วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) : 20. โครงการ Spearhead ด้านสังคม


ตอนที่ ๑     ตอนที่ ๒       ตอนที่ ๓    ตอนที่ ๔      ตอนที่ ๕ 

ตอนที่ ๖     ตอนที่ ๗      ตอนที่ ๘     ตอนที่ ๙      ตอนที่ ๑๐ 

ตอนที่ ๑๑     ตอนที่ ๑๒       ตอนที่ ๑๓     ตอนที่ ๑๔    ตอนที่ ๑๕ 

ตอนที่ ๑๖   ตอนที่ ๑๗      ตอนที่ ๑๘       ตอนที่ ๑๙ 

คุณดารินพร เจียมประดิษฐ์กุล แห่ง วช. กรุณาส่งเอกสาร รายงานฉบับสมบูรณ์ การจัดทํากิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย 16 ตุลาคม-15 ธันวาคม 2560 โครงการจัดทํากรอบการดําเนินงาน เป้าหมาย และตัวชี้วัด โครงการบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม มาให้    ช่วยให้ผมเข้าใจโครงการสนับสนุนการวิจัยแบบบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ดีขึ้น 

ผมติดใจข้อความส่วนบทนำของรายงาน “กําหนดแผนที่นําทางเกี่ยวกันโยบายและยุทธศาสตร์ระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ รวมทั้งยุทธศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมรายสาขา ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ โดยกําหนดระบบจัดสรรและบริหาร งบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ในลักษณะเป็นก้อน (Block grant) ตามโปรแกรมวิจัยและนวัตกรรม (Program-based) ให้สอดคล้องกับระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมรายสาขา รวมทั้งกําหนดระบบติดตามและประเมินผลที่มีความต่อเนื่อง” และเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ยังมีข้อความ “แผนบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คือ โปรแกรม/โครงการวิจัย เพื่อการ พัฒนาและแก้ไขปัญหาสําคัญเร่งด่วนของประเทศ มีเป้าหมายที่ชัดเจน สร้างผลกระทบทางสังคมสูง เป็นแผนบูรณาการการวิจัยที่มีความท้าทาย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยลําพัง” ซึ่งหากมีการปฏิบัติตามข้อความนี้ได้จริง  ก็จะนำพาความเจริญก้าวหน้าให้แก่วงการวิจัย และต่อประเทศ

ข้อท้าทายจึงตกอยู่ที่การนำนโยบายสู่การปฏิบัติ (policy implementation)    ที่เป็นจุดอ่อนอย่างยิ่งของสังคมไทย   

ข้อสำคัญจุดหนึ่งคือ การจัดการทุนวิจัยแบบ block grant    ที่ผมสงสัยว่า ในทางปฏิบัติ มีการยึดถือหลักการนี้แค่ไหน    เพราะเท่าที่ทราบ   สำนักงบประมาณยังคงอนุมัติงบ spearhead ปี ๒๕๖๒ แบบ line item   โดยสำนักงบประมาณเป็นผู้ตัดสินว่าอนุมัติโครงการใด    เป็นการตัดสินใจโดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลสำเร็จ    นี่คือจุดสำคัญจุดหนึ่งของการบริหารราชการไทยที่ต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง    ปฏิรูปให้ผู้ตัดสินใจในทุกจุดต้องรับผิดรับชอบ (accountable) ต่อการตัดสินใจของตน    ซึ่งจะทำให้มีการตัดสินใจโดยมีข้อมูลหลักฐานอ้างอิง (evidence-based)    ไม่ใช่ตัดสินใจเพราะมีคนมาวิ่ง หรือมีผู้ใหญ่มาขอร้อง  

ระบบพวกพ้อง ระบบอุปถัมภ์ เป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดต่อการเข้าสู่ประเทศไทย ๔.๐   การสร้างนวัตกรรมในการบริหารบ้านเมือง ต้องเอาชนะอุปสรรคนี้ให้ได้   จึงจะนำพาบ้านเมืองสู่ประเทศไทย ๔.๐ ได้จริง  

สำหรับโครงการ Spearhead ด้านสังคม “วช. ได้กําหนดให้มีการดําเนินการจัดทํากรอบการดําเนินงาน เป้าหมาย และตัวชี้วัด โครงการบูรณา การยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม จํานวน 5 กลุ่มเรื่องได้แก่ 1) สังคมสูงวัยและสังคมไทยในศตวรรษ ที่ 21 2) คนไทยในศตวรรษที่ 21 3) สุขภาพและคุณภาพชีวิต 4) การบริหารจัดการน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิ อากาศ และสิ่งแวดล้อม และ 5) การกระจายความเจริญและเมืองน่าอยู่”    ซึ่งเป็นการกำหนดประเด็นสำคัญที่ดีเยี่ยม   

แต่ในทางปฏิบัติ ๕ หัวข้อนี้มันไม่ได้แยกกัน    จึงเกิดประเด็นของการจัดการส่วนกลาง (ในกรณี Spearhead ด้านสังคมนี้เป็นความรับผิดชอบของ วช.) ว่าจะจัดการให้เกิดความเชื่อมโยง เกิด synergistic effect ระหว่างกลุ่มเรื่อง ได้อย่างไร   

โครงการวิจัยแบบ บูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย(Spearhead) ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ต้องยึดการบรรลุเป้าหมายเป็นหลัก    และการดำเนินการนั้นต้องทำต่อเนื่องหลายปี    แต่ที่ผมทราบ งบประมาณของแผนงานนี้ยังเป็นรายปี  และยังไม่ใช่ block grant ตามที่กล่าวแล้ว    ข้อวิพากษ์สำคัญของผมก็คือ โครงการ Spearhead ไม่มีทางบรรลุผลสำเร็จ หากไม่ปฏิรูประบบงบประมาณของประเทศ   

ในหน้า ๕ ของรายงาน เรื่อง “ประเด็นคนไทยในศตวรรษที่ ๒๑”  ซึ่งหมายถึงคุณภาพของคนไทย    ในรายงานเน้นที่คนด้อยโอกาส   ซึ่งตอนนี้มี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา() ทำหน้าที่อย่างเป็นระบบและจริงจังอยู่แล้ว    การปฏิบัติตามแนวของรายงานนี้จึงไม่จำเป็น    และที่จริงเรื่องคุณภาพของคนไทยนั้น ภาพใหญ่ที่สุดอยู่ที่ระบบการศึกษาที่ล้าหลัง ไร้ประสิทธิผล และไร้ประสิทธิภาพ    การวิจัย Spearhead ด้านนี้จึงควรเน้นที่การวิจัยเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการศึกษามากกว่า    โดยควรดำเนินการร่วมกับธนาคารโลก  อียู  โออีซีดี  ยูเนสโก  ยูนิเซฟ    ตัวอย่างหนังสือสังเคราะห์ผลงานวิจัยระบบการศึกษาคือ Growing Smarter : Learning and Equitable Development on East Asia and Pacific (2)   แผนงาน Spearhead ด้านสังคมควรจับประเด็นเชิงมหภาคของระบบการศึกษาไทย  นำมาเป็นโจทย์วิจัยเพื่อเปลี่ยนระบบ   มิฉนั้นจะแก้ปัญหาพลเมืองไทยคุณภาพต่ำไม่ได้

วิจารณ์ พานิช

๒๓ ก.ย. ๖๑



หมายเลขบันทึก: 656039เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2018 18:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2018 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท