วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) : 37. มุมมองจากผู้รับทุนคุณภาพสูง


ตอนที่ ๑      ตอนที่ ๒      ตอนที่ ๓       ตอนที่ ๔       ตอนที่ ๕  

ตอนที่ ๖       ตอนที่ ๗       ตอนที่ ๘       ตอนที่ ๙       ตอนที่ ๑๐  

ตอนที่ ๑๑       ตอนที่ ๑๒      ตอนที่ ๑๓       ตอนที่ ๑๔       ตอนที่ ๑๕  

ตอนที่ ๑๖        ตอนที่ ๑๗        ตอนที่ ๑๘   ตอนที่ ๑๙     ตอนที่ ๒๐   

ตอนที่ ๒๑      ตอนที่ ๒๒       ตอนที่ ๒๓       ตอนที่ ๒๔      ตอนที่ ๒๕  

ตอนที่ ๒๖     ตอนที่ ๒๗      ตอนที่ ๒๘  ตอนที่ ๒๙      ตอนที่ ๓๐ 

ตอนที่ ๓๑      ตอนที่ ๓๒      ตอนที่ ๓๓  ตอนที่ ๓๔     ตอนที่ ๓๕

ตอนที่ ๓๖

วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษา ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ของดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ (ระยะที่ ๒)    โครงการการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า    ครั้งสุดท้ายเพื่อปิดโครงการ

เป็นการประชุมเชิง reflection เพื่อ feedback หรือเสนอแนะ ต่อแหล่งทุน และต่อระบบ อววน. ในมิติใหม่ของกระทรวง อว.   จากมุมของนักวิจัยและสถาบันวิจัยคุณภาพสูง   

โชคดีที่รอง ผอ. สอวช. (ดร. ศิริพร)  และ ผอ. สกสว. (ศ. นพ. สุทธิพันธ์) ไปร่วมประชุมด้วย     

ที่จริงทุนวิจัยของ สกว. นี้ เรียกว่าทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย ให้แก่นักวิจัยที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ และ สกว. ยกย่องให้เป็น เมธีวิจัยอาวุโส  

ผมได้ชี้ให้ที่ประชุมทราบว่า ตอนคิดทุนวิจัยชุดนี้    ผู้บริหาร สกว. ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ คิดทุนวิจัย ๓ ระดับ คือ  ทุนส่งเสริมนักวิจัย (เรียกผู้ได้รับทุนว่า เมธีวิจัย)    ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เรียกผู้ได้รับทุนว่า เมธีวิจัยอาวุโส)    และทุนส่งเสริมสถาบันวิจัย    แต่ สกว. ในขณะนั้นไม่กล้าให้ทุนประเภทหลัง    เพราะรู้ว่ามหาวิทยาลัยอ่อนแอมากในเรื่องการบริหารงานวิจัย    แต่เมื่อฟังรายงานของทีม HITAP ก็เห็นได้ชัดเจนว่า     ทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ที่ให้แก่ นพ. ยศ นี้ ในทางปฏิบัติคล้ายๆ เป็นทุนส่งเสริมสถาบันวิจัย    ทาง สกสว. และ สอวช. น่าจะได้เอาแนวคิดและพัฒนาการนี้ไปสร้างหรือออกแบบ research and innovation ecology ของประเทศต่อ

ผมเล่าความหลังว่า การก่อเกิด เมธีวิจัยอาวุโส นพ. ดร. ยศ ตีระวัฒนานนท์ และ HITAP    มีที่มาจากการที่ สกว. มอบทุนวิจัย เมธีวิจัยอาวุโส แก่ นพ. ดร. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เป็นเมธีวิจัยอาวุโสคนแรกที่อยู่นอกมหาวิทยาลัย    นำไปสู่การก่อตั้ง IHPP  และได้ นพ. ยศ มาเรียนปริญญาเอก   และต่อมาเป็นเจ้าสำนัก HITAP    ทำให้เกิดสถาบันวิจัยอิสระ ๒ แห่ง ที่มีฐานะเป็นมูลนิธิและอิงราชการเล็กน้อย    ทำงานทั้งให้แก่ราชการและแก่สังคมวงกว้าง     

ทีม HITAP นำเสนอให้เห็นว่า ผลงานวิจัยด้าน HTA ที่นำโดย นพ. ยศ ไม่ใช่เพียงเอาไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเท่านั้น    แต่ยังมีการนำไปใช้เชิงนโยบายในเกือบทุกเรื่อง    ก่อผลกระทบต่อนโยบายการรักษาพยาบาลอย่างมากมาย    เนื่องจาก HITAP มีวิธีการให้ฝ่ายผู้ใช้ผลงานวิจัยมีส่วนร่วมตั้งโจทย์วิจัย     ดังนั้น ในการตีความของผม ผลงานของ HITAP เป็นงานนวัตกรรม    คือนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที    มีงานที่รัฐบาลฟิลิปปินส์เอาไปใช้ และอ้างอิงว่าเป็นผลงานจาก HITAP    คือเรื่องนโยบายการคุ้มครองสุขภาพผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง   

มีการนำเสนอ International Internship Program    ที่รับอินเทอร์น ๕ คน  คัดเลือกได้จาก ๓ ประเทศ    คนที่มาจากฟิลิปปินส์ทำวิจัยเรื่องระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยไตวายเรื้อรังของประเทศฟิลิปปินส์เทียบกับระบบของไทย    ผลงานส่งผลให้ สปสช. ฟิลิปปินส์ฟันธงว่าให้ใช้ระบบของไทย    

กิจการ International Internship Program ทำให้เห็นลู่ทางเชิงระบบ ในการใช้จุดแข็งด้านการวิจัยเป็นเครื่องมือความร่วมมือระหว่างประเทศ    สร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศไทยในวงการนานาชาติ  

 ในตอนท้าย นพ. ยศ เสนอเรื่องอนาคตของกิจกรรม HTA (Health Technology Assessment)    ว่าในเชิงเทคนิค เทคโนโลยีไอทีจำพวก AI จะเข้ามาแทนที่นักวิจัย    เช่นในไม่ช้าจะมี App ที่ทำ  Systematic Review และ Meta-analysis เสร็จภายในวันเดียว     โดยที่ App เขาค้นผลงานวิจัยให้อย่างครบถ้วน    นักวิจัยจึงต้องเตรียมพร้อมยกระดับตนเองไปทำงานที่ยากกว่า   

ในด้านการใช้ HTA ในการตัดสินใจ    จะมีการใช้ในรูปแบบใหม่ๆ    เช่น แทนที่จะใช้ตอนที่เทคโนโลยีใหม่ออกตลาดแล้ว    ก็ใช้ประเมินความต้องการและกำลังซื้อของตลาดก่อนพัฒนาเทคโนโลยี    หรือใช้ประเมินไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ไป ต่อรองกันไป   

นอกจากนั้น บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก ก็มีความต้องการประเมินชุดสิทธิประโยชน์ด้านการคุ้มครองสุขภาพ ที่แตกต่างกันในพนักงานต่างกลุ่ม ต่างวัฒนธรรม และต่างพื้นที่ในโลก    ผู้ใช้บริการ  มีแนวโน้มจะขยายตัวสู่ภาคส่วนที่ไม่ใช่ราชการ                 

วิจารณ์ พานิช        

๘ ก.ค. ๖๒

หมายเลขบันทึก: 666649เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2019 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2020 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท