ชีวิตที่พอเพียง 3272. เด็กที่สมองพัฒนาครบ



หนังสือ The Whole Brain Child : 12 Revolutionary Strategies to Nurture Your Child’s Developing Mind (2011)  เขียนโดย Daniel J. Siegel (ศาสตราจารย์คลินิกด้านจิตเวช, UCLA) และ Tina Payne Bryson  บอกว่าพ่อแม่ (และครูเด็กเล็ก) ต้องช่วยให้สมองของเด็กได้พัฒนาครบด้าน

นี่คือหนังสือระดับ New York Times Bestseller

เด็กที่สมองเติบโตครบส่วนจะมีโอกาสมีชีวิตที่ดี มีความสุข    แต่ธรรมชาติของสมองเด็กมีการเจริญเติบโตไม่พร้อมกัน    คือสมองซีกซ้ายพัฒนาช้ากว่าสมองซีกขวา

สมองซีกซ้ายทำหน้าที่ด้านภาษาและเหตุผล    ส่วนสมองซีกขวาทำหน้าที่รับรู้ภาพใหญ่ ไม่ใช่รายละเอียด   เน้นที่ภาพ ความรู้สึก และสัญญาณที่ไม่ใช่ถ้อยคำ    สมองซีกขวาที่พัฒนาเร็วกว่า จะทำหน้าที่เด่นจนเด็กอายุ ๓ ขวบ    การคาดหวังพฤติกรรมที่เป็นเหตุเป็นผลจากเด็กอายุต่ำกว่า ๓ ขวบ จึงขัดกับธรรมชาติของเด็ก   

อย่างไรก็ตาม เด็กควรได้รับการเลี้ยงดูที่ส่งเสริมให้ได้ฝึกใช้สมองทั้งสองด้าน     โดยเฉพาะเมื่ออายุสามขวบ สมองมีความพร้อมมากขึ้น    โดยเขาแนะนำ ๒ ยุทธศาสตร์คือ ยุทธศาสตร์ “เชื่อมต่อแล้วเบี่ยงเบน” (connect and redirect)    กับยุทธศาสตร์ “ตั้งชื่อเพื่อทำให้เชื่อง” (name it to tame it)  

เมื่อเด็กระเบิดอารมณ์  ผู้ใหญ่ต้องแสดงความสนใจ ความเห็นใจหรือเข้าใจ  ให้เด็กรับรู้ว่าผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ให้ความสนใจตนเอง (connect)   เพื่อทำให้สมองซีกขวาของเด็กสงบลง     แล้วหาทางเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กไปยังกิจกรรมที่ใช้สมองซีกซ้าย คือการใช้เหตุผล    ช่วยยืนยันความมีเหตุผลของเด็ก    เช่นหากเด็กกลัวมังกรในตู้เสื้อผ้า  ก็ร่วมกันเปิดตู้เพื่อพิสูจน์ว่า ในตู้ไม่มีมังกร   

หลักการคือ เหตุการณ์ระเบิดอารมณ์คือบทเรียนฝึกสมองเด็ก    เป็นประโยชน์ต่อเด็ก หากผู้ใหญ่รู้จักใช้มันเป็นบทเรียนฝึกเด็ก    ไม่มองเป็นปัญหา ที่สร้างความรำคาญต่อตนเอง   

ยุทธศาสตร์ “ตั้งชื่อเพื่อทำให้เชื่อง” ทำโดยเมื่อเหตุการณ์ระเบิดอารมณ์ของเด็กผ่านไปแล้ว  ให้เด็กเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น แล้วช่วยกันตั้งชื่อความรู้สึก หรืออารมณ์ ที่มากับเรื่องราวนั้น    มีหลักการทางจิตวิทยาบอกว่า    การตั้งชื่อเป็นการเชื่อมสมองซีกซ้ายส่วนทำหน้าที่ด้านภาษา เข้ากับสมองซีกขวาที่ทำหน้าที่ด้านความรู้สึกและอารมณ์     กระบวนการตั้งชื่อจะช่วยให้สมองทำงานน้อยลง     เป็นการทำให้สมองส่วนความรู้สึกและอารมณ์เชื่องลง    

นอกจากแยกสมองออกเป็นซีกซ้ายขวาแล้ว     ยังแยกออกได้เป็นการทำหน้าที่ระดับต่ำ (lower functions)  กับระดับสูง (higher functions)    ที่จริงการให้ชื่อ “หน้าที่ระดับต่ำ” อาจไม่ถูกต้องนัก    เพราะจริงๆ แล้ว เป็นหน้าที่เพื่อความมีชีวิตรอด เช่นการหายใจ  ปฏิกิริยาฉับพลัน (impulse)  ความโกรธ    สมองส่วนนี้ (amygdala) มนุษย์รับมรดกจากวิวัฒนาการมาจากสัตว์ชั้นต่ำ    ส่วนสมองส่วนทำหน้าที่ระดับสูง คือเปลือกสมองส่วนหน้า (cerebral cortex) มีเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น     สมองส่วนนี้ทำหน้าที่ควบคุมไม่ให้เกิดปฏิกิริยาฉับพลัน  ความคิด  การวางแผน  และ ความเข้าใจตนเอง   

ในสมองที่ไม่ได้รับการฝึกที่ดี amygdala จะปล่อยสัญญาณออกมาควบคุมสมองส่วนอื่น    ทำให้พฤติกรรมออกมาในลักษณะที่เป็นไปตามสัญชาตญาณของสัตว์    สมองของคนแบบนี้จะเต็มไปด้วยฮอร์โมนความเครียด    ทำให้มีพฤติกรรม “ทำก่อนคิด”   

เขาแนะนำ ๓ วิธีการ สำหรับเชื่อมโยงสมองส่วนต่างๆ    

  • ถามเด็กว่าเกิดอะไรขึ้น   อะไรคือตัวการที่ทำให้เขามีพฤติกรรมนั้น   แล้วถามต่อว่า มีทางแก้ไขอย่างไร    เป็นการเชื่อมโยงกับสมองส่วนทำหน้าที่ระดับสูง    แทนที่จะลงโทษ ซึ่งเท่ากับเป็นการเชื่อมโยงกับสมองระดับต่ำ
  • ส่งเสริมให้เด็กใช้สมองส่วนทำหน้าที่ระดับสูงให้มาก   และเปิดโอกาสให้เด็กตัดสินใจเอง    แล้วตั้งคำถามว่า ทำไมเด็กจึงทำอย่างที่ทำ     เป็นแบบฝึกหัดให้เด็กได้เชื่อมโยงเหตุผลกับความรู้สึก
  • ผ่อนคลายสมองส่วนอารมณ์ด้วยการออกกำลังกาย      

ข้อความข้างบนเป็นแนวทางเชื่อมต่อสมองส่วนต่างๆ ทั้ง ซ้าย-ขวา  บน-ล่าง  เพื่อดุลยภาพในการทำหน้าที่ของสมอง     ต่อไปนี้จะเป็นการช่วยการฝึกฝนความจำ    เพื่อช่วยให้เด็กมีความทรงจำดีๆ จารึกไว้ในสมอง    ในระดับจิตใต้สำนึก (implicit memory) ที่เป็นตัวกำกับพฤติกรรมแบบที่ไม่รู้สึกตัว   

ที่พบบ่อยคือ เด็กบางคนมีความทรงจำเชิงลบจารึกอยู่ในสมอง     ก่อผลร้ายต่อชีวิต เช่นกลัวบางสถานที่    ตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งตอนเป็นเด็กเล็กเคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล    และถูกเจาะตรวจสร้างความจำฝังใจต่อความเจ็บปวดที่ได้รับ    เมื่อไปโรงเรียนไม่กล้าเข้าห้องน้ำของโรงเรียน    เพราะกลิ่นน้ำยาดับกลิ่น  และลวดลายกระเบื้องห้องน้ำเตือนความจำถึงโรงพยาบาล   

เขาแนะนำวิธีการลบความจำด้านลบรุนแรงสองวิธี   (๑) ชวนคุยสู่ตอนจบของเรื่องราว ที่เป็น happy ending   (๒) ชวนคุยเรื่องนั้นลงรายละเอียด   ด้วยการตั้งคำถามที่ช่วยให้เด็กทบทวนเรื่องราวโดยละเอียด

คนเราจะพัฒนาครบถ้วนเมื่อเข้าใจตนเอง และเข้าใจตนเองครบด้านของความซับซ้อน    เช่นเข้าใจทั้งความฝัน  ความคิด  และความรู้สึก  

เด็กก็เช่นเดียวกัน พัฒนาการที่สำคัญคือความเข้าใจจิตใจของตนเอง    บางครั้งเด็กหมกมุ่นอยู่กับเป้าหมายบางเรื่อง (เช่นอยากเป็นนักดนตรีที่เก่ง)  จนลืมนึกถึงพัฒนาการด้านอื่นๆ ของตนเอง    สภาพเช่นนี้ เซลล์สมองจะส่งกระแสเชื่อมต่อใยประสาทซ้ำๆ ไปยังเรื่องที่หมกมุ่น    ไม่มีการเชื่อมต่อไปยังส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ    ทำให้สมองเติบโตไม่ครบส่วน    ข้อจำกัดนี้แก้ได้โดยช่วยให้เด็กมีความตระหนักในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับตนเอง และรู้ว่าเมื่อไรจะโฟกัสจิตใจไปที่เรื่องใด ที่เรียกว่า mindsight    โดยมี ๓ เทคนิคเพื่อการฝึกฝน

  • บอกเด็กว่าอารมณ์เป็นสิ่งชั่วคราว   มาแล้วก็ไป   มักอยู่กับตัวเราไม่เกิน ๙๐ วินาที   อย่าไปกังวลกับมันมากนัก
  • สอนเด็กให้เข้าใจ SIFT ของตนเอง    S = bodily Sensation, I = Images, F = Feelings, T = Thoughts    ผมตีความว่า เป็นการฝึกเด็กให้เข้าใจความรู้สึกและความคิดของตนเอง    หรือเป็นการทำความเข้าใจด้านในของตนเอง
  • บอกเด็กให้ฝึก mindsight ของตนเอง    เพื่อให้สามารถมีสติพุ่งความสนใจไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งได้     ผมตีความว่า นี่คือเรื่องสติ และสมาธินั่นเอง  

ประเด็นต่อไปคือ การฝึกสมองเด็ก ให้เชื่อมต่อกับสมองของคนอื่นเป็น   เพราะสมองเป็นอวัยวะที่มีธรรมชาติเป็น “social organ” หรือ “อวัยวะทางสังคม”   เพราะในสมองของคนเรามี mirror neurons ทำหน้าที่เชื่อมต่อกับพฤติกรรมของคนอื่น    และสมองจะพัฒนาได้ดีต่อเมื่อได้เชื่อมต่อกับสมองของคนอื่น    นั่นคือเด็กต้องได้เล่นกับเพื่อน    และพ่อแม่ (และครูเด็กเล็ก) ต้องเล่นกับเด็กเป็น    เขาใช้คำว่า playful parenting  

เด็กเล่นกัน ย่อมมีการทะเลาะกัน   พ่อแม่ต้องแสดงท่าทีว่าตนรับรู้ความรู้สึกของลูก  และชวนให้ลูกทำความเข้าใจเรื่องนั้นจากมุมของเพื่อนคู่ขัดแย้ง    รวมทั้งสอนให้ลูกรู้จักสังเกตการสื่อสารส่วนที่ไม่ใช่คำพูด    เพื่อลดความเข้าใจผิดต่อคำพูดที่ทำให้ขัดแย้งกัน  

ผมตีความว่า บ่อเกิดของพัฒนาการเด็กที่สำคัญที่สุด มาจากปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์    ข้อความในสองย่อหน้าบน เป็นการทำความเข้าใจจากมุมของสมอง

เขาแนะนำให้เล่นเกม “เธอจะทำอย่างไร” กับเด็ก เพื่อฝึกสมองส่วนรอบคอบ (higher brain)   โดยสมมติสถานการณ์ว่า คุณลุงให้เงิน ๕๐๐ บาท   และตนต้องการเอาไปซื้อของเล่นชิ้นใหม่    แต่คุณลุงมีเงื่อนไขว่าเงินนั้นต้องแบ่งกับน้อง   

และเขาแนะนำให้พัฒนา “ความจำด้านบวก” (positive memories) แก่เด็ก    โดยที่ความจำเป็นการเชื่อมโยงประสบการณ์ปัจจุบัน กับประสบการณ์ในอดีต    จึงต้องสร้างประสบการณ์ด้านบวกแก่ลูกให้มาก                   

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ส.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 654165เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2018 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2018 08:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท