วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) : 10. ลงทุนวิจัยให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบสูง



ตอนที่ ๑     ตอนที่ ๒    ตอนที่ ๓   ตอนที่ ๔    ตอนที่ ๕

ตอนที่ ๖    ตอนที่ ๗    ตอนที่ ๘   ตอนที่  ๙


ข่าวหน้าหนึ่ง ใน นสพ. ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ ๑๘ - ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ เรื่อง ทุ่ม R&D แสนล้าน อุตฯอาหารนำโด่ง    บอกว่า สวทน. รายงานว่า ผลการสำรวจข้อมูลปี ๒๕๕๙ ประเทศไทยลงทุนวิจัยและพัฒนา ๑๑๓,๕๒๗ ล้านบาท    เป็นปีแรกที่เงินลงทุนวิจัยของประเทศเกิน ๑ แสนล้านบาท   และคิดเป็นร้อยละ ๐.๗๘ ของจีดีพี   


สัดส่วนลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนต่อภาครัฐ เท่ากับ ๗๓ : ๒๗   ซึ่งนับเป็นเรื่องน่ายินดี   และเป็นแนวโน้มที่สนับสนุนการขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย ๔.๐  


แต่นั่นเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ    สิ่งที่สำคัญกว่าคือข้อมูลเชิงคุณภาพ ที่ช่วยตอบคำถามว่า การลงทุนวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยก่อผลที่ต้องการมากน้อยเพียงใด   เพราะรู้กันทั่วไปว่า การลงทุนให้ผลสองแบบ คือคุ้มค่า กับสูญเปล่า    วงการจัดการงานวิจัยและพัฒนาต้องช่วยกันทำให้เงินลงทุนคุ้มค่า    ซึ่งส่วนที่เอกชนลงทุน ๘๒,๗๐๑ ล้านบาทนั้น ไม่น่าห่วง    เพราะภาคเอกชนไวต่อการบริหารผลลัพธ์และผลกระทบอยู่แล้ว   


ที่น่าห่วงคือเงินลงทุนวิจัยและพัฒนาภาครัฐ ๓๐,๘๒๖ ล้านบาท  ว่าเป็นส่วนที่ให้ผลลัพธ์และผลกระทบสูง กับส่วนที่สูญเปล่าหรือค่อนข้างสูญเปล่า ในสัดส่วนเท่าไร    สวทน. น่าจะลงแรงทำวิจัยประเด็นนี้   โดยไม่ได้มีเป้าหมายจับผิด   แต่เพื่อนำมาเป็น feedback ปรับปรุงวิธีจัดการทุนวิจัย    ให้เป็นการลงทุนที่ก่อผลกระทบสูง  สร้างความน่าเชื่อถือในสังคม    ซึ่งจะสร้างกระแสสังคมให้ภาครัฐลงทุนวิจัยและพัฒนามากยิ่งขึ้น    โอกาสเคลื่อนสู่ประเทศไทย ๔.๐ ก็จะสูงขึ้น  


ในอดีต ที่ผมยังอยู่ในวงการบริหารงานวิจัย  เรารู้ๆ กันว่า เงินวิจัยที่ส่งไปยังหน่วยราชการต่างๆ โดยตรงนั้น มีการรั่วไหลมาก   บางหน่วยราชการเอาไปให้ผู้บริหารเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ   บางหน่วยราชการเอาไปว่าจ้างบุคคลภายนอก โดยมีอัตรา “เงินทอน” สูงลิ่ว     เรื่องแบบนี้เป็นข่าวเล่าลือ หาหลักฐานยืนยันไม่ได้    แต่ผู้เล่าและเรื่องราวน่าเชื่อถือ


การลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาครัฐ ควรมีการจัดการอย่างมียุทธศาสตร์    ที่จะทำให้ประเทศไทยมีการผลิตการทำงานแบบมี นวัตกรรม  มีบูรณาการ  และมีการสร้างคุณค่าและมูลค่าสูง    เมื่อกำหนดยุทธศาสตร์และมีการดำเนินมาตรการแล้ว ต้องมีการเก็บข้อมูล และติดตามผล    เพื่อประเมินว่าก่อผลลัพธ์และผลกระทบอย่างมีประสิทธผลและประสิทธิภาพหรือไม่    สำหรับเป็น feedback ปรับปรุงระบบต่อไป


ข้อมูลที่น่าชื่นใจอีกตัวหนึ่ง คือจำนวนนักวิจัย ที่พบว่ามี ๑๑๒,๔๐๐ คน  คิดเป็น ๑๗ คนต่อประชากร ๑๐,๐๐๐คน   ซึ่งสูงกว่าเป้า ๑๕ : ๑๐,๐๐๐   ซึ่งผมก็มีข้อวิพากษ์ในเชิงคุณภาพเช่นเดียวกัน


บริษัท SCG เป็นตัวอย่างบริษัทไทยที่ลงทุนวิจัยและพัฒนาถึงร้อยลำ ๐.๙ ของยอดขาย    คือยอดขายปี ๒๕๖๐ อยู่ที่ ๔.๕ แสนล้านบาท   และลงทุนวิจัย ๔,๑๗๘ ล้านบาท  

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ก.พ. ๖๑

ห้องรับรองการบินไทย  สนามบินสุวรรณภูมิ  


หมายเลขบันทึก: 645568เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2018 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มีนาคม 2018 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท