู้ตัวแปรคือimmunotherapy ว่าอาจจะออกหัวหรือก้อย เพราะได้แต่เดา ทุกคนรู้จากทฤษฎี แต่ไม่มีใครยืนยันอะไรได้ ตอนนี้ที่ดีที่สุดคือ

1พ่อทำใจอดทน

2คอยสังเกต

3ป้องกันอะไรก็ได้ที่คิดว่าป้องกันได้

4ทำเท่าที่ทำได้

บันทึกในเล่มที่ ๕ นี้ เป็นเรื่องราวของการให้อาหาร การจัดการเรื่องทรัพย์สินบางอย่างที่ท่านคิดว่ามีความสำคัญ แต่ผมก็ยังรู้สึกชอบใจที่เห็นอาจารย์ยังคงเหลืออารมณ์ขันไว้บ้าง อย่างน้อยก็มีผมคนหนึ่งล่ะ ที่รู้สึกมีความสุขเมื่ออ่านเจอ

อินเดียน่าจะเป็นประเทศแรก ๆ ในโลกที่ไปถึงดวงจันทร์ก่อนประเทศอื่น เพราะอินเดียมีพระอินทร์ หนุมาน เหาะเหินเดินอากาศได้ มีพระลักษณ์ พระราม etc.

อินเดียมีพระนารายณ์ ทศกัณฐ์ ทุกอย่างได้เปรียบชนชาติอื่น ๆ

กราบขออนุญาตอาจารย์ตรงนี้เลย มุกนี้ผ่านครับ ว่าง ๆ จะขอนำไปใช้บนเวทีบรรยาย

อ่านมาอีกนิด คราวนี้อาจารย์เล่าให้ฟังเรื่องห้องสมุดขณะที่อาจารย์ทำงานอยู่ที่อเมริกา

ผมอยู่USA 8 ปีกว่า เวลาส่วนใหญ่มากกว่า 90%อยู่ในโรงพยาบาล ที่นอนประจำ ICU, recovery room รองลงมาคือห้องพักแพทย์เวร

Recreation ที่ enjoyที่สุด ห้องสมุด โดยเฉพาะได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลโดยเฉพาะ continuing medical education การค้นคว้า journal

ผมอยู่USA สามารถให้บรรณารักษ์ห้องสมุดใน N.Y.หาถ่ายเอกสาร paper ตีพิมพ์จากประเทศ Eng. ได้ภายในเวลาไม่เกิน 7 วัน เมื่อเทียบกับ 50 ปีก่อน

สมมติว่า เราอาจเจอเรื่องในตำราที่ USA แต่ถ้ากล่าวถึงประวัติย้อนหลังไป200 ปีที่เกิดจากประเทศอังกฤษ สามารถค้นคว้าได้โดยบอกเจ้าหน้าที่ห้องสมุด ค่าใช้จ่ายแทบไม่มีอะไรเลย เขาทำให้ free

Caseแรกที่ผมประทับใจเกี่ยวกับห้องสมุดและความร่วมมือ เช่น ผมต้องการทราบว่า case แรกของ blunt injury ของ pancreas เกิดที่ไหน เมื่อไร ผมไปห้องสมุดที่ USAเปิดอ่านแล้วไม่พบใน USA แต่พบว่าเมื่อ 200ปีก่อน ที่ Eng.มีหนุ่มสาวคู่หนึ่งเดินเล่นอยู่ริมท่าเรือแห่งหนึ่ง แล้วมีรถม้าเทียมเกวียนวิ่งมาชนหนุ่มสาวคู่นั้น ผู้ชายเกิดการบาดเจ็บ รถม้าทับหน้าท้อง ผู้ชาย pancreas ขาด 2ท่อน เป็น case แรกของโลก ซึ่งบันทึกไว้ในประเทศอังกฤษ

อ่านเรื่องนี้แล้วชวนให้ตื่นเต้นไปด้วยเลยใช่ไหมครับ ทุกอย่างที่ได้มาล้วนเกิดจากความพยายาม ต่างจากสมัยนี้มาก ที่เมื่อเราต้องการจะรู้อะไร เพียงเข้าอินเตอร์เน็ตมันก็จะได้มาทันที

ความจริงอาจารย์ใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกาไปตลอดก็ยังได้ เพราะท่านเป็นคนเก่ง ดี และมีฝีมือ 

บันทึกเล็ก ๆ เขียนไว้ไม่ต่ำกว่า ๕ ที่ใน ๗ สมุดบันทึก นั่นคือการที่อาจารย์ต้องกลับมา และต้องใช้ชีวิตอยู่ที่สงขลานครินทร์จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต นั่นคือ “จดหมายจากอาจารย์ทองจันทร์” 

ในเล่มที่ ๔ ที่ผมอ่านผ่านมานั้น ท่านบันทึกไว้ว่า

นี่คือสิ่งที่ อ.ทองจันทร์ทำไว้ 

กลับมาเพราะ จม. Aerogramme 5 บาท สร้างมูลค่าโรงพยาบาลนี้หลายพันล้าน

แค่บรรทัดนี้ผมก็เชื่อสุดใจ ผมเคยอ่านจดหมายฉบับนั้นด้วย แม้ไม่ใช้ต้นฉบับที่เขียนด้วยปากกาของอาจารย์ทองจันทร์ แต่เนื้อหาที่เขียนด้วยลายมือนั้นมันตรึงใจมาก

ยังครับ ในเล่มที่ ๔ ยังมีเนื้อหาบางช่วงที่ต้องบันทึก

ผมรู้ว่าทุกคนอยากให้ผมอยู่ ไม่มีใครอยากตาย แต่ก็ต้องตาย เป็นเรื่องธรรมดา

สิ่งที่ผมดีใจคือ ทุกคนที่ผมรู้จักมีความสุข ความสำเร็จ ครอบครัวมีความสุข ผมคิดว่าพอแล้ว ไม่ใช่เงินทอง แก้วแหวน หรือชื่อเสียงใด ๆ

จะลืมขอบคุณใครก็ได้ แต่อย่าลืมขอบคุณพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะในชีวิตผม คือ อ.ทองจันทร์,อติเรก, หมอเพรา (ต้องขอโทษ หากผมสะกดชื่อผิดนะครับ) อย่างน้อย อ.ทองจันทร์เป็นคนเขียนจดหมายแนะนำผมให้กลับมาทำงานที่คณะแพทย์ ม.อ. ผมคิดว่า จดหมายฉบับนั้นควรเป็นเอกสารสำคัญชิ้นหนึ่งของประวัติศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบัน โดยเฉพาะประวัติของการสร้างคณะแพทย์ ม.อ. และการศัลยกรรมของภาคใต้ของประเทศ รวมทั้งการเริ่มและพัฒนาขีดความสามารถของศิษย์เก่า ม.อ. ลูกศิษย์ศัลยแพทย์ของผมทุก ๆ ๆ คนเท่าที่เขามีกำลังทำงานในปัจจุบัน

ใช่ ผมสร้างลูกศิษย์มากเพราะอาจารย์สร้างผมมาเพื่อสร้างศิษย์ และผมหวังว่า ศิษย์ผมทุกคนต้องสร้างศิษย์ต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด เหมือนคุณทุก ๆ คน

ประเสริฐ

เล่มที่ ๖

            เล่มที่ ๖ นี้ อาจารย์เริ่มเขียนในช่วงราว ๆ ปลายเดือนกรกฎาคม ซึ่งดูเหมือนสถานการณ์โดยรวมน่าจะดีขึ้น มีการเตรียมความพร้อมที่จะได้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน แต่ท้ายที่สุดท่านก็ยังไม่ได้กลับ

            นั่งนาน ๆ ก็เจ็บบริเวณ coccyx แล้วเปลี่ยนท่าจะทำให้เจ็บน้อยลง ผมรู้และผมก็ป้องกันตัวเอง เพราะ bed sore เป็นตัวชี้วัดถึง prognosisในการดูแลผู้ป่วยเลวลง การป้องกันจะดีที่สุด เพราะรักษาลำบาก ผมไม่อยากเป็นคนไข้ติดเตียง ถ้าผมเดินได้ ผมจะมีชีวิตที่สบายกว่านี้

         ช่วงนี้มีคนทราบข่าวการเจ็บป่วยของอาจารย์มากขึ้น ลูกศิษย์ลูกหามาจากที่ไกล ๆ เพื่อเยี่ยมเยียนอาจารย์ บางคนก็เป็นคนไข้ที่อาจารย์เคยดูแลรักษา

            ขอบคุณทุกคนที่มาเยี่ยม ผมรู้สึกว่าทุกคนที่ได้ยินข่าว มีความเป็นห่วงใยและหวังดี อยากให้ผมหายเป็นปกติเสมอ

         ผมคงไม่มีโอกาสพูดหรือร้องเพลงได้อีกแล้ว เพราะเป็น chronic radiation laryngitis 

         พูดไม่ได้อีกตลอดชีวิต ทำ trach เพื่อให้หายใจอยู่ได้เท่านั้น

         ขอบคุณทุกคนที่มาเยี่ยมและเป็นห่วง ขอให้ทุกคนโชคดีตลอดไป

ประเสริฐ

            ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม โรงพยาบาลได้จัดงานสังสรรค์องค์กรแพทย์ 

            ผมเชื่อว่า หากอาจารย์มีสุขภาพที่ดีอยู่นั้น ท่านจะไปร่วมงานด้วย เพราะว่า อาจารย์ประเสริฐคือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง “องค์กรแพทย์” ของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์

            เพราะผมเป็นประธานองค์กรแพทย์คนแรกของประเทศไทย

         ของเราโชคดี HA สำเร็จได้เพราะ

         1 อ.พันธ์ทิพย์ผลักดัน

         2staffให้ความร่วมมือ

         3ฝ่ายการพยาบาลสำคัญมาก เขาเรียนรู้ว่าเป็นเรื่องของการปรับปรุงคุณภาพ ไม่ใช่เรื่องตรวจสอบหรือจับผิด (ฝังใจ)

         บันทึกหลังจากนี้เป็นต้นไป ผมสังเกตว่าลายมือของอาจารย์อ่านยากขึ้น เดาว่าท่านอาจจะเริ่มอ่อนเพลีย ท่านบ่นเรื่องการดูดเสมหะที่ท่อ tracheostomy บ่นเรื่องการให้อาหารทางสายยาง ความรู้สึกเจ็บปวดทั้งที่กระดูกก้นกบ ต้นคอ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือกระทั่งการหายใจของอาจารย์แย่ลง

            ประเด็น

         1มาโรงพยาบาลพ่อเหนื่อยมากขึ้นเพราะปอดเลวลง พ่อเลยขยับตัวน้อยลง ใช้พลังงานลดลง

         2การถ่ายอุจจาระไม่สะดวกเหมือนก่อน

         3มาโรงพยาบาล กินยาแล้วเพิ่มน้ำมากกว่าอยู่บ้าน พ่อกลัวน้ำเกิน

         4บรรยากาศลมไม่พัดเหมือนบ้าน

         5จำเป็นแต่ไม่สำคัญที่สุด ลดปริมาณอาหาร ลดการสำลัก

         ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม อาจารย์ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับการทำงานของพยาบาลไว้ด้วย

            ... (อ่านไม่ออก)ที่ผมเขียนทุกอย่างได้ จะเขียนให้ใหม่ รับรองว่า มากกว่า 90% จะเหมือนเดิม เพราะทุกอย่างเขียนจากความรู้สึกภายในที่แท้จริง ไม่ใช่ว่าจะเขียนแต่เรื่องจากความประทับใจตั้งแต่ผมเจอ ผมได้รับการดูแลจากพยาบาล เห็นพยาบาลดูแลคนไข้ ผมอยู่กับพยาบาลมากกว่า 50 ปี ผมจึงไม่เคยลืมว่าพยาบาลทำงานอย่างไร และผมมีความรู้สึกนี้กับพยาบาลอย่างไร 

         พยาบาลทุกคนในชีวิตผม เขาได้ทุ่มเทชีวิตเขาให้กับผม ช่วยบันดาลให้กำลังใจทำงานครับ

         ผมเองอยากกราบไหว้พยาบาลและเจ้าหน้าที่ทุกคนแทนคนไข้ทุกคนในโรงพยาบาลนี้

ประเสริฐ

เล่มที่ ๗

         เหตุผลสำคัญที่สุดตอนนี้ ขอหยุดการรักษาชั่วคราวเพราะ

         1ร่างกายยอมรับการรักษาอย่างอื่นไม่ได้อีกแล้วด้วยข้อจำกัด

         2 immunotherapy ที่ให้มา 4ครั้ง ดูเหมือนว่าทำให้ esophagitis จากการฉายแสง และ laryngitisเลวลง มันไม่ยุ่งกับ stenosis แต่มันเกี่ยวข้องกับinflame response

         Immunotherapyทั่ว ๆ ไปมีผลกับ lung เกิดจากปฏิกิริยาของ autoimmune

ประเสริฐ

16 สค. 62

            หลังจากนี้ไป อาการของอาจารย์ทรุดลงมากขึ้นอีกครับ

19 สค.62

พ่อเริ่มหมดแรงหายใจแล้ว ลุกไม่ไหว ทุกคนโทษจิตใจ พ่อตายก็เพราะพ่อหมดใจแล้ว

พ่อ

ของที่สั่งซื้อให้ระงับไว้

บ้านไม่ต้องทำอะไร

คงไม่ได้กลับบ้านแล้ว

นี่จะเป็นการพิสูจน์แล้วว่า มันไม่ดีขึ้น มีแต่เลวลง

ประเสริฐ

21 สค. 62

ผมมีความสุขในระยะบั้นปลายชีวิตที่มาเจอพวกเราทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะพยาบาลที่คอยดูแลผม ทุกคนให้ความสุขความสบาย กำลังใจเป็นอย่างยิ่ง

ผมรู้สึกตัวว่าผมกำลังจะตาย ผมอยากให้ถึงเร็ว ๆ แต่เสียดาย เพราะเพิ่งได้อยู่กับพวกคุณเป็นเวลาสั้น ๆ

ผมไม่มีทางรอดได้ดีขึ้นหรอก ผมเป็นหมอมาเกือบ 50 ปี ผมรู้ prognosis คนไข้กำลังใจเป็น..(อ่านไม่ออก) ดี แต่เป็นไปไม่ได้ ถึงอย่างไรผมจะต้องลาทุกคน 

ประเสริฐ

บันทึกในช่วงเดือนกันยายนนั้น ส่วนมากเป็นคนมาเยี่ยมได้กรุณาเขียนถึงอาจารย์ สลับกับการบอกกล่าวเรื่องโรค ความเจ็บปวด การขอยาแก้ปวด รวมถึงยานอนหลับเพิ่มมากขึ้น ลายมือของอาจารย์อ่านยากขึ้นอีกจนหลาย ๆ หน้า ผมแทบจะอ่านไม่ออก

ช่วงต้นเดือนตุลาคม เกิดเหตุการณ์วิกฤติขึ้นอีกรอบ นั่นคืออาจารย์มีเลือดออกจากการที่เนื้อมะเร็งคงเข้าไปทำให้หลอดเลือดในคอฉีกขาด มีเลือดออกทางปากในปริมาณมาก การฉายแสงขนาดต่ำ ๆ เพื่อหยุดเลือดจึงต้องกระทำ 

บันทึกท้าย ๆ ในช่วงเวลานี้อาจารย์ท่านคงเริ่มมีอาการเผลอไปบ้าง

เดี๋ยวผมไปเจอที่OR เลย ผมไปด้วย จะเริ่มไปก่อน 

ถามหมอเอก พร้อมหรือยัง ไป OR เลย มีคนไข้เสร็จจากฉายแสง

อาจารย์มยุรีบอกผมว่า อาจารย์ประเสริฐคิดว่าท่านกำลังจะต้องไปรักษาคนไข้ที่กำลังมีเลือดออก ท่านไม่รู้ตัวว่า คนไข้ที่ท่านจะต้องเข้าไปผ่าตัดให้เขานั้น คือหมอประเสริฐ

.....................................................................................

ร่างของอาจารย์ได้รับการดูแลอย่างดี ศิษย์รักคู่ใจอาจารย์ได้เข้าไปปลดสายต่าง ๆ ออกจากร่างกายอาจารย์ เย็บแผลในจุดที่เป็นรอยแยกของผิวหนังจากการใส่สายทุกชนิด ทีมพยาบาล นำโดยพี่จุด น้อง ๆ พยาบาลของหอผู้ป่วย SICU ช่วยกันทำความสะอาดร่างกาย และสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ที่ดูเหมาะสมกับอาจารย์เป็นที่สุดให้ท่าน 

ผมได้แต่ยืนดูการทำงานของคนใกล้ชิดของอาจารย์อยู่ห่าง ๆ 

สักครู่หนึ่ง ท่านบัญญัติ จันทน์เสนะ ได้เดินออกมาจากห้องด้านตรงข้ามจากห้องของอาจารย์หลังจากที่ท่านได้นั่งคุยอยู่กับอาจารย์มยุรีอยู่ระยะหนึ่งแล้ว ท่านสวมชุดเสื้อขาวแลดูเป็นทางการ ท่านมาหยุดยืนต่อหน้าพวกเรา และเพียงเสี้ยวเวลาหนึ่งนั้น ท่านก็ได้บอกพวกเราว่า

“ผู้ยิ่งใหญ่จากไปอีกคน เราสูญเสียบุรุษผู้มีน้ำใจยิ่งใหญ่มหาศาลไปอีกคนหนึ่งแล้ว” แล้วท่านก็เดินเข้าไปหาร่างของอาจารย์ประเสริฐ แล้วกราบลงที่หัวไหล่ด้านซ้ายของอาจารย์

อาจารย์ประเสริฐจากเราไปแล้วนะครับ นี่คือความจริง

และสิ่งที่จริงยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ท่านได้จากเราไปอย่าทระนง

เชื่อผมเถิด เพราะในคำขอสุดท้ายนั้น ท่านขอสวมใส่ “ชุดผ่าตัด” เสื้อเขียว กางเกงเขียว หมวกผ่าตัดสีเขียว และมี mask อันหนึ่งผูกคล้องคอไปด้วย ร่างนั้นดูนิ่งสงบ ไม่เหนื่อย ไม่เจ็บไม่ปวด ท่านกำลังนอนหลับพักผ่อนหลังจากที่ต้องตรากตรำทำงานหนัก ดูแลคนไข้อันเป็นที่รัก และสร้างลูกศิษย์นับพันคนมายาวนานตลอด ๕๐ ปี

อาจารย์ประเสริฐเกิดมาเพื่อเป็นหมอผ่าตัดผู้ยิ่งใหญ่ และท่านได้จากเราไปอย่างหมอผ่าตัดผู้ยิ่งใหญ่เช่นกัน

คำสำคัญ (Tags): #หมอประเสริฐ
หมายเลขบันทึก: 673150เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2019 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2019 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ท่านคงดีใจที่ อ. หมอแป๊ะถ่ายทอดข้อเขียนของท่านไว้เป็นอย่างดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท