วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) : 15. ร่าง พรบ. กระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม



ตอนที่ ๑      ตอนที่ ๒        ตอนที่ ๓      ตอนที่ ๔     ตอนที่ ๕

ตอนที่ ๖      ตอนที่ ๗         ตอนที่ ๘      ตอนที่  ๙     ตอนที่ ๑๐

ตอนที่ ๑๑    ตอนที่ ๑๒       ตอนที่ ๑๓      ตอนที่ ๑๔

วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๑ ผมไปร่วมวงเสวนาถึง ๓ วง    ที่สาระเชื่อมโยงกับกระแสเชี่ยวกราก เรื่องการยกร่าง พรบ. กระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม พ.ศ. ....   และได้ลงบันทึกไว้นิดหน่อยที่บันทึกชื่อ ใช้อุดมศึกษาเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทย ๔.๐ ()       

ผมได้ระบุว่า ความเคลื่อนไหว “สร้างกระทรวงใหม่” (ไม่ใช่ยุบรวมกระทรวง) ครั้งนี้     ผมถือเป็นการ “ชุบชีวิต” สถาบันอุดมศึกษาไทย    ที่กำลังเข้าสู่ภาวะ “หมดสภาพ” ไร้พลัง  สำหรับโลก/สังคม ยุคใหม่   

กล่าวใหม่  ผมมองว่า นี่คือโอกาส “เปลี่ยนโฉม” (transform) อุดมศึกษาไทย     ที่ไม่ใช่แค่เปลี่ยนโฉมภายนอก    แต่ต้องเปลี่ยนในระดับกระบวนทัศน์ (mindset)  และ platform การทำงาน    อาจต้องเรียกว่า เป็นการ “ยกเครื่อง” (re-engineering) อุดมศึกษาไทย    เชื่อมโยงกับการสร้างระบบนวัตกรรมให้แก่ประเทศ    เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมาย ๔.๐  

พรบ. ใหม่นี้ จึงต้องกำหนดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่นี้ให้จงได้    ผมมองว่า ผลลัพธ์ของ พรบ. ใหม่นี้คือการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ที่ระบบอุดมศึกษาบูรณาการเข้ากับระบบนวัตกรรม    โดยที่พลังขับเคลื่อนนวัตกรรมใหญ่อยู่ที่ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ   

เท่ากับ พรบ. ใหม่ ต้องกำหนดให้เกิด platform ในรูปแบบใหม่ๆ (innovative) เพื่อการสร้างนวัตกรรมที่ “กินได้” “ขายได้” และ “มีคนอยากซื้อ”   ซึ่ง platform แบบนี้คนมหาวิทยาลัยไม่ถนัด (ผมเป็นคนมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง)    คนทางฝั่งธุรกิจอุตสาหกรรมและบริการถนัดกว่า    กล่าวง่ายๆ ว่า platform ดังกล่าวต้องเป็นที่ที่คนฝั่งธุรกิจกับคนฝั่งวิชาการเข้าไปทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน    ได้ผลผลิตที่ “กินได้” “ขายได้” และ “มีคนอยากซื้อ”     และได้ high impact publication ไปพร้อมๆ กัน    ถ้าทำไม่เป็นให้ไปดูตัวอย่างที่เมืองจีน (๒, ๓)    

แต่ ศ. ดร. ภัทรพงศ์ อินทรกำเนิด แห่ง National Graduate Institute for Policy Studies, Tokyo  ได้เขียนบทความลงใน นสพ. มติชน () ติง ๒ ประเด็นหลัก ที่เป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด    และมีการใช้ platform ที่ผิดพลาด    อย่างที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน

ผมเห็นด้วยกับสองประเด็นนั้น

ผมตีความ platform ที่ผิดพลาดประเด็นแรกของ ดร. ภัทรพงศ์ว่า  เราหลงใช้ platform วิจัย พัฒนา และนวัตกรรม   ทำให้ไปไม่ถึง “การผลิต วิศวกรรม การออกแบบ การสร้างตราสินค้า และการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่”    คือเราหลงใช้ means เป็น end    ทำให้ลงทุนผิดที่ ผิดวิธีการ    ดังนั้น platform ที่ควรใช้คือ การผลิต วิศวกรรม การออกแบบ การสร้างตราสินค้า และการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่    กระทรวงใหม่ต้องทำหน้าที่สร้าง  platform ใหม่นี้    และ ร่าง พรบ. ใหม่ต้องระบุเป้าหมายและกลไกการทำงานนี้ให้ชัดเจน   

นำไปสู่ความเห็นด้านสาระของร่าง พรบ. ใหม่ ว่ามี “กลิ่นราชการ” มากเกินไป    เป็นปัจจัยสำคัญที่จะไม่บรรลุเป้าหมาย การผลิต วิศวกรรม การออกแบบ การสร้างตราสินค้า และการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่  

ข้อผิดพลาดประเด็นที่สอง คือ หลงไปเน้นที่สถาบันวิจัย (รวมทั้งมหาวิทยาลัย) ของรัฐ    ในขณะที่จริงๆ แล้ว องค์กรที่ทำหน้าที่แข่งขันระหว่างประเทศคือบริษัท    ซึ่งก็เป็นการหลงประเด็น เรื่อง end และ means เช่นเดียวกัน   และเป็นตัวบอกว่า ในร่าง พรบ. และการบริหารกระทรวงใหม่นี้   ต้องมีการเปลี่ยน mindset และ platform แบบ disruptive   การยกร่าง พรบ. แบบเต็มไปด้วยกลิ่นราชการจึงเป็นแนวทางที่ผิดพลาด    จะไม่สามารถสร้าง disruptive change เชิงระบบได้

Platform ที่สำคัญ ที่ ดร. ภัทรพงศ์ เน้นไว้ในบทความคือ นโยบาย วทน. (หรือวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม)  ต้องเข้าไปบูรณาการอยู่ในนโยบายอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และบริการ    การบูรณาการเฉพาะกับอุดมศึกษา จึงเป็น platform ที่ผิดพลาด

เขียนข้อความข้างบนเสร็จ ผมส่งไปให้ ผู้รู้ หลายท่านอ่าน    ได้รับคำอธิบายเพิ่มเติมจาก รศ. ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร ดังนี้



เรียน อ.วิจารณ์

ขอบพระคุณมากครับ

 

แม้แนวคิดเรื่อง platform การบูรณาการมหาวิทยาลัย รัฐกับบริษัทเอกชน จะประสบความสำเร็จในประเทศเอเซียตะวันออก แต่ประเทศเหล่านี้มีวัฒนธรรมบางอย่างที่ไทยไม่มี เช่น อาจารย์ของเขาสามารถมีความเห็นต่างจากผู้นำประเทศและผู้นำยอมรับฟัง และทำตาม เพราะเขายกย่องคนที่เป็นอาจารย์มาก และมหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัยของเขาสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลงานตามที่ได้รับมอบหมายด้วยเหตุผลหลายอย่าง แม้กระทั่งสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจของจีนและเกาหลีใต้ ทำงานไม่กี่ปีก็สั่งสมความรู้เหนือมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของไทย ผมเชื่อว่าอ.ภัทรพงศ์เข้าใจเรื่องนี้ดีครับ

นิพนธ์




วิจารณ์ พานิช        

๑๕ มิ.ย. ๖๑ และ ๑๖ มิ.ย. ๖๑

ร้านกาแฟ Café Amazon, จามจุรี สแควร์


หมายเลขบันทึก: 649128เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2018 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กรกฎาคม 2018 21:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท