วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) : 12. ระบบวิจัยและนักวิจัยเพื่อประเทศไทย ๔.๐




ตอนที่ ๑     ตอนที่ ๒     ตอนที่ ๓     ตอนที่ ๔      ตอนที่ ๕    ตอนที่ ๖    

ตอนที่ ๗    ตอนที่ ๘     ตอนที่  ๙     ตอนที่ ๑๐    ตอนที่ ๑๑ 

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๑ ลงบทความหน้าหนึ่ง ถนนสายนักวิจัย มากกว่าหิ้งสู่ห้าง ()    เล่าเรื่องพัฒนาการของงานวิจัยของประเทศไทย สำหรับเป็นลมส่ง หรือพลังขับดันประเทศ    สู่ความเป็นประเทศรายได้สูงและสังคมดี   

ผมมีข้อสะกิดใจว่า    เรามักเน้นมองที่กิจการที่จะทำเงิน สร้างรายได้    ส่วนที่พูดกันน้อย คือการวิจัยเพื่อลดการสูญเสียโดยใช่เหตุ    เช่นลดการสูญเสียจากนโยบายรัฐแบบผิดๆ    ใช้เงินมาก ได้ผลน้อย หรือกลับก่อผลร้าย    หรือนโยบายที่ให้ผลดีต่อคนส่วนน้อย ที่ได้เปรียบสังคมมากอยู่แล้ว    แต่คนส่วนใหญ่และคนจนกลับเสียประโยชน์   

ตัวอย่างนโยบายที่ผิดพลาดและก่อผลร้ายต่อสังคมร้ายแรงที่สุด คือนโยบายการศึกษาของชาติ    โดยที่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้แก้ไขที่แก่นของปัญหา    แก้ไขกันที่เปลือกเท่านั้น   เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของคนในระบบ    โดยที่ประเทศชาติในภาพรวมเป็นผู้สูญเสีย   คือก่อความอ่อนแอแก่สังคมต่อเนื่องระยะยาวไปอีกไม่ต่ำกว่า ๒๐ - ๓๐ ปี

การวิจัยแบบนี้ เรียกว่า การวิจัย evidence synthesis   เพื่อกำหนดนโยบาย และเพื่อใช้ในการดำเนินการประยุกต์นโยบาย   และหากไม่มีข้อมูลปฐมภูมิภูมิเพียงพอสำหรับใช้ทำวิจัยทุติยภูมิ    ก็ต้องตั้งโจทย์วิจัยสร้าง evidence สำหรับใช้งาน

งานวิจัยกลุ่มนี้ในประเทศไทยเข้มแข็งในสายสุขภาพ    มีหน่วยงานวิจัย IHPP (),  HITAP ()  และอีกหลายสถาบันในมหาวิทยาลัย ที่มีขีดความสามารถ   ในระดับที่ได้รับนับถือทั่วโลก   โดยมี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) () เป็นหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยด้านนี้ 

ระบบสุขภาพไทย มีกลไกสนับสนุนและทำงานวิจัยเชิงระบบ เชิงนโยบาย   ทำให้ระบบสุขภาพของเราเข้มแข็ง เป็นที่ยกย่องไปทั่วโลก

แต่ระบบวิจัยในด้านอื่นๆ ของประเทศไทยไม่เข้มแข็ง    ก่อปัญหาการดำเนินนโยบายผิดทาง ก่อความเสียหายต่อประเทศมากเหลือคณา    นโยบายที่ผิดพลาดที่เห็นกันโทนโท่คือนโยบายขนส่งและคมนาคม    ที่ทำให้ในกรุงเทพและเมืองใหญ่เกิดปัญหารถติด  ก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจและทางคุณภาพชีวิตอย่างมากมาย  

ในมุมกลับการไม่มีระบบวิจัยและนักวิจัยเชิงนโยบาย เชิงระบบนี้ มีผู้ได้รับประโยชน์ด้วย    คือผู้ทำมาหากินกับกิจกรรมที่ไร้ประโยชน์แท้จริง    รวมทั้งผู้กำหนดนโยบายที่จะได้รับผลตอบแทนโดยมีชอบจากเงินใต้โต๊ะ   

แม้ในระบบสุขภาพ ที่วงการวิจัยระบบและวิจัยนโยบายเข้มแข็ง    ก็เป็นวงการที่มีศัตรู  เช่นบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่   และบริษัทด้านอื่นที่ทำมาหากินกับความเจ็บป่วย  และคิดค่าสินค้าแพงได้หากไม่มีหลักฐานจากการวิจัยมายืนยันว่า สามารถได้รับผลดีกว่า ในราคาถูกกว่า จากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อื่น   วงการเหล่านี้ดำเนินการลับๆ  หาตัวแทนทำหน้าที่บั่นทอนความเข้มแข็งของกลไกวิจัยด้านสุขภาพ ที่เรียกว่า องค์กรตระกูล ส 

ตัวแทนลับเหล่านี้  เข้าถึง คสช. และกล่าวหากลไกวิจัยด้านสุขภาพผ่านสื่อมวลชน   เพื่อบั่นทอนกำลัง สร้างความอ่อนแอให้แก่กลไกวิจัยระบบและนโยบายสุขภาพ   แม้นายกลุงตู่จะได้ออกมาขอโทษว่าเข้าใจผิด    แต่กลไกบั่นทอนยังคงอยู่ในปัจจุบัน

สามารถบั่นทอนไม่เฉพาะวงการวิจัยนโยบายสุขภาพ   แต่บั่นทอนโอกาสพัฒนาประเทศไทย สู่ประเทศไทย ๔.๐ ได้ด้วย

วิจารณ์ พานิช        

๒๘ มี.ค. ๖๑


หมายเลขบันทึก: 647300เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2018 09:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2018 09:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท