วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) : 11. ดัชนีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ปี ๒๕๕๙ - ๒๕๖๐



ตอนที่ ๑     ตอนที่ ๒     ตอนที่ ๓   ตอนที่ ๔     ตอนที่ ๕

ตอนที่ ๖   ตอนที่ ๗    ตอนที่ ๘     ตอนที่  ๙     ตอนที่ ๑๐

หนังสือ ดัชนีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ปี ๒๕๕๙ ๒๕๖๐ ()  จัดทำโดย ๑๖ หน่วยงาน นำโดย สวทน.   หากอ่านจับประเด็นให้ดีๆ จะเห็นโอกาสพัฒนา วทน. (วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี และนวัตกรรม) ของประเทศ มากมายหลากหลายด้าน 

ด้านหนึ่งคือมิติด้านคุณภาพ   ข้อมูลตัวเลขในรายงานดัชนีดังกล่าวยังเป็นตัวเลขในภาพรวมของประเทศเป็นหลัก    ยังขาดการวิเคราะห์แยกแยะให้เห็นว่าการลงทุนส่วนใด กิจกรรมส่วนใด ที่ให้ผลตอบแทนสูง    และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ลำดับความสำคัญ ในการสนับสนุน    และในทางตรงกันข้าม การลงทุนส่วนใด กิจกรรมส่วนใด ที่การดำเนินการมีผลฉุดรั้งความเจริญก้าวหน้าของประเทศ    จึงควรยุติการสนับสนุน

หากเราไม่กล้าวิเคราะห์ในลักษณะนี้ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ก็อย่าหวังเลยว่า ประเทศไทย ๔.๐ จะบรรลุได้               

ที่จริงในหนังสือดังกล่าวหน้า ๓๐ – ๓๗ เป็น บทความนโยบาย เรื่อง ความสามารถของภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ที่เป็นประโยชน์มาก    อ่านแล้วได้ความรู้มาก   มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับประเทศ เยอรมนี  สวีเดน  ญี่ปุ่น  จีน  และมาเลเซีย    โดยใช้ข้อมูลจาก Oslo Manual และ UNESCO Institute of Statistics   

จะเห็นว่า การสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องซับซ้อน  ต้องเข้าใจสภาพที่เราเป็นอยู่    และเข้าใจอย่างแยกแยะ ดังกรณีนวัตกรรมมี ๔ ประเภท ตามในบทความ ซึ่งผมไม่เคนรู้มาก่อน   และสงสัยว่ามีคนระดับนโยบายนี้ในบ้านเมืองของเราเข้าใจเรื่องนี้สักกี่คน

ที่จริงไม่เข้าใจในเบื้องต้นก็ไม่เป็นไร    หากเอาใจใส่ ทำความเข้าใจ หรือซักถามจากผู้รู้    แล้วนำความรู้นั้นไปใช้   

อ่านแล้วผมนึกถึงชีวิตตนเองเมื่อ ๒๕ ปีก่อน ตอนเริ่มทำงานเป็นผู้อำนวยการ สกว.    ต้องอ่านหาความรู้เรื่องการสนับสนุนการวิจัยมากมาย    และหวนคิดว่า หากผมทำหน้าที่ทำนองเดียวกันในสมัยนี้ หนังสือ ดัชนีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ปี ๒๕๕๙ ๒๕๖๐ จะเป็นอาหารสมองอันโอชะที่ผมอ่านแล้วอ่านอีก และ “เคี้ยวเอื้อง” (ย่อย / ไตร่ตรองสะท้อนคิด) หาช่องทางนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างการดำเนินการระดับ “high end” เพื่อฉุดดึงระบบขึ้น    แต่ตอนนี้ผมเป็นเพียงกองเชียร์ จึงไม่ได้ลงทุนอ่านจริงจัง    ได้แต่อ่านผ่านๆ แล้วนำมาเสนอ

ดัชนีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย นี้ จัดทำทุกปี มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗   และหาอ่านหรือดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของ สวทน.   หากมีคนอ่านแล้วสังเคราะห์ภาพการเปลี่ยนแปลงในช่วง ๑๒ ปีที่ผ่านมา เชื่อมโยงกับกิจกรรมและมาตรการต่างๆ    จะได้ความรู้เชิงการจัดการนโยบายเป็นอันมาก    ที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อน ประเทศไทย ๔.๐

น่าเสียดายที่วงการนโยบายไทยขับเคลื่อนกันด้วยกิจกรรมการเมืองแบบพวกพ้อง มากกว่าจะใช้ข้อมูลหลักฐาน    จึงไม่เห็นกิจกรรมวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูล เอามาใช้ประโยชน์อย่างที่ผมอยากเห็น    หรืออาจจะมี แต่ไม่ออกมาสู่สาธารณชน  

วิจารณ์ พานิช        

๖ มี.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 646008เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2018 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2018 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท