๒๖. โครงการพระราชดำริ.ที่.เขาชะงุ้ม


“ความประทับใจที่ผมมีต่อในหลวง รัชกาลที่ ๙ ก็คือ การที่ท่านทรงงานอย่างหนัก และดูแลประชาชน ทำให้พสกนิกรชาวไทยเรียกท่านว่า “พ่อ” แทนคำว่า “พระราชา”

             ผมพลิกดูภาพพระราชกรณียกิจของ “พ่อหลวง” รัชกาลที่ ๙ ทุกครั้ง..ก่อนเดินทางไป..เยี่ยมชมโครงการพระราชดำริในเขตภาคกลาง ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะเยี่ยมชมเพื่อศึกษาเรียนรู้ให้ได้ อย่างน้อยปีละ ๒ – ๓ โครงการฯ

            ภาพพระราชกรณียกิจของพ่อ..สร้างพลังใจในการเดินทาง พระอัจฉริยภาพของพ่อ..ยิ่งเพิ่มศรัทธาที่จะเดินตามรอยพ่อ..ทำตาม “คำพ่อสอน” ด้วยการเรียนรู้จากการทรงงาน..ในโครงการพระราชดำริ..

            ผมอ่าน..ข้อความใต้ภาพ “พ่อหลวง” ทุกถ้อยคำนำมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ ประมวลไว้ให้ลูกหลานดู..เป็นความจริงที่อมตะที่สุด.. 

            “.. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช.. พระราชาที่ครองราชย์มานานถึง 70 ปี ผู้ที่ช่วยปลดปล่อยประชาชนจากความยากไร้ยากจน ผู้ที่ช่วยทำให้แผ่นดินของเราน่าอยู่ ผู้ที่ทรงงานอย่างหนักเพื่อความสุขของราษฎร”  

            “ ถึงแม้วันนี้ ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมตรงที่เราไม่มีท่านอยู่เคียงข้างแล้ว แต่ความประทับใจและความรักที่มีต่อท่านจะไม่มีวันจางหาย…”

              “ความประทับใจที่ผมมีต่อในหลวง รัชกาลที่ ๙ ก็คือ การที่ท่านทรงงานอย่างหนัก และดูแลประชาชน ทำให้พสกนิกรชาวไทยเรียกท่านว่า “พ่อ” แทนคำว่า “พระราชา”

              "หากจดจำภาพของพระราชาในนิทานหรือละคร ท่านคือเจ้าของแผ่นดินที่อยู่กินอย่างหรูหรา และใช้ชีวิตสบาย แต่สำหรับภาพของในหลวงของชาวไทยนั้น ช่างห่างไกลกับภาพเหล่านั้น ตั้งแต่ผมจำความได้ ผมได้เห็นรูปภาพตามฝาผนังของที่บ้าน เป็นรูปในหลวงออกทรงงานตามชนบทพร้อมกับกล้องถ่ายรูปตัวหนึ่ง โดยที่ไม่ได้สวมชุดหรูหราอย่างที่ผมคิดเอาไว้.."

               "..จากคำบอกเล่าของคุณแม่ ผมจึงทราบว่าท่านทรงงานอย่างหนักเพื่อที่จะพัฒนาประเทศไทยให้ดีขึ้น โดยผลิตโครงการต่างๆ อาทิ เช่น โครงการฝนหลวง โครงการแก้มลิง และอื่นๆ ทั้งๆที่ท่านไม่จำเป็นต้องลงมือทำเองทุกอย่าง.."

               แล้ว“พ่อหลวง” ทรงทำอะไร?อย่างไร? ที่เขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี..ตามผมมาสิครับ..ผมจะเล่าให้ฟัง เพราะผมไปมาแล้ว..ประทับใจมากมาย

              โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี   เดิมพื้นที่โครงการเป็นฟาร์มปศุสัตว์และปลูกพืชไร่  มีการใช้ดินอย่างผิดวิธี  ทำให้หน้าดินเสียหาย  ดินขาดความอุดมสมบูรณ์เกิดความแห้งแล้งไม่สามารถปลูกพืชได้  หรือปลูกได้แต่ผลผลิตลดลงมาก  พื้นที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง  บางส่วนมีการขุดลูกรังไปขาย  ดินสวนใหญ่เป็นดินตื้น  เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทรายและปนกรวด  มีชั้นดานแข็งอยู่ข้างล่างลึกประมาณ 40 เซนติเมตร จากผิวดินบน

             พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ ครั้งแรก  เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2529  ได้มีพระราชดำริ “ให้ดำเนินการศึกษาวิธีการปรับปรุงดินเสื่อมโทรม  ให้สามารถใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกได้  โดยการทดสอบวางแผน และจัดระบบปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในลักษณะศูนย์ศึกษาการพัฒนาขนาดย่อม”

            โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สมคำร่ำลือจริงๆ ได้ทั้งความรู้ และเพลิดเพลิน พื้นที่กว่า 849 ไร่  เป็นแหล่งศึกษาดูงานของนักศึกษาและประชาชนทั่วไป 

            เราจะได้ชมพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานพระราชดำริในการปรับปรุงที่ดินเสื่อมโทรมแห่งนี้ จนมีสภาพที่อุดมสมบูรณ์ขึ้นกว่าในอดีตมาก หนึ่งในพระราชดำริแนะนำว่า “ให้ช่วยดูแลรักษาป่า  อย่าไปรังแกป่า ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่ให้ใครรบกวนป่า ระยะเวลา 30-40 ปี ป่าแห่งนี้จะคืนสภาพจากเต็งรังเป็นป่าเบญจพรรณ”

            ภายในโครงการเราสามารถเข้าชมภายในโดยสะดวก เหมือนสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ภายในมีไร่แปลงสาธิต ฐานการเรียนรู้ต่างๆ มีต้นไม้ชื่อแปลกๆ                  

             ที่สำคัญคือ พลับพลาที่ประทับซึ่งเตรียมไว้เพื่อรับเสด็จในหลวงตั้งอยู่ด้านหน้าเขาเขียวบริเวณอ่างเก็บน้ำภูมิทัศน์สวยงามเหมาะแก่การพักผ่อนและถ่ายรูป   และกิจกรรมที่อยากแนะนำก็คือ เส้นทางศึกษาธรรมชาติบนป่าเขาเขียว ระยะทาง 1,170 เมตร ในเส้นทางจะได้สัมผัสกับป่าเต็งและป่าเบญพรรณ..

                 นี่คือความสุขสงบ..ที่อยู่ไม่ไกลกรุงเทพฯของผม..คือการเที่ยวชมโครงการพระราชดำริ..และทุกครั้งที่ไปจะ "คิดถึงพ่อ" มีแรงบันดาลใจ ที่จะสานต่องานที่พ่อทำ..และทำอย่าง "พอเพียง"

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๖  สิงหาคม  ๒๕๖๑

 

 

             

           

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 649388เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2018 21:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 สิงหาคม 2018 21:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท