ชีวิตที่พอเพียง 3507. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๓๐) ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น


บันทึกที่ ๑       บันทึกที่ ๒       บันทึกที่ ๓       บันทึกที่ ๔       บันทึกที่ ๕

บันทึกที่ ๖       บันทึกที่ ๗       บันทึกที่ ๘       บันทึกที่ ๙       บันทึกที่ ๑๐

บันทึกที่ ๑๑       บันทึกที่ ๑๒      บันทึกที่ ๑๓ บันทึกที่ ๑๔       บันทึกที่ ๑๕

บันทึกที่ ๑๖       บันทึกที่ ๑๗      บันทึกที่ ๑๘  บันทึกที่ ๑๙      บันทึกที่ ๒๐        

บันทึกที่ ๒๑       ตอนที่ ๒๒     ตอนที่ ๒๓      ตอนที่ ๒๔      ตอนที่ ๒๕     

ตอนที่ ๒๖     ตอนที่ ๒๗        ตอนที่ ๒๘         ตอนที่ ๒๙


ต่อไปนี้โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน จะเรียกย่อๆ ว่า ครูรัก(ษ์)ถิ่น    การประชุมคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางของโครงการครั้งที่ ๓/๒๕๖๒ จัดบ่ายวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒    และผมได้บันทึกการประชุมครั้งที่ ๒ ไว้ที่ (๑)     

ในช่วงเวลา ๒ เดือนระหว่างการประชุมครั้งที่ ๒ กับครั้งที่ ๓  มีความก้าวหน้าในการดำเนินการอย่างน่าชื่นใจ     มีการลงนามความร่วมมือ ๖ ฝ่ายในการทำงานนี้ ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ,  กระทรวง อว.,  สพฐ.,  สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา,  สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา,  และ กสศ.   เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๒    มีรายชื่อโรงเรียน ๓๐๐ แห่ง ที่ผู้จบการศึกษาในโครงการนี้ไปทำงานในปี ๒๕๖๗    ได้ประกาศโครงการ    และได้ประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการ จากสถาบันการศึกษากลุ่มเป้าหมาย   

ทีมจัดการโครงการนำโดย ผศ. ดร. พิสมัย รัตนโรจน์สกุล จัดทำผังขั้นตอนและเวลาดำเนินการมาอย่างดีและละเอียดมาก    ที่ผมชอบมากคือ วิธีการคัดเลือกสถาบันผลิตครู ทำ ๒ ขั้นตอน    โดยขั้นตอนแรกคัดโครงการที่เสนอมาไม่ตรงความต้องการออกไป     แล้วคณะทำงานตัดสิน ลงพื้นที่ ไปดูความพร้อม    เพื่อให้มั่นใจว่ามีความพร้อมจริง     และภายในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒  ก็จะประกาศรายชื่อสถาบันผลิตครูที่ได้รับคัดเลือก ๑๐ แห่ง   หลังจากนั้นสถาบันผลิตครูก็จะดำเนินการค้นหา คัดเลือก และคัดกรองนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย    และในเดือนมกราคม ๒๕๖๓ สถาบันผลิตครูที่ได้รับคัดเลือกส่งรายชื่อนักเรียนผู้ผ่านการคัดเลือกรุ่นที่ ๑ ให้ กสศ. อนุมัติ  

งานนี้ไม่ง่าย    เพราะใช้หลักการผลิตในสถาบันในท้องถิ่น    และผลิตสาขาปฐมวัย หรือครูประถม ตามความต้องการของโรงเรียน    จึงต้องตัดสินใจเลือกสถาบันผลิตครูโดยคำนึงถึงหลายปัจจัย    และ ผอ. วัฒนาพร สุขพรต ที่มีประสบการณ์ดำเนินการผลิตครูคืนถิ่นของ สกอ. ขู่ว่า จะมีมหาวิทยาลัยที่สมัครแต่ไม่ได้รับเลือกฟ้อง

นอกจากนั้น เมื่อตรวจสอบความต้องการของโรงเรียนในพื้นที่  จำนวนครูที่ต้องการคือ ๓๒๙ คน    ที่ประชุมจึงมีมติให้หาทางเกลี่ยงบประมาณมารับนักศึกษา ๓๒๙ คนในปีการศึกษา ๒๕๖๓    แต่ก็รู้ๆ กันว่า คนที่เรียนจบจริงๆ ในปี ๒๕๖๗ จะไม่ถึงจำนวนนี้    เพราะผู้รับทุนเข้าเรียนในโครงการนี้ไม่ใช่กลุ่มเรียนเก่ง

ทีมจัดการโครงการปรึกษาเรื่องเกณฑ์การให้คะแนนในการคัดเลือกสถาบันผลิตครู    ที่คิดมาละเอียดมาก    ที่ประชุมเตือนว่าให้ระวังอย่าปนกันระหว่างเกณฑ์คุณสมบัติ กับเกณฑ์ให้คะแนน    เกณฑ์คุณสมบัติเป็นเรื่องที่หากไม่เข้าเกณฑ์ต้องคัดออก    ไม่เอามาพิจารณาให้คะแนนอีก  

มีการปรึกษาเรื่องรายชื่อและกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาคัดเลือกสถาบัน   ซึ่งประกอบด้วยคน ๓ กลุ่ม คือ ภาควิชาการ  ภาคผู้ใช้ครู  และภาคสังคม  

ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร เสนอให้พิจารณาให้ทุนแก่เด็กในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตน์ราชสุดาฯ    และในรุ่นต่อไปเสนอให้ผลิตครู กศน. ด้วย    เพราะเป็นครูที่ทำงานเพื่อผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่

ผมเชื่อว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น  จะมีส่วนยกระดับคุณภาพการผลิตครูให้แก่ประเทศ    และยกระดับการทำงานของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่เป็นโรงเรียนเป้าหมายให้ครูรัก(ษ์)ถิ่นไปทำงาน    

ผมชอบมาก ที่โครงการนี้มีการตั้งเป้าที่สูงส่ง  แล้วหาวิธีบรรลุเป้าหมายนั้น         

วิจารณ์ พานิช  

๑๕ ก.ค. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 666650เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2019 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2019 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท