วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) : 13. การวิจัยลดความสูญเปล่าของทรัพยากร



ตอนที่ ๑     ตอนที่ ๒    ตอนที่ ๓     ตอนที่ ๔      ตอนที่ ๕      ตอนที่ ๖   

ตอนที่ ๗    ตอนที่ ๘    ตอนที่  ๙    ตอนที่ ๑๐    ตอนที่ ๑๑     ตอนที่ ๑๒ 

ในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองแผนงานภายใต้แผนบูรณาการการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๒ ครั้งที่ ๔/๒๕๖๑ ที่ สวทน. เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๑    มีวาระเรื่อง แนวทางการจัดทำประเด็นวิจัยและนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ ฑ.ศ. ๒๕๖๓   ผมได้ชี้ให้ที่ประชุมเห็นว่า  โจทย์วิจัยที่เราสนใจกันโดยทั่วไปเป็นการวิจัยเพื่อเป้าหมายเพิ่มรายได้ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ฯลฯ   เน้นที่ “การวิจัยเพื่อเพิ่ม …”  เราไม่ได้สนใจ  “การวิจัยเพื่อลด ....”    ซึ่งในที่นี้หมายถึงการลดความสูญเปล่าของประเทศ  

ผมได้ชี้ว่า ระบบต่างๆ ของประเทศเดินผิดทางมากมายหลายระบบ เช่น ระบบการศึกษา  ระบบคมนาคมและขนส่ง  ระบบการใช้ที่ดิน  ระบบพลังงาน   ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง  และอื่นๆ   

หากเรามีการวิจัยเชิงระบบ เชิงทางเลือกนโยบาย ของระบบเหล่านี้    เราจะสามารถลดความสูญเปล่าของทรัพยากรของบ้านเมืองได้มากมาย   

เปรียบเทียบกับระบบสุขภาพของไทย    ที่เรามีระบบที่เป็นที่ยกย่องทั่วโลก   ว่าเรามีระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า    ที่ใช้งบประมาณแผ่นดินไม่สูงเกิน คือประมาณร้อยละ ๖ ของ จีดีพี    เนื่องจากเรามีระบบวิจัยป้องกันความสูญเปล่า    ที่สนับสนุนโดย สวรส.   และทำวิจัยโดยหลากหลายหน่วยงานวิจัย   โดยมีหน่วยวิจัยหลักคือ IHPP และ HITAP   

แต่กระนั้นก็ตาม   ก็ยังมีผู้ประมาณว่า ความสูญเปล่าของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยตกราวๆ ร้อยละ ๒๕ – ๔๐ ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด  

งานวิจัยเพื่อลดความสูญเปล่านี้   นอกจากในวงการสุขภาพแล้ว    ประเทศไทยไม่มีขีดความสามารถทำวิจัยในระบบอื่นๆ เลย    จึงต้องการการสร้างขีดความสามารถโดยการสร้างนักวิจัย และสร้างหน่วยงานวิจัย    โดยสนับสนุนการวิจัยแบบที่เรียกว่า evidence synthesis  เพื่อใช้ตัดสินใจเชิงนโยบาย    และเพื่อการจัดการตามนโยบายให้บรรลุผลลัพธ์ที่ตั้งไว้    ซึ่งอาจต้องมีการวิจัยปฐมภูมิสนับสนุนด้วย   

ระบบที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งในการวิจัยแบบนี้อย่างเร่งด่วนคือ ระบบการศึกษา

วิจารณ์ พานิช        

๓ เม.ย. ๖๑


หมายเลขบันทึก: 647567เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2018 22:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2018 22:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท