วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) : 28. กระทรวงการอุดมศึกษาฯ พิการแต่กำเนิด


ตอนที่ ๑        ตอนที่ ๒       ตอนที่ ๓        ตอนที่ ๔      ตอนที่ ๕

ตอนที่ ๖        ตอนที่ ๗       ตอนที่ ๘        ตอนที่ ๙       ตอนที่ ๑๐

ตอนที่ ๑๑       ตอนที่ ๑๒      ตอนที่ ๑๓       ตอนที่ ๑๔        ตอนที่ ๑๕

ตอนที่ ๑๖       ตอนที่ ๑๗       ตอนที่ ๑๘       ตอนที่ ๑๙       ตอนที่ ๒๐

ตอนที่ ๒๑       ตอนที่ ๒๒       ตอนที่ ๒๓       ตอนที่ ๒๔       ตอนที่ ๒๕

ตอนที่ ๒๖       ตอนที่ ๒๗

วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๒ ผมโชคดี ได้ฟังคำอธิบายของ ศ. ดร. บวรศักดิ์ อุวรรโณ และ ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์  เรื่อง  “สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. ..., ร่างพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. ...., และ ร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ...”    ใน “การสัมมนาระดมความคิดเห็นเชิงนโยบาย (retreat) ระหว่างกรรมการสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารมหาวิทยาลัย ประจำปี ๒๕๖๒ เรื่อง การเตรียมพร้อมสู่ CMU Transformation”

ผมมองว่า กลุ่ม พรบ. การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นี้ ถือได้ว่าเป็นความพยายามยกระดับพัฒนาการของประเทศ ที่น่าชื่นชมยิ่ง และภาวนาให้ประสบความสำเร็จในภาคปฏิบัติ  แม้เพียงครึ่งหนึ่งก็ยังดี

แต่เมื่อได้รับรู้ปฏิสัมพันธ์ แบบฝุ่นตลบ ในวงการอุดมศึกษา และวงการนโยบายและการจัดการงานวิจัยและรับทราบร่าง พรบ. ในชุดรวม ๕ พรบ. แล้ว แล้ว ผมก็ได้ข้อสรุปตามชื่อบันทึกนี้

สังคมไทยคงจะต้องเผชิญวิกฤติหนักๆ ร่วมกันมากกว่าที่ผ่านมา เราจึงจะเปลี่ยนกระบวนทัศน์และพฤติกรรม  จากเห็นแก่ตนและหน่วยงานตนเป็นที่ตั้ง มาเป็นเห็นแก่ภาพใหญ่และแก่อนาคตระยะยาวของบ้านเมือง เป็นที่ตั้งได้  

พัฒนาการของสังคมไทยในด้านการยกระดับรายได้ ความเป็นอยู่ และความสงบสุข ของคนในประเทศ สู่ประเทศรายได้สูง และผู้คนมีความสุข ความเหลื่อมล้ำต่ำ ยังจะต้องฟันฝ่ากันอีกนาน    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟันฝ่าปัจจัยทางสังคม    ที่คนมีฐานะ มีโอกาสในสังคม ยังคงยึดถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง เหนือประโยชน์ส่วนรวมในระยะยาวของประเทศ  

ที่น่าแปลกใจมากคือ ผลของการวิ่งเต้น ที่ฝรั่งเรียกว่า power play มีผลเบี่ยงเบนหลักการ และข้อมูลเชิงประจักษ์ไปมาก    ทำให้ร่าง พรบ. ๕ ฉบับ ในหลายส่วน อิง “หลักกู” มากกว่าหลักการ    และผมนึกสงสารท่านรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านนี้    ที่คงจะต้องรับการวิ่งเต้นและตัดสินใจผ่อนปรนจากหลักการไปมาก    สงสารว่าท่านคงนึกว่า ในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า เมื่อมีการศึกษาพัฒนาการของระบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ชื่อของท่านจะตกเป็นจำเลยเพียงใด    ทั้งๆ ที่ในสายตาคนทั่วไป ท่านเป็นคนดีมาก และมีความสามารถสูงมาก   

ที่ชัดเจนที่สุดคือ หน่วยงานที่ได้ชื่อว่า ทำหน้าที่จัดการทุนวิจัยได้ดี คือ สกว. เปลี่ยนไปทำหน้าที่อื่น คือไปเป็น สกสว. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) คือเปลี่ยนไปทำหน้าที่เชิงนโยบาย และจัดสรรทุนวิจัยเชิงมหภาค   ไม่ทำหน้าที่เดิมอีกต่อไป    หน้าที่เดิมของ สกว. จะทำโดย วช. (ในกฎหมายใหม่เรียกชื่อว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ)  ที่เดิมได้ข่าวว่าจะยุบ เพราะทำหน้าที่ไม่ได้ผลมาเป็นเวลายาวนานหลายสิบปี ลงท้ายทั้งสองหน่วยงานนี้ต้องพัฒนาทักษะในการทำงานของตนขึ้นมาใหม่    ทักษะเดิมของ สกว. ที่พัฒนาก้าวหน้ามาอย่างดี ก็จะละลายไป วช. ซึ่งไม่เคยคิดพัฒนาทักษะในการจัดการทุนวิจัยในช่วงเวลา ๖๐ ปี ก็จะต้องพัฒนาในช่วง ๓ ปีต่อจากนี้ไป    หากประเมินแล้วทำงานไม่ได้ผล จะต้องเปลี่ยนจากการเป็นหน่วยราชการ ไปเป็นองค์การมหาชน    ซึ่งผมก็งง ว่าหากคนยังเป็นกลุ่มเดิมที่ไม่เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงในระดับ transformation  แล้วการเปลี่ยนสถานะขององค์กร จะเปลี่ยนแปลง performance ในการปฏิบัติงานได้อย่างไร     

เป้าหมายหลักของการตั้งกระทรวงใหม่นี้คือ บูรณาการ (integration)    เพื่อบริหารประเทศให้เกิด integration ระหว่างระบบอุดมศึกษา กับ ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ    แต่โครงสร้างของกระทรวงที่จะเกิดใหม่นี้ ดูจะเป็นลักษณะ “พิการแต่กำเนิด”     คือไม่ได้เกิดมาเพื่อทำหน้าที่ตามเป้าหมายของบ้านเมือง    แต่เพื่อประนีประนอมผลประโยชน์ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง     ผลประโชน์บ้านเมืองเป็นรอง  

ที่จริง บูรณาการของระบบ ววน. ของประเทศนั้น    ต้องไม่ใช่แค่บูรณาการกับอุดมศึกษา แต่ต้องบูรณาการกับทุกภาคส่วนของบ้านเมือง   และทุกกระทรวงของราชการ    จึงเป็นความท้าทายต่อ สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ  และคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่จะต้องวางมาตรการบูรณาการ ววน. เข้ากับทุกภาคส่วนของประเทศ    ให้ ววน. เป็นพลังขับเคลื่อน transformation ของภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคสังคมของประเทศ ไปสู่สภาพของประเทศที่พัฒนาแล้ว รายได้สูง และสังคมดี ให้จงได้    ย้ำว่า เป็นงานในระดับ transformation  

ใน ร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ... มาตรา ๕ ระบุหน้าที่ของรัฐในการสนับสนุนและส่งเสริม ววน. ไว้ถึง ๙ ข้อ    และระบุรวมหน้าที่ต่อ “ศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆ ของประเทศ” เพื่อ “มูลค่าทางเศรษฐกิจ  และประโยชน์ทางสังคม ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อม”

หน้าที่ของรัฐ ๙ ข้อดังกล่าว สรุปโดยย่อคือ (๑) กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผน  (๒) จัดสรรงบประมาณ  (๓) จัดโครงสร้างพื้นฐาน  (๔) กลไกและมาตรการสนับสนุน  (๕) ทรัพย์สินทางปัญญา  (๖) การใช้ประโยชน์จากผลงาน ววน.  (๗) บุคลากร  (๘) กฎหมาย ข้อบังคับ  (๙) ส่งเสริม ววน. สาขาใหม่

การดำเนินการในหน้าที่ ๙ ข้อ ให้บรรลุผล คือความท้าทาย ในสภาพที่กระทรวงนี้จะคลอดออกมามีความพิการแต่กำเนิด  

ที่ผมเคยลงบันทึก และไปพูดในที่ต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก คือข้อ ๓ โครงสร้างพื้นฐานของ ววน.    โดยเฉพาะอย่างยิ่งของระบบวิจัยและนวัตกรรม    ที่ของไทยเป็นโครงสร้างบนฐานมหาวิทยาลัยเป็นฐานหลัก    ไม่เข้มแข็งพอที่จะขับเคลื่อน ววน. ของประเทศ    เราต้องการโครงสร้างส่วนที่เป็นสถาบันวิจัยเฉพาะทาง ที่เชื่อมโยงกับภาคทำมาหากิน   โจทย์วิจัยส่วนใหญ่ (หรือเกือบทั้งหมด) มาจาก real sector    และทำงาน ววน. ร่วมกัน real sector ด้วย   โดยที่ภาค real sector (ผู้ประกอบการ)  ลงทุนลงแรงร่วมทำงานวิจัยเพื่อนวัตกรรมตามโจทย์ของตนด้วย

วิจารณ์ พานิช        

๓ มี.ค. ๖๒

หมายเลขบันทึก: 660977เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2019 10:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2020 20:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

How sad to read about (กระทรวงที่จะเกิดใหม่ ตามร่างพระราชบัญญัติ…นโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ) “… คือไม่ได้เกิดมาเพื่อทำหน้าที่ตามเป้าหมายของบ้านเมือง แต่เพื่อประนีประนอมผลประโยชน์ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ผลประโชน์บ้านเมืองเป็นรอง…”.

When the goal is skewed, the journey will be wayward and may not reach its destination.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท