วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) : 18. นโยบายปฏิรูปโครงสร้างวิจัยและนวัตกรรมไทย ของรัฐบาลประยุทธ จันทร์โอชา



 

ตอนที่ ๑     ตอนที่ ๒     ตอนที่ ๓     ตอนที่ ๔    ตอนที่ ๕ 

ตอนที่ ๖      ตอนที่ ๗   ตอนที่ ๘     ตอนที่  ๙    ตอนที่ ๑๐ 

ตอนที่ ๑๑   ตอนที่ ๑๒   ตอนที่ ๑๓   ตอนที่ ๑๔    ตอนที่ ๑๕ 

ตอนที่ ๑๖   ตอนที่ ๑๗


นสพ. กรุงเทพธุรกิจ วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๑ ลงบทความ ‘ประจิน’ สั่งเร่งเครื่องโค้งสุดท้ายปฏิรูปวิจัย  ()    ข่าวดีคือ จะมีการจัดตั้งสำนักงานการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ    เป็น หน่วยงาน “ปฏิบัติหรือเป็นผู้ลงมือทำ”    รองรับนโยบายจาก สวนช.    

ข่าวถ่ายทอดมาจากปาฐกถาพิเศษ ของรองนายกฯ ประจิน จั่นตอง ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ ๒๕๖๑ เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม    บอกว่า สำนักงานการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จะมีหน้าที่ “จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้สอดคล้องกับโรดแมพเกี่ยวกับนโยบายและระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติกำหนด เสนอกรอบงบประมาณรวมถึง กำกับ เร่งรัด ติดตาม แผนงานของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศเพื่อให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมตามระยะเวลาและเป้าหมายที่กำหนดไว้” 

ที่น่าสนใจคือ สำนักงานการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จะอยู่ภายใต้ สลน. (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)    ตั้งงบประมาณแผ่นดินผ่าน สลน.   เปรียบเทียบกับสกว. ตาม พรบ. กองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. ๒๕๓๕   สกว. อยู่ใต้สำนักนายกรัฐมนตรี    ผมไม่ทราบว่าฐานะแตกต่างกันอย่างไร แต่ก็ขอตั้งข้อสังเกตไว้   

เจตนารมณ์ที่ชัดเจนอยู่ที่สาระของข่าวว่า “นายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในระบบวิจัยและนวัตกรรม และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางขึ้นมาเป็น ‘ผู้อำนวยการสำนักงาน’”    ทำให้ตีความได้ว่า มีเจตนารมณ์ให้ สำนักงานการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ อยู่ใต้การเมืองอย่างใกล้ชิด   คือให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้บริหารสูงสุด    จุดแข็งและจุดอ่อนของ สำนักงานการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จึงอยู่ที่ผู้อำนวยการเป็นบุคคลที่ฝ่ายการเมืองแต่งตั้งนี่แหละ

ประเด็นของการจัดการระบบวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อน “ประเทศไทย ๔.๐” เป็นเรื่องดีที่ผมสนับสนุนเต็มที่    และมีความเห็นเพิ่มเติมว่า “การจัดการระบบ” ดังกล่าวต้องการความต่อเนื่อง     จึงเกิดข้อสงสัยว่า   การผูก สำนักงานการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ไว้กับนายกรัฐมนตรี   ซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง    จะทำให้การจัดการระบบวิจัยและนวัตกรรมของชาติมีความต่อเนื่อง หรือไม่ต่อเนื่อง กันแน่   ผมเกรงจะมีผลอันหลังมากกว่า  

งานวิจัยและนวัตกรรมเป็นงานสมอง  ต้องการนักวิจัยและนวัตกรรมที่มีความสามารถ  และมีจำนวนเหมาะสม    ข่าวระบุว่า เวลานี้ประเทศไทยมีนักวิจัย ๑๓ - ๑๔ คน ต่อประชากร ๑๐,๐๐๐ คน    คาดว่าในอีก ๑๕ - ๒๐ ปี เมื่อสิ้นสุดแผน ๒๐ ปี จะมีนักวิจัย ๖๐ คน ต่อประชากร ๑๐,๐๐๐ คน (เพิ่มขึ้นกว่า ๔ เท่า)    ผมมีข้อสังเกตว่า จุดตายจะอยู่ที่การมี “นักวิจัยและนวัตกรรม” พันธุ์ใหม่    ที่มีทักษะไม่เหมือนกับนักวิจัยพันธุ์ปัจจุบัน   ทักษะที่ต้องการคือทักษะทำงานพัฒนานวัตกรรม ตามโจทย์ของฝ่ายผู้ประกอบการ    กล่าวใหม่ว่า ความสำเร็จในการใช้นวัตกรรมเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทย ๔.๐   ไม่ได้ขึ้นกับ “จำนวน” นักวิจัยเป็นประเด็นหลัก    แต่ขึ้นอยู่กับ “คุณภาพ” ของนักวิจัย    ที่จะต้องผลิตผลงานที่ไม่ใช่ผลงานวิจัยที่เราคุ้นเคยกันทั่วไปในปัจจุบัน    แต่ผลิตผลงานวิจัยเชิงนวัตกรรมที่ผู้ประกอบการเอาไปขายได้ทันทีหรือเกือบจะทันที   รวมทั้งทำงานพัฒนานวัตกรรมของสินค้าหรือบริการนั้นต่อเนื่อง เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งได้  

ผมขอเสนอว่า สำนักงานการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ควรนำเอาหลักการ PDCA ไปใช้ในการจัดการระบบวิจัยและนวัตกรรมของชาติ    คือต้องทำให้ระบบวิจัยและนวัตกรรมของชาติเป็นระบบที่เรียนรู้และปรับตัว     มีระบบ M&E ทำหน้าที่ feedback   ให้เห็นว่า การดำเนินการระบบวิจัยและนวัตกรรมของชาติดำเนินไปได้ผลตามที่กำหนดเป้าไว้หรือไม่   

ขอยกตัวอย่าง เรื่องงบประมาณลงทุนวิจัยของประเทศ  โดยเฉพาะส่วนของรัฐ    ที่ผ่านมาจะมีคนเอาตัวเลขไปยัดปากนายกรัฐมนตรีคนแล้วคนเล่าว่าจะเพิ่มงบประมาณให้เป็นร้อยละ ๑ ของ จีดีพี    แต่เวลาตั้งงบประมาณแผ่นดิน งบลงทุนวิจัยในปีถัดมากลับลดลง     ผมเห็นสภาพนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามากว่า ๒๐ ปี   

กลับไปที่ชื่อบันทึก “นโยบายปฏิรูปโครงสร้างวิจัยและนวัตกรรม”    ที่ต้องตีความให้ชัดว่า “โครงสร้าง” หมายถึงอะไร    หากหมายถึงกระทรวงเท่านั้น ผมว่าตีความผิด    ผลของการตีความผิดจะนำไปสู่ผลลัพธ์ของการวิจัยและนวัตกรรมที่อ่อนแออย่างเดิม    เพราะเราหลงไปปรับปรุงขยายกระทรวง    เหมือนอย่างกรณีการศึกษา  

หากจะไม่หลงทาง ต้องเน้นการสร้าง new platform ของการทำงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ    ที่เอางานนวัตกรรมเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาการวิจัยเป็นตัวตั้งอย่างที่ผ่านมา     ซึ่งหมายความว่าโจทย์วิจัยต้องมาจากการปรึกษาหารือกันอย่างจริงจังระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง    โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายผู้ประกอบการ ที่ต้องการเอาผลสร้างสรรค์นวัตกรรมไปใช้    ซึ่งหมายความว่า ฝ่ายผู้ประกอบการต้องเป็น active partner   ไม่ใช่ passive partner อย่างที่ผ่านมา

เป็น active partner หมายความว่า ต้องเข้าร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ร่วมกันตั้งเป้านั้นด้วย โดยร่วมทั้งลงแรงและลงเงิน   

new platform ของการทำงานวิจัยและนวัตกรรม หมายถึง พื้นที่ที่สะดวกต่อการที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มาทำงานสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน    เป็นพื้นที่ใหม่ ที่ภาคีออกมาจากพื้นที่ความเคยชินเดิมๆ ของตน (safety zone)   ออกมาร่วมกันกล้าเสี่ยงทำงานสร้างสรรค์ที่ไม่คุ้นเคย   

สำนักงานการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ต้องพัฒนาทักษะการจัดการ เพื่อสร้าง new platform    และ new culture ดังกล่าว    จึงจะได้ผล ปฏิรูปโครงสร้าง อย่างแท้จริง

วิจารณ์ พานิช        

๑๗ ส.ค. ๖๑


หมายเลขบันทึก: 654166เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2018 14:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2018 08:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท