แลกเปลี่ยนกิจกรรมสุนทรียสนทนาเรื่อง “ครูคือผู้ยกระดับวิญญาณมนุษย์”



     หลังเกษียณผมได้รับเชิญเป็นกรรมการ(ผู้ทรงคุณวุฒิ)สถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนมัธยมศึกษาหลายแห่ง(เป็นกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาด้วย) และมักจะถูกเชิญให้ร่วมเป็นกรรมการประเมินครูผู้ช่วยที่อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม (ทดลองปฏิบัติงาน) อยู่บ่อยๆ  จึงพบว่าครูรุ่นใหม่ๆสมัยนี้เก่งและตั้งใจทำงานกันมากทีเดียว  เห็นแล้วก็ชื่นใจและเกิดความหวังว่า การปฏิรูปการศึกษา ในยุคต่อไปนี้ คงต้องอาศัยครูเหล่านี้แหละ  ซึ่งเขาจะต้องอยู่ในระบบอีก 30-40 ปีข้างหน้า  ผมคิดว่าเรื่องจิตวิญญาณความเป็นครูเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เขามีพลังทุ่มเทและทำงานอย่างมีความสุขตลอดไป ซึ่งเราจะต้องช่วยกันสนับสนุนให้กำลังใจเขา ให้พวกเขามีแรงบันดาลใจและมีจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
      วันครูปีนี้ผมเลยลองเขียนกิจกรรมสุนทรียสนทนาเรื่อง “ครูคือผู้ยกระดับวิญญาณมนุษย์” สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มครูผู้ช่วย(จะลองไปทำกับครูปฏิบัติการอื่นๆบ้างก็ได้) โดยใช้เวลาแค่ 3 ชั่วโมง ซึ่งเขตพื้นที่การศึกษาอาจเป็นผู้ดำเนินการจัดเวทีสุนทรียสนทนานี้เอง  หรือโรงเรียนจะดำเนินการเองก็ได้  และถ้าจะให้ดีกิจกรรมสุนทรียสนทนานี้น่าจะทำกันเป็นระยะๆ(ถือเป็นกระบวนการหนึ่งในการทำงานปกติ)กันอย่างต่อเนื่อง คือเมื่อสอนหรือทำงานกันไปสัก 2-3 เดือนก็มาล้อมวงเล่าเรื่องราวการสอนที่ตนเองประทับใจแลกเปลี่ยนกัน รวมทั้งเป็นการ AAR(After Action Review) ไปพร้อมกันด้วย ใครจะลองนำไปประยุกต์ใช้ก็ได้ โดยอาจเลือกสื่อประกอบการทำกิจกรรมตามที่เห็นสมควรแล้วกัน   

      กิจกรรมสุนทรียสนทนาเรื่อง  “ครูคือผู้ยกระดับวิญญาณมนุษย์”   (3 ชั่วโมง)
แนวคิด            
     ครูอาชีพ หมายถึงครูที่เป็นครูด้วยใจรัก  ตั้งใจและพร้อมที่จะเป็นครูในทุกๆด้าน  ทั้งด้านความรู้ ความประพฤติ การวางตน  การเอาใจใส่ดูแลศิษย์  ปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู  อุทิศตนให้แก่การสอนอย่างเต็มที่และเต็มเวลา  มิได้คำนึงถึงรายได้กับความก้าวหน้าของตนเท่ากับบทบาทความเป็นครู ความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่เป็นเพียงผลพลอยได้จากการทำความดีเท่านั้น บางขณะเป็นทั้งพ่อ แม่ พี่ เพื่อนไปพร้อมๆกัน        
      จากความเชื่อที่ว่าบุคคลสามารถสร้างความรู้ขึ้นได้ด้วยตนเอง และครูแต่ละคนล้วนมีความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายและแตกต่างกัน  หากเราสามารถจัดกิจกรรมที่จะทำให้ครูแต่ละคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีใจที่จะแบ่งปันความรู้ ถ่ายทอดจิตวิญญาณความเป็นครูแก่กันและกัน  โดยผ่านการเล่าวิธีปฏิบัติที่ดีที่ประสบผลสำเร็จและภาคภูมิใจในเรื่องนั้นๆของตนเอง  แล้วแต่ละคนต่างนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์เชื่อมโยงกับประสบการณ์ของตนเอง  สู่การจัดระบบข้อมูลสารสนเทศ  พัฒนาสู่การคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ สร้างองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาด้วยตนเอง แล้วนำไปสู่การปฎิบัติ และต่อยอดพัฒนาความรู้ของตนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ก็จะเป็นการพัฒนาตน  พัฒนางาน ได้อย่างยั่งยืน           
       เทคนิคเรื่องเล่าเร้าพลัง(Story telling) และสุนทรียสนทนา (Dialogue) เป็นเครื่องมือหนึ่งที่หวังว่าจะสามารถช่วยตอบสนองความเชื่อดังกล่าวข้างต้น  โดยการจัดให้มีวิทยากร สื่อ และผู้อำนวยความสะดวกมานำทำกิจกรรมแต่ละกลุ่ม  นำให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยน  หาวิธีการ หาข้อตกลงในการเรียนรู้ร่วมกัน  พร้อมทั้งถ่ายทอดจิตวิญญาณความเป็นครูแก่กันและกัน ในบรรยากาศที่เอื้ออาทร มีชีวิตชีวา แบบวัฒนธรรมไทย จึงน่าจะเป็นวิธีการที่ดีวิธีการหนึ่งในการทำกิจกรรม
วัตถุประสงค์      เพื่อส่งเสริมให้ครูเกิดการเรียนรู้และมีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพครู
เป้าหมาย    ครูผู้ช่วยที่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม  และ/หรือครูปฏิบัติการสอนทั่วไป  

กิจกรรม       
1. กิจกรรมก่อนสุนทรียสนทนาแจกเอกสาร เรื่องเล่า(บันทึก)ของครูบุญถึง  “ครูคือผู้ยกระดับวิญญาณมนุษย์” (อาจเลือกใช้สื่ออื่นๆได้ตามความเหมาะสม)ให้ครูทุกคน ก่อนวันทำกิจกรรมสุนทรียสนทนาจริง เพื่อให้ครูแต่ละคนไปอ่านมาล่วงหน้าและเกิดความคุ้นชินในการเล่าเรื่อง มีแรงบันดาลใจที่อยากจะเล่าเรื่องราวของตนบ้าง เมื่อลงปฏิบัติในวันทำกิจกรรมสุนทรียสนทนาจริงได้อย่างเป็นธรรมชาติ   (ไม่กำหนดเวลา)       
2. กิจกรรมสุนทรียสนทนา           
    2.1 
ฉาย VCD เรื่อง “เสียงกู่จากครูใหญ่”(หรืออาจเป็นเรื่องอื่นตามที่เห็นสมควร) ในกลุ่มใหญ่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เกาหลี ที่ถ่ายทอดชีวิตจริงของครูใหญ่(ครู)คนหนึ่งที่ได้รับคำสั่งให้ไปสอนหนังสือที่หมู่บ้านทุรกันดาร เขาได้ เดินทางไปกับรถโดยสารเก่าๆ บนเส้นทางที่แสนจะทุรกันดาร จนกระทั่งถึงปากทางเข้าหมู่บ้าน ซึ่งมีภารโรงไปคอยรับ แต่เมื่อเห็นสภาพการแต่งตัวของเขาก็ไม่เชื่อถือ และไม่ช่วยถือสัมภาระอันหนักอึ้ง เขาจึงต้องแบกสัมภาระเดินข้ามภูเขาไปเอง  แต่เมื่อเดินทางไปด้วยกันได้พูดคุยกัน ภารโรงก็เริ่มศรัทธาและช่วยเขาแบกของ เมื่อไปถึงโรงเรียนเขาได้เดินสำรวจ ทักทายนักเรียน และประชุมครู นำกำหนดคำขวัญของโรงเรียนว่า “การทำงานหนักเป็นดอกไม้ของชีวิต” ในตอนแรกเขาไม่ได้รับความร่วมมือใดๆจากทั้งในและนอกโรงเรียน  เขาจึงนำลงมือทำงานทุกอย่างด้วยตนเอง  โดยได้สำรวจและแสวงหางานอาชีพที่เหมาะสมมานำทำ  และใช้เทคนิคการสอนนักเรียนที่เชื่อมโยงไปสู่การสอนผู้ปกครองและชุมชนทางอ้อม  เริ่มจากการเลี้ยงไก่ ปลูกผัก  เลี้ยงผึ้ง  เลี้ยงวัว  ปลูกไม้สนป่า โดยมุ่งพัฒนาโรงเรียน ชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี  มุ่งมั่นสร้างโรงเรียนเพื่อให้มีห้องเรียนเพิ่มขึ้น เพียงพอต่อความต้องการและมีอุปกรณ์การเรียนที่พร้อมในการเรียน เพื่อให้ลูกหลานในหมู่บ้านมีการศึกษาที่ดีขึ้น ถึงแม้จะไม่ได้รับความร่วมมือจากชุมชน ในช่วงแรกๆ ครูใหญ่ก็ไม่ย่อท้อ มุ่งมั่นและตั้งใจพัฒนาอย่างแท้จริง และได้ลงมือกระทำโดยไม่รอขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ  จนในที่สุดเขาก็ได้รับการยอมรับ ผู้คนในชุมชนเชื่อมั่นและศรัทธาเขา และทุกฝ่ายก็ร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลืองาน  เขาได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เด็กๆที่เคยไปเรียนไกลๆ ก็กลับมาเรียนยังโรงเรียนแห่งนี้มากขึ้น  เขาสามารถพิสูจน์ความสำเร็จตามคำขวัญที่เขาตั้งไว้ว่า “การทำงานหนักคือดอกไม้ของชีวิต” ได้อย่างแท้จริง  (ใช้เวลาประมาณ  20  นาที)         
      2.2  หลังภาพยนตร์จบ  วิทยากรหรือผู้อำนวยความสะดวกนำพูดคุยซักถามครูในกลุ่มใหญ่ ให้ช่วยกันสรุปและอภิปรายถึงคุณลักษณะที่ดีของครูใหญ่(ครู)จากภาพยนตร์เรื่องนี้ ( 10 นาที)         
      2.3  แบ่งกลุ่มครูกลุ่มละไม่เกิน 10 คน  ให้แต่ละกลุ่มเลือกผู้อำนวยความสะดวกสำหรับการนำให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในกลุ่ม  โดยใช้เทคนิคเรื่องเล่าเร้าพลัง(Story telling) และสุนทรียสนทนา (Dialogue) กลุ่มละ1 หัวข้อ เกี่ยวกับความประทับใจและความภูมิใจในเทคนิควิธีการที่ตนเองได้ปฏิบัติใน(ตัวอย่าง)หัวข้อต่อไปนี้ (ปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม)                 
         1). การเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน                 
         2). การกระตุ้นนักเรียนให้ตั้งใจและเอาใจใส่ต่อการเรียน          3).  การดูแลชั้นเรียนและการบริหารจัดการชั้นเรียน                 
         4). การส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน                 
         5). การส่งเสริมทักษะการคิดให้แก่นักเรียน                 
         6). การสร้างเสริมการมีวินัยของนักเรียนเรื่อง ความรับผิดชอบและตรงต่อเวลา                
         7). การสร้างเสริมนักเรียนให้มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ                 
         8). การปลูกฝังนักเรียนให้มีความจงรักภักดีและเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์                                   
         9). การพัฒนาผู้เรียนให้มีความขยัน อดทน และสู้งาน                
       10). การเสริมสร้างทักษะชีวิตและการสร้างงานอาชีพให้แก่นักเรียน                
       11). การพัฒนาตนเองของครูให้เก่งและแน่นในความรู้ตามกลุ่มสาระที่สอน/งานที่ปฏิบัติ                
       12). การสร้างแรงบันดาลใจของตนเองให้ทำงานอย่างมีความสุขในวิชาชีพครู

                     ฯลฯ

        โดยสมาชิกทุกคนในกลุ่มผลัดกันเล่าวิธีปฏิบัติที่ตนเองภาคภูมิใจ และประทับใจ  ตามหัวข้อที่กำหนด  เล่าอย่างเป็นธรรมชาติ  ให้เล่าเพียงประเด็นเดียวต่อหนึ่งเรื่อง(1 รอบ)  เล่าให้ได้ใจความ และเล่าสั้น ๆ ใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที(อาจเล่าหลายรอบก็ได้)  โดยมีกติกากลุ่มดังนี้

         ผู้เล่า   เล่าเฉพาะเหตุการณ์  บรรยากาศ  ตัวละคร  ความคิด ของผู้เล่าในขณะเกิดเหตุการณ์ ไม่ตีความระหว่างเล่า  เล่าให้เห็น บุคคล  พฤติกรรม  การปฏิบัติ  ที่คิดว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่ดีของตน

          ผู้ฟัง    ฟังโดยไม่พูดแทรก   ฟังด้วยความตั้งใจ  และฟังด้วยความเข้าใจ โดยไม่เสนอข้อแนะนำใดๆ  เช่น ทำไมไม่ทำแบบนั้นแบบนี้  เป็นต้น แต่ซักถามในลักษณะอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้เมื่อเขาเล่าจบ           
        - เมื่อเล่าครบทุกคนแล้ว  ให้ผู้อำนวยความสะดวกแต่ละกลุ่ม ชวนสมาชิกพูดคุยว่าชอบเรื่องเล่าของใครบ้าง  ทำไมถึงชอบ  และคิดว่าตนเองจะนำไปปรับใช้ได้อย่างไร           
        -  เลือกเรื่องเล่าที่กลุ่มประทับใจมากที่สุดมา 1 เรื่อง แล้วส่งผู้เล่าในเรื่องนั้นมานำเสนอเรื่องเล่าที่กลุ่มนั้นในกลุ่มใหญ่                                     ( 60 นาที)        
       2.4 นำเสนอเรื่องเล่าที่แต่ละกลุ่มเลือกในที่ประชุมกลุ่มใหญ่   โดยที่ประชุมและวิทยากรร่วมกันถอดขุมความรู้ที่ได้จากเรื่องเล่าแต่ละเรื่อง เมื่อเล่าจบ    (60  นาที)         
       2.5 วิทยากรบรรยายสรุป โดยใช้  Powerpoint และวิดีโอคลิปสั้นๆ (ตามที่เห็นเหมาะสม)รวมทั้งอาจช่วยกันสรุปขุมความรู้ที่ได้จากเรื่องเล่า(บันทึก)ของครูบุญถึง “ครูคือผู้ยกระดับวิญญาณมนุษย์”(หรือเรื่องอื่นๆที่นำมาให้อ่าน) ประกอบการบรรยายสรุปและนำเสนอ     (30 นาที)
เอกสาร/สื่อ  (พิจารณาตามความเหมาะสมและตามที่เห็นสมควร) สื่อที่ผู้เขียนเคยใช้ดำเนินการและได้ผลดีมาแล้ว เช่น   
    1. VCD เรื่อง เสียงกู่จากครูใหญ่  (พร้อมเครื่องฉาย / ลำโพง)       
    2. ใบงานประกอบกิจกรรมกลุ่ม     3. Powerpoint เรื่อง “ครูคือผู้ยกระดับวิญญาณมนุษย์”       
    4. วิดีโอคลิบสั้นๆ เช่น  ครูสาวสวยกับนักเรียนหนุ่มฮา,  ครูอนุบาล, ครูอียิปต์  ฯลฯ        
    5. เอกสาร  เรื่องเล่า(บันทึก)ของครูบุญถึง  “ครูคือผู้ยกระดับวิญญาณมนุษย์”                                   
         ----------------------------------------------                                                              
                         ธเนศ  ขำเกิด                          ผู้นำเสนอกิจกรรม

หมายเลขบันทึก: 643967เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2018 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มกราคม 2018 09:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท