วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) : 17. วิธีจัดการระบบนวัตกรรมของประเทศ



ตอนที่ ๑        ตอนที่ ๒         ตอนที่ ๓        ตอนที่ ๔         ตอนที่ ๕ 

ตอนที่๖         ตอนที่ ๗       ตอนที่ ๘        ตอนที่  ๙        ตอนที่ ๑๐   

ตอนที่ ๑๑       ตอนที่ ๑๒       ตอนที่ ๑๓       ตอนที่ ๑๔       ตอนที่ ๑๕ 

ตอนที่ ๑๖

ช่วงที่เขียนบันทึกนี้ ร่าง พรบ. กระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ได้ผ่านความเห็นชอบของ ครม. ไปแล้ว ()

ผมตีความว่า นี่คือรูปธรรมของการวาง platform การพัฒนาประเทศสู่สังคมรายได้สูง และมีสันติสุข ผ่านกลไกหลัก ๓ ประการคือ Innovation, Integration และ Value Creation  

หมายความว่า จะต้องมีการสร้าง Innovation Platform ให้แก่ประเทศ    เวลานี้ประเทศไทยยังไม่มี Innovation Platform ระดับประเทศ   ซึ่งหมายความว่า นวัตกรรม จะต้องเป็นฐานการทำงานหลักของทุกกระทรวง กรม และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม และเอกชน   นวัตกรรมต้องเป็นลมหายใจของคนไทย  

เมื่อตั้งกระทรวง “อุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม”    ก็มีความเสี่ยงที่เรื่องนวัตกรรมจะถูกตีกรอบอยู่ในกระทรวงเดียว    ทำให้อุดมการณ์ขับเคลื่อนความอยู่ดีกินดีของประเทศด้วยนวัตกรรมไม่มีพลัง     

ผมจึงขอเสนอว่า  ควรมีการสร้าง National Innovation Platform ของประเทศขึ้นมา เป็น virtual platform    ในนั้นให้มี สถาบันวิจัยระบบนวัตกรรม ขึ้นมาทำหน้าที่สร้างความรู้และสื่อสารความรู้ว่าด้วยระบบนวัตกรรม และ innovation platform ของประเทศ    โดยศึกษาเปรียบเทียบกับในต่างประเทศที่เขาจัดการระบบนวัตกรรมเก่ง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และอียู เป็นต้น    สถาบันนี้ควรมีอิสระทางวิชาการ    แต่ก็ต้องรับผิดชอบต่อนโยบาย และป้าหมายระยะยาวของประเทศ

ส่วนหนึ่งของระบบนวัตกรรม คือระบบงบประมาณของประเทศ    ควรมีการวิจัยว่า ระบบงบประมาณที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ส่งเสริมหรือเป็นข้อจำกัดของการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยนวัตกรรมเพียงไร    

โจทย์วิจัยระบบนวัตกรรมของประเทศ ที่สำคัญอีกโจทย์หนึ่งคือระบบอุดมศึกษา     อุดมศึกษาในสภาพปัจจุบันเอื้อและเป็นอุปสรรคต่อการทำงานนวัตกรรมด้านต่างๆ ของประเทศอย่างไรบ้าง     หากต้องการให้อุดมศึกษาเป็นพลังขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศ จะต้องมี transformation ของระบบอุดมศึกษาอย่างไรบ้าง   

โจทย์ทำนองเดียวกัน ควรทำกับระบบการศึกษาภาคบังคับ    และระบบการสร้างครู    

โจทย์วิจัยระบบนวัตกรรมในระดับปฏิบัติการ มีมากมาย เกี่ยวข้องกับงานของทุกกระทรวง     ไม้เว้นแม้แต่กองทัพ

Innovation Platform ของประเทศ ต้องมียุทธศาสตร์อันชาญฉลาดในการใช้พลังปัญญาจากนอกประเทศด้วย    ควรมีการวิจัยว่ามีอุปสรรคเชิงกฎหมาย และข้อบังคับอะไรบ้าง ที่ทำให้เราไม่สะดวกในการใช้ external talent เข้ามาร่วมสร้างนวัตกรรมล้ำหน้าให้แก่ประเทศ    

คิดย้อนหลังไปกว่า ๒๕ ปี เมื่อผมเริ่มทำงานให้ สกว.    เราตระหนักว่า ประเทศไทยไม่มีทักษะในการจัดการงานวิจัย และได้สร้างทักษะนั้นขึ้นใน สกว.  จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป   บัดนี้เวลาผ่านมาเสี้ยวศตวรรษ ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องสร้างทักษะด้านการจัดการนวัตกรรม สำหรับทำประโยชน์แก่ประเทศ  ให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง สังคมดี   

วิจารณ์ พานิช        

๑๑ ก.ค. ๖๑


หมายเลขบันทึก: 649392เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2018 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 สิงหาคม 2018 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กราบขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท