วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) : 6. โครงสร้างระบบวิจัยที่ผิดพลาดของประเทศไทย



ตอนที่ ๑    ตอนที่ ๒     ตอนที่ ๓   ตอนที่ ๔    ตอนที่ ๕


เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๑ มีการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองแผนงานภายใต้แผนบูรณาการ การวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๒ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑  ที่ สวทน.

 สาระของการประชุมอยู่ที่การจัดการ ให้โครงการกลุ่ม Spearhead Program เพื่อตอบโจทย์ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ก่อผลสำเร็จ    คือผลงานวิจัยไปสู่ตลาดได้จริง    และเกิดการเรียนรู้ระบบและวิธีจัดการงานวิจัยแบบที่ผลงานวิจัยก่อผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจสังคมของประเทศได้จริง  

งบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรมส่วนของราชการ ๑๖๖ หน่วยงาน ของปีงบประมาณ ๒๕๖๒  ผ่านกระบวนการ กลั่นกรอง สองขั้นตอน   จากภาพรวมที่หน่วยงานเสนอ ๕๖,๑๗๐ ล้านบาท    ปรับลดเหลือ ๓๗,๔๗๖ ล้านบาท    โดยที่เมื่อเทียบกับงบประมาณปี ๒๕๖๑ ประมาณ ๑๗,๐๐๐ ล้านบาทแล้ว    ก็พอจะเดาได้ว่า ในที่สุดจะเหลือเพียงประมาณสองหมื่นล้านบาทเศษ    เพราะวิธีคิดเรื่องงบประมาณยังอิงฐานปีก่อนๆ อยู่    ยังไม่ได้อิงยุทธศาสตร์ประเทศ    ที่จะนำพาประเทศสู่ประเทศไทย ๔.๐

ได้กล่าวในตอนที่แล้วว่า แผนงาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ที่คณะกรรมการกลั่นกรองแล้ว มี ๑๖ แผนงาน ๔๒ แผนงานย่อย เป็นเงินรวม ๒,๙๑๔.๗๖ ล้านบาท   

แผนงาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ มี ๕ ด้าน    ของปี ๒๕๖๒ มีรายละเอียดคือ

  • ด้านอาหาร เกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีการแพทย์  มี ๔ แผนงาน  ๒๕ แผนงานย่อย  ๘ หน่วยงาน  งบประมาณรวม ๑,๗๙๖.๙๐ ล้านบาท
  • ด้านเศรษฐกิจดิจิตัลและข้อมูล  มี ๓ แผนงาน  ๗ แผนงานย่อย  ๗ หน่วยงาน  งบประมาณ ๓๙๗.๑๑ ล้านบาท
  • ด้านระบบโลจิสติกส์  มี ๓ แผนงาน  ๓ แผนงานย่อย  ๒ หน่วยงาน  งบประมาณ ๑๓๕.๒๘ ล้านบาท
  • ด้านการบริการมูลค่าสูง  มี ๔ แผนงาน  ๔ แผนงานย่อย  งบประมาณ ๔๓๔.๖๗ ล้านบาท
  • ด้านพลังงาน  มี ๒ แผนงาน  ๒ แผนงานย่อย  ๑ หน่วยงาน  งบประมาณ ๑๕๐.๘๐ ล้านบาท 

คณะกรรมการให้ข้อเสนอแนะว่าหากถูกลดทอนงบประมาณลงอีก ให้ตัดโครงการลำดับท้ายๆ ออก    อย่าใช้วิธีเกลี่ยเงิน  

ฝ่ายเลขานุการขอคำแนะนำโครงสร้างจัดการโครงการ Spearhead    ซึ่งได้คิดมาก่อนแล้วว่าจะใช้ระบบ ODU (Outcome Delivery Unit = หน่วยงานบริหารจัดการส่งมอบผลลัพธ์) และ PC (Program Chair = ประธานแผนงาน) ดูแลแต่ละโปรแกรม    ฝ่ายเลขานุการคิดร่างแนวความคิดมาอย่างดี   แต่คณะกรรมการแนะนำว่า ที่เสนอมาอยู่ภายใต้วิธีคิดแบบเดิมๆ    ติดกรอบระบบราชการ    แนะนำให้คิดออกไปนอกกรอบ   และต้องหาคนที่รู้ภาพรวมของแต่ละแผนงาน รู้จริงด้านตลาดของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่จะพัฒนาขึ้นจากแผนงาน มาเป็นผู้จัดการแผนงานทำงานเต็มเวลา    โดยต้องหาวิธีให้ได้คนเก่ง ค่าตอบแทนสูงพอที่จะจูงใจเขามาทำงานนี้   

คณะกรรมการแนะนำให้สร้างระบบ M&E คู่ขนานไปกับระบบ    เพื่อสร้างการเรียนรู้จากโครงการ สำหรับนำมาปรับปรุงวิธีจัดการในปีต่อๆ ไป    

นอกจากนั้น ฝ่ายเลขานุการยังขอคำแนะนำวิธีจัดการโครงการ Spearhead ปีงบประมาณ ๒๕๖๓ ด้วย    โดยจะให้องค์การบริหารงานวิจัยต่างประเทศมาช่วย    คำแนะนำของคณะกรรมการคือให้จัดลำดับความสำคัญและทำแต่น้อย    เพื่อสร้างผลงานให้ได้ และเรียนรู้จากการสร้างผลงานนั้น    นำไปขยายผล

คณะกรรมการยังตั้งข้อสังเกตว่า    โครงการนี้ต้องไม่ใช่เพียงเข้าไปหนุนภาคธุรกิจเอกชนให้รวยขึ้น   ต้องมีผลกระจายความมั่งคั่ง ลดช่องว่างทางสังคมด้วย     

ผมตั้งข้อสังเกตว่า โครงสร้างพื้นฐานของระบบวิจัยไทยอาจเป็นระบบที่พัฒนา Spearhead Program ไม่ขึ้น   เพราะเราหวังพึ่งให้มหาวิทยาลัยทำวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งนักวิจัยในมหาวิทยาลัยเกือบทั้งหมดไม่ถนัด    นอกจากนั้นนักวิจัยในมหาวิทยาลัยยังทำงานหลายหน้า    ไม่ได้มุ่งทำวิจัยเพื่อผลกระทบหรือเพื่อใช้ประโยชน์เพียงด้านเดียว    หรือจริงๆ แล้ววิจัยไม่ใช่งานหลัก    ซึ่งในต่างประเทศที่เขาเป็นประเทศรายได้สูง ระบบวิจัยของเขาจะต่างจากของไทย    ตรงที่มีสถาบันวิจัยของรัฐที่ทำหน้าที่วิจัยเป็นงานหลัก คู่ขนานกับหน่วยวิจัยในมหาวิทยาลัย   ทั้งร่วมมือกันและแข่งขันกันกับนักวิจัยในมหาวิทยาลัย   

ทีมเลขานุการทำการบ้านมาเสนอ    ว่าคาดหวังผลลัพธ์อะไรบ้างจากแผนงาน Spearhead ปี ๒๕๖๒   และเกิดผลกระทบอะไรบ้าง    ซึ่งผมดูตัวเลขแล้ว หากหลังทำแผนงานดังกล่าวไป ๕ ปี  เกิดผลลัพธ์และผลกระทบตามที่ยกร่างมาก็จะเกิดคุณประโยชน์ต่อประเทศมหาศาล    แต่ผลเกรงว่า จะได้ไม่ถึงหนึ่งในสิบของที่คาดการณ์    ซึ่งหากเป็นอย่างที่ผมคาด ก็น่าจะเป็นข้อมูลหลักฐาน บ่งชี้ว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานของการวิจัยไทยใช้ไม่ได้    ต้องออกแบบใหม่  

หากการณ์จะคลี่คลายไปในทาง “พัฒนาไม่ขึ้น”  และจับเค้าได้ภายใน ๒ - ๓ ปี    ก็ไม่สายเกินไปที่เราจะออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเสียใหม่

เอามาเล่าไว้    ภายใน ๕ ปี ก็น่าจะมีข้อมูลหลักฐานเพียงพอที่จะบอกว่า    ข้อสังเกตนี้ของผมเป็นการวิตกเกินเหตุ   หรือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง      



วิจารณ์ พานิช

๔ ม.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 643973เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2018 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2018 23:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Perhaps, Thailand needs (innovative business) 'start-up' programs for various sectors of economy. Programs that all 'inventors' can apply for and get assistance from universities and manufacturing groups.

Perhaps, Thailand needs (innovative business) 'start-up' programs for various sectors of economy. Programs that all 'inventors' can apply for and get assistance from universities and manufacturing groups.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท